กาง ข้อกําหนดคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น

จากกรณี ราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๕ ได้เผยแพร่ “ข้อกําหนดคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น(ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๖๕” โดยแก้ไขเพิ่มเติมข้อกําหนดคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๖ เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมายในปัจจุบัน

ได้ก่อแรงกระเพื่อมไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับตั้งแต่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด, เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล รวมถึงเขตปกครองพิเศษ กรุงเทพมหานครและ เมืองพัทยา เนื่องจากร่างแก้ไขเพิ่มเติมที่กำลังเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ยังมีประเด็นที่องค์กรปกครองท้องถิ่นทั่วประเทศเห็นว่าไม่เป็นธรรม สมควรจะให้ยกเลิกหรือปรับปรุงให้สอดคล้องกับการกระจายอำนาจ

สำหรับความเคลื่อนของขององค์กรท้องถิ่นใน จ.เพชรบุรี เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ชมรมองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)จังหวัดเพชรบุรี โดย .ต.ต.กนกศักดิ์ มุทธากาญจน์ ประธานชมรมฯ(ฝ่ายบริหาร) นายอรรถสูตร สุขไตรรัตน์ ประธานชมรมฯ (ฝ่ายสภา) ได้ร่วมกับ นายธีรศักดิ์พานิชวิทย์ เลขาธิการสมาคม อบต.แห่งประเทศไทย เชิญนายก อบต. และประธานสภา อบต.ใน จ.เพชรบุรี ทั้ง ๖๙ แห่งเข้าร่วมประชุมเพื่อถกถึงประเด็นปัญหาของร่างแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยมี
นายสาธิต อุ๋ยตระกูล ส.ส.เพชรบุรี เขต ๒ พรรคพลังประชารัฐ และ นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ที่ปรึกษา รมว.กระทรวงแรงงาน เข้าร่วมรับฟัง ณ ห้องประชุม อบต.บ้านหม้อ อ.เมือง จ.เพชรบุรีซึ่งที่ประชุมมีมติคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว โดยเฉพาะประเด็นจำนวนผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง อบต.จำนวนแค่ ๑๐ % ก็สามารถเข้าชื่อกันเพื่อเสนอให้พิจารณาถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นได้

นายธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ อดีตนายก อบต.บ้านหม้อ อดีตประธานชมรม อบต.จังหวัดเพชรบุรี ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นเลขาธิการสมาคม อบต.แห่งประเทศไทย กล่าวแสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า…

“ร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2565 ขณะนี้อยู่ในชั้นกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.กระทรวงมหาดไทย เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ สาระหลักของร่างดังกล่าวมีผลกระทบต่อสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น ใน ๓ มิติ คือ :

มิติที่ ๑ ร่างฉบับนี้ให้อำนาจแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้กำกับดูแลตาม พ.ร.บ.นี้ในการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีที่มีประชาชนลงชื่อเข้าร้องเรียนเพื่อถอดถอน สิ่งที่เราในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งประกอบด้วย ๓ สมาคมส่วนกลาง คือ สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)แห่งประเทศไทย, สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และ สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)แห่งประเทศไทย ได้ยื่นหนังสือเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ในประเด็นที่ถูกควบคุมอำนาจที่เคยเป็นอิสระเดิมของผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นเพราะ พ.ร.บ.นี้ให้อำนาจผู้กำกับดูแลสามารถถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นได้ หลังจากตรวจสอบแล้วมีข้อเท็จจริงตามที่ผู้ร้องกล่าวหา ซึ่งมองว่าการใช้อำนาจในลักษณะนี้เป็นการครอบการกระจายอำนาจ ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการกระจายอำนาจตามรัฐธรรมนูญ

