การกำหนดให้มีการใช้บัตรเลือกตั้ง ๒ ใบหรือใบเดียว เกี่ยวกับสูตรคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่ออย่างไร ?

เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ที่ประชุมรัฐสภาได้พิจารณา ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ในวาระ ๒ – ๓ ภายหลังคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายลูกทั้งสองฉบับพิจารณาเสร็จแล้วเป็นวันที่ ๒ ก่อนที่สมาชิกรัฐสภามีมติพลิกโหวตสูตรคำนวณ
ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) โดยเห็นชอบกับสูตรหารด้วย ๕๐๐
ตามข้อเสนอของนพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ และกรรมาธิการข้างน้อยด้วยคะแนนเสียง ๓๕๔ ต่อ ๑๖๒ งดออกเสียง ๓๗ ไม่ลงคะแนน ๔

นายจรูญ ศรีสุขใส อดีตผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(ผอ.กต.) ประจำจังหวัดเพชรบุรี ปัจจุบันได้รับเลือกให้เป็น ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดเพชรบุรี ให้เกียรติตอบคำสัมภาษณ์ “เพชรภูมิ” ถึงกระบวนการคำนวณสูตรการได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อสูตรหาร ๑๐๐ และหาร ๕๐๐

การกำหนดให้มีการใช้บัตรเลือกตั้ง ๒ ใบหรือใบเดียว เกี่ยวกับสูตรคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่ออย่างไร ?

เดิมรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ กำหนดให้ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว และใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวเมื่อการเลือกตั้งเมื่อปี ๒๕๖๒ ไม่ว่าจะเลือกพรรคหรือเลือก ส.ส.แบบแบ่งเขต ต้องตัดสินใจเลือกทั้งคนทั้งพรรคที่มีอยู่ในหมายเลขเดียว เช่น นาย ก.สังกัดพรรครวมไทยแลนด์ ลงสมัครส.ส.เขต ๑ ส่วนนาย ข.สังกัดพรรคพลังเกษตรกร ลงสมัครในเขตเดียวกัน เราในฐานะเป็นผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนในพื้นที่เขต ๑ ชอบนาย ก.มาก แต่ไม่ชอบพรรครวมไทยแลนด์ที่นาย ก.สังกัด  ชอบพรรคพลังเกษตรกรมากกว่า แต่ก็ไม่สามารถจะเลือกคนและพรรคที่เราชอบได้ ต้องตัดสินใจเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งเพราะใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว จะแยกเลือกไม่ได้ 

ผิดกับรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ ที่เป็นระบบบัตรเลือกตั้ง ๒ ใบ บัตรใบหนึ่งเลือกบุคคลที่เรารัก บัตรอีกใบเลือกพรรคการเมืองที่เราชอบ รัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ แม้จะมีข้อดีแต่ก็มีข้อด้อย สมมติว่าประชาชนทั้งประเทศลงคะแนนเลือกพรรค ก. ได้คะแนนรวม ๔๐ %แต่พรรค ก. กลับได้จำนวน ส.ส.มากถึง ๖๐ % ทำให้ไม่สอดคล้องกัน จึงนำไปสู่การแก้ไขในการร่างรัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐

เมื่อมีการแก้ไข พรป.ประกอบรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งในปี ๒๕๖๔ พรรคการเมืองใหญ่บางพรรคต้องการให้มีการใช้บัตรเลือกตั้ง ๒ ใบแบบปี ๒๕๔๐ ในมาตรา ๙๑ ของรัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ บัญญัติว่า : –

การคำนวณหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(๑) นำคะแนนรวมทั้งประเทศที่พรรคการเมืองทุกพรรคที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือก ตั้งหารด้วย ๕๐๐ อันเป็นจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร

(๒) นำผลลัพธ์ตาม (๑) ไปหารจำนวนคะแนนรวมทั้งประเทศของพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่ได้รับจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทุกเขตจำนวนที่ได้รับให้ถือเป็นจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้

(๓) นำจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองจะพึงมีได้ตาม (๒) ลบด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้งหมดที่พรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้ง ผลลัพธ์คือจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับ

(๔) ถ้าพรรคการเมืองใดมีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเท่ากับหรือสูงกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม


(๒) ให้พรรคการเมืองนั้นมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามจำนวนที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและไม่มีสิทธิได้รับการจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และให้นำจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งต่ำกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (๒) ตามอัตราส่วน แต่ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าวมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินจำนวนที่จะพึงมีได้ตาม (๒)

(๕) เมื่อได้จำนวนผู้ได้รับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองแล้วให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น เป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ในกรณีที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดตายภายหลังวันปิดรับสมัครรับเลือกตั้งแต่ก่อนเวลาปิดการลงคะแนนในวันเลือกตั้ง ให้นำคะแนนที่มีผู้ลงคะแนนให้มาคำนวณตาม (๑) และ (๒) ด้วย

: มีข้อสังเกตอย่างไรกรณีหาร ๑๐ และหาร ๕๐๐ ?

จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ๑๐๐ คนหรือที่เรียกว่าหาร ๑๐๐ การคิดคำนวณจะต้องใช้วิธีคิดคำนวณแบบรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขในปี ๒๕๖๔ ตามมาตรา ๙๑ เหมือนหลักการตามรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคได้รับจะต้องมีส่วนสัมพันธ์โดยตรงกับจำนวนคะแนนที่พรรคนั้นได้รับ ซึ่งเป็นประโยคสำคัญในรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไข หมายความว่าจำนวน ส.ส.ที่พรรคนั้นได้รับ จะต้องสัมพันธ์กับคะแนนที่พรรคนั้นได้รับนั่นเอง

ทีนี้วิธีคิดคำนวณจะคิดกันยังไง ก็ต้องไปกำหนดในกฎหมายลูกที่มีมติผ่านไปเมื่อวันก่อนที่เป็นประเด็นว่าจะเอา ๑๐๐ หาร หรือจะเอา ๕๐๐ หาร การที่คณะกรรมาธิการที่ยกร่างมาตรานี้ขึ้นมาเขามีความเห็นว่าเอา ๑๐๐ หาร คือจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเอาไปหารจำนวนคะแนนที่ลงให้แก่บัญชีรายชื่อของทุกพรรคทั้งประเทศรวมกัน แล้วหารด้วย ๑๐๐ เป็นหลักการเดียวกับรัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐ และปี ๒๕๖๐ แต่พอเข้าวาระที่ ๒ และวาระที่ ๓ ที่มีการแปรญัตติแก้ไข สมาชิกรัฐสภาได้ได้กลับหลักการให้เอาแบบหาร ๕๐๐ 

หาร ๕๐๐ มาจากจำนวนคะแนนของ ส.ส.ทั้งแบบบัญชีรายชื่อและ ส.ส.แบบเขตเลือกตั้งรวมกันแล้วเอา ๕๐๐ หาร ดังนั้นจำนวน ส.ส.ของพรรคการเมืองที่ได้รับก็จะมีจำนวนน้อยเพราะมีตัวหารมาก ในระบบหาร ๕๐๐ ส.ส.จากบัญชีรายชื่อ ๑ คนก็จะอยู่ที่ประมาณ ๔ – ๕ หมื่นคนจะมีพรรคเล็กพรรคน้อยเกิดขึ้นมากมายเป็นพรรคเบี้ยหัวแตก  แต่ถ้าในระบบที่เอา ๑๐๐ หาร จำนวนคะแนนก็ต้องมากกว่า ๔ – ๕ หมื่นคนต่อ ส.ส. ๑ คน

มติที่ออกมาเป็นแบบหาร ๕๐๐ จะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ?

ปัญหาสำคัญที่สุดที่เอา ๕๐๐ หาร ถูกมองว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ จริง ๆ แล้วก็ไม่ทราบว่าเอาเลข ๕๐๐ มาจากไหน อย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญกำหนดให้มี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจำนวนเพียง ๑๐๐ คน แต่ละพรรคการเมืองจะแบ่งกันยังไงก็ต้องเอา ๑๐๐ หาร จึงจะเป็นหลักการที่ถูกต้อง จะไปเอา ๕๐๐ หาร ก็ดูผิดปกติ

ถ้าเอา ๒๐๐ หรือ ๓๐๐ หรือ ๕๐๐ หาร ก็แสดงว่าคะแนนที่พรรคการเมืองนั้นได้รับก็ไม่สัมพันธ์กับจำนวน ส.ส.ที่พรรคจะได้รับ ถ้าเอา ๑๐๐ หารจากคะแนนที่ได้รับทั้งประเทศเช่น พรรค ก.ได้ ๔๐ % ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรค ก.ก็ควรจะได้ ๔๐ คน หรือพรรค ข.ได้ ๒ % ก็จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ๒ คน ถ้าคิดแบบนี้ก็จะสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ การเอา๕๐๐ หาร ในทางปฏิบัติเวลาคิดคำนวณจำนวน ส.ส.จะวุ่นวายมาก

หลังจากนี้ก็จะมีพรรคการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับหาร ๕๐๐ ไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาว่าการในวิธีการหาร ๕๐๐ จะชอบด้วยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ ความจริงไม่ต้องยื่นก็ได้ เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้แล้วว่าเมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐสภาจะต้องส่งร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้ตรวจสอบว่าถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก่อนที่จะถึงขั้นตอนทูลถวายเพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธย ถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่เห็นด้วย ก็จะมีข้อแนะนำว่าไม่ถูกต้องอย่างไร ส่งให้กลับให้รัฐสภาแก้ไขให้ถูกต้อง.

error: ขอสงวนสิทธิ์ ในการคัดลอกบทความ !!