“ครูเลิศ-หลวงพ่อฤทธิ์”ศิษย์กับอาจารย์เขียน

ภาพปราสาทยอดพระปรางค์ ค่าควรเมือง

ภาพปราสาทยอดพระปรางค์
5 ยอด เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนัง
ในพระวิหาร วัดมหาธาตุ วรวิหาร เรื่อง
“พระสิทธาตุออกบวช” ครูเลิศ พ่วงพระเดช
เขียนแล้วเสร็จ พ.ศ. 2466         

             ภาพพระบฏเทคนิคสีฝุ่นโบราณปิดทอง ระบุว่าเขียนเมื่อ ร.ศ. 127 หรือตรงกับ พ.ศ. 2451 วัดใหญ่สุวรรณารามเจ้าของภาพ เป็นฝีมือบรมครูช่างเมืองเพชรสายขรัวอินโข่งคือหลวงพ่อฤทธิ์
อดีตเจ้าอาวาสวัดพลับพลาชัย ที่สำคัญเป็นพระอาจารย์ของ ครูเลิศ พ่วงพระเดช
ด้วยครับ

             ภาพปราสาทยอดพระปรางค์
ซึ่งหลวงพ่อฤทธิ์เขียนมุมตรงเห็น พระปรางค์ 4 ยอด ส่วนครูเลิศ พ่วงพระเดช เขียนเห็นพระปรางค์ทั้ง 5 ยอด

                ผมอ่านหนังสือชื่อ ประวัติ
พระศรีรัตนมหาธาตุ (ปรางค์ใหญ่ 5 ยอด)
โดยพระครูสุวรรณมุนีสีหธรรมทายาทสังฆวาหะ (ชิต ชิตรัตน์) ซึ่งขอเรียกว่า
ฉบับหลวงพ่อชิต ท่านกล่าวว่าพบสมุดดำเขียนตัวรงค์ในตู้ภายในพระอุโบสถ