มิติที่ ๒ ร่างฉบับนี้มีจุดอ่อน คือผู้มีอำนาจในการเข้าชื่อขอถอดถอนซึ่งหมายถึงประชาชนที่ใช้สิทธิ์ลงคะแนนในเขตเลือกตั้งนั้น ๆ ทั้งเขตตำบล เขตเทศบาล เขตจังหวัด รวมถึงเขตเลือกตั้งของสมาชิกสภาท้องถิ่นคือเขตหมู่บ้าน โดยกำหนดให้ประชาชนไม่น้อยกว่าร้อยละ ๑๐ % ของจำนวนผู้มาลงคะแนนเลือกตั้งในครั้งนั้น ๆ มีสิทธิ์เข้าชื่อเพื่อยื่นขอให้พิจารณาถอดถอนผู้ได้รับการเลือกตั้งได้ เช่น นาย ก. ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภา อบต. สมมติว่าได้ ๓๐๐ คะแนนจากจำนวนผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งในหมู่บ้าน คนที่ลงคะแนนเลือกตั้งในหมู่บ้านนั้นเพียงจำนวนแค่ ๓๐ คนจาก ๓๐๐ คน ก็สามารถเข้าชื่อเพื่อขอให้พิจารณาถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นได้

สมมติว่าถ้านายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัดเคยมีประเด็นความไม่ลงรอยกับผู้สมัครที่ได้รับเลือกคนดังกล่าว ก็อาจจะเกิดการกลั่นแกล้งกันได้ง่าย ร่างฯนี้เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงการถอดถอนที่ง่ายเกินไปเมื่อเทียบกับสัดส่วนคะแนนที่ได้มาตอนได้รับการเลือกตั้ง

ที่หนักไปกว่านั้นคือถ้าเป็นองค์กรใหญ่ เช่น อบจ. หรือ กรุงเทพมหานคร สมมติว่ามีคนไปใช้สิทธิ์ลงคะแนน ๑ แสนคน แต่ร่างนี้กำหนดให้คนเพียง ๕ พันคนก็สามารถไปเข้าชื่อเพื่อให้พิจารณาถอดถอนผู้ได้รับการเลือกตั้งได้ ยกตัวอย่าง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้รับเลือกจากคนกทม.กว่า ๑.๓ ล้านคนให้เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ถ้า พ.ร.บ.นี้บังคับใช้ คนเพียง ๕ พันคนก็สามารถไปเข้าชื่อเพื่อขอให้พิจารณาถอดถอนนายชัชชาติได้

เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จึงเป็นประเด็นให้คู่ต่อสู้ในสนามเลือกตั้งใช้กลไกนี้ให้เป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานหรือการบริการประชาชนของผู้ได้รับการเลือกตั้ง

มิติที่ ๓ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เชื่อมโยงอยู่กับ พ.ร.บ.จริยธรรมทางการเมืองด้วย เพราะไม่ได้พูดถึงความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ได้รับเลือกตั้งอย่างเดียว แต่โยงไปถึงจริยธรรมขั้นพื้นฐานของความเป็นตัวแทนประชาชน เช่น กล่าวหาว่ามีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เมาสุรา ชู้สาวกลายเป็นว่าเปิดโอกาสให้คู่แข่งขันในสนามเลือกตั้งเข้าถึงโอกาสกล่าวหาร้องเรียนได้ง่ายเกินไป

ความจริงการเข้าชื่อร้องเรียนควรจะกำหนดให้ผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งในครั้งนั้น ๆ ไม่ต่ำกว่า ๕๐ % หรือ ๖๐ % ขึ้นไปเข้าชื่อร้องเรียนได้ จึงจะเป็นธรรม ไม่เช่นนั้นการกลั่นแกล้งในสนามเลือกตั้งก็จะเกิดขึ้นได้โดยง่าย

มีคำถามว่าเหตุใดจึงมีร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้นมา ก็เนื่องจากราชการส่วนกลางคือ “กระทรวงมหาดไทย” ในฐานะที่กำกับดูแลท้องถิ่นมีปัญหากับการสั่งการให้องค์กรท้องถิ่นปฏิบัติหรือดำเนินกิจกรรมในเรื่องของการบริการประชาชนให้เป็นไปตามนโยบายของส่วนกลาง แต่ที่ผ่านมาคงจะสั่งไม่ได้ เพราะบริบทไม่ตรงกัน สมมติว่ามหาดไทยบอกว่าทุกตำบลจะต้องจัดบริการให้แก่ผู้สูงอายุในพื้นที่ แต่บริบทในเรื่องนี้ของแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน แต่มหาดไทยออกแบบมาให้ปฏิบัติเหมือนกัน ก็ทำเกิดปัญหาในทางปฏิบัติ เมื่อไม่สนองก็กล่าวหาว่าสั่งการท้องถิ่นไม่ได้

