คนเพี้ยน-สังคมเพี้ยน
ในห้วงเดือนตุลาคม ๒๕๖๕ มีเรื่องที่สังคมให้ความสนใจเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ เรื่องแรกคือกรณี “โน้ส” นายอุดม แต้พานิช จัดรายการทอล์คโชว์ “เดี่ยว ๑๓” ท่ามกลางผู้รับชมรับฟังหลายพันคน ช่วงหนึ่งของการแสดงโน้สได้กล่าวพาดพิง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในเชิงดูถูกเหยียดหยาม ต่อมานายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยได้ไปยื่นหนังสือต่อกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อเอาผิดกับโน้ส ขณะนายศรีสุวรรณกำลังแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนได้มีนายวีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล หรือ “ศักดิ์ เสื้อแดง” แทรกตัวเข้าไปในกลุ่มผู้สื่อข่าวและอาศัยช่วงจังหวะเผลอบุกเข้าชกนายศรีสุวรรณจนได้รับบาดเจ็บ อ้างว่าต้องการตบสั่งสอน นายศรีสุวรรณได้แจ้งความดำเนินคดีนายวีรวิชญ์ข้อหาทำร้ายร่างกาย
เหตุการณ์ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม นายยืนยง โอภากุล หรือ “แอ๊ด คาราบาว”ศิลปินแห่งชาติ ไปแสดงคอนเสิร์ตคาราบาวในงานวันคล้ายวันเกิดประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านสองพี่น้อง ที่ ต.บางเลน อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ด่ากราด นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ด้วยถ้อยคำหยาบคายบนเวทีต่อหน้านายณัฐภัทรและแขกเหรื่อที่มาร่วมงานจำนวนมาก ต่อมานายยืนยงได้ออกมากล่าวขอโทษนายณัฐภัทรและผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ อ้างว่าตนพูดออกไปด้วยความเมาและเข้าใจผิด อย่างไรก็ตาม นายณัฐภัทรได้มอบให้ตัวแทนไปแจ้งความดำเนินคดีกับนายยืนยงข้อหาหมิ่นประมาท
เหตุสุดท้ายเกิดเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ได้มี นายคเณศพิศณุเทพ จักรภพมหาเดชา อายุ ๔๗ ปี นักธุรกิจชื่อดัง เจ้าของฉายา “เค ร้อยล้าน” บุกป่วนงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ บุกเข้าล็อกคอนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจประธานคณะก้าวหน้า ขณะกำลังยืนแจกลายเซ็นให้แก่แฟนหนังสือ แล้วตะโกนว่ามีระเบิด ค้นตัวไม่พบว่ามีระเบิดจริงต่อมาทราบว่าผู้ก่อเหตุเป็นบุคคลมีอาการจิตไม่ปกติสอบประวัติพบว่าเมื่อปี ๒๕๖๒ เคยไปที่หน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ปล่อยงูเห่า ๒ ตัวลงกลางถนน พร้อมใช้มีดสับหัวตัวเองจนบาดเจ็บเลือดไหล วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ตบ “ป้าเป้า” ผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรที่สกายวอล์กแยกปทุมวัน กรุงเทพฯ ถูกตำรวจ สน.ปทุมวัน ดำเนินคดีข้อหาทำร้ายร่างกาย
ทั้ง ๓ เหตุการณ์ที่กล่าวข้างต้น ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความแตกแยกกันทางความคิดและการใช้อารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวตัดสินความถูกผิดและกำลังขยายออกเป็นวงกว้างในสังคมใช้วิธีการรุนแรงตัดสินปัญหา หากปล่อยให้ทุกเรื่องราวผ่านเลยไปโดยไม่ดำเนินการตามกฎหมายหรือให้ยุติตามกระบวนการยุติธรรมอย่างตรงไปตรงมา ก็จะเป็นเยี่ยงอย่างให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ แม้ว่าสังคมไทยเป็นสังคมประนีประนอม เมื่อเอ่ยคำ “ขอโทษ” ก็มักจะได้รับการให้อภัย แต่ในบางเรื่องราวหากไม่มีการบังคับใช้กฎหมายให้ถึงที่สุด ก็อาจจะไม่มีใครเข็ดหลาบหรือสำนึกในการกระทำ เมื่อก่อกรรมก็สมควรได้รับกรรม เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างในทางเลว.