หรือสมมติว่า มีผู้ว่าราชการจังหวัดท่านหนึ่งของบสนับสนุนจากองค์กรท้องถิ่น แต่องค์กรท้องถิ่นพิจารณาแล้วเห็นว่าเรื่องที่ขอมาไม่เป็นประโยชน์ ควรเอาเงินไว้บริการประชาชนในพื้นที่ตามความจำเป็นจะดีกว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดท่านนั้นก็ไม่สามารถหางบประมาณมาสนองสิ่งที่ต้องการได้ แต่ถ้ามี พ.ร.บ.นี้ออกมา ก็ยังสามารถงัดเอา พ.ร.บ.ออกมาขู่หรือกลั่นแกล้งได้

เพราะฉะนั้น ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขดังกล่าวที่เกิดขึ้น ก็เพื่อต้องการให้ผู้บริหารท้องถิ่นอยู่ในกรอบหรือเป็นเครื่องมือให้กับส่วนกลาง

ขณะนี้ผมได้มีโอกาสเข้าไปทำหน้าที่เลขาธิการสมาคม อบต.แห่งประเทศไทย ได้ยื่นหนังสือไปยังวิปฝ่ายรัฐบาลและวิปฝ่ายค้าน รวมถึงประธานคณะกรรมาธิการฯเพื่อขอให้แก้ไขเพิ่มเติมสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.นี้ และมอบหมายให้ .ดร.โกวิทย์ พวงงาม ส.ส.พรรคพลังท้องถิ่นไทยื่นแปรญัตติเป็นรายมาตราไว้ เพื่อให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้หากจะต้องออกมาบังคับใช้ ก็ขอให้ออกมาในแบบให้ความสำคัญกับเสียงส่วนมาก มากกว่าที่กำหนด ๑๐ % หรือ ๕ พันคน

ความจริงวันนี้กลไกควบคุมท้องถิ่นมีเยอะมากอยู่แล้ว เช่น สตง., ป.ป.ช., ศูนย์ดำรงธรรม ที่รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน สามารถร้องเรียนหรือฟ้ององค์กรท้องถิ่นได้โดยตรง แต่ทำไมให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก

สมาคม อบต.แห่งประเทศไทย ขณะนี้มีนโยบายให้ทุกจังหวัดชี้แจงกับสมาชิกในพื้นที่พร้อมยื่นข้อเสนอคัดค้านผ่าน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในจังหวัด หลังจากนั้นก็อาจจะมีการรวมตัวกันเป็นสเต็ปที่ ๒ เพื่อไปแสดงพลังในทางการเมือง ชุมนุมเรียกร้องขอให้ทบทวนเรื่องนี้

พวกเรามองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องของการทำลายการกระจายอำนาจของภาครัฐ เราเรียกร้องเรื่องจำนวนผู้เข้าชื่อ ขอให้มากกว่าที่คณะกรรมาธิการกำหนด และเรื่องผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถใช้อำนาจถึงที่สุด ก็ขอให้ออกมาในรูปแบบการพิจารณาของคณะกรรมการซึ่งเป็นตัวแทนของคนในพื้นที่ เช่น อัยการ, ผู้แทนหน่วยราชการที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบ, กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านหรือตัวแทนจากภาคประชาชนในพื้นที่ ไม่ใช่ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจชี้ขาดแต่เพียงผู้เดียว

พรรคการเมืองที่เห็นด้วยว่าต้องแก้ไขร่าง พ.ร.บ.นี้คือ พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทยพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ โดยมองว่าเรื่องนี้เป็นการทำลายกลไกการกระจายอำนาจ ขึ้นอยู่กับว่าจะไปปรับต้นร่างของ พ.ร.บ.นี้อย่างไร คงต้องคอยดูกันต่อไปครับ…”

error: ขอสงวนสิทธิ์ ในการคัดลอกบทความ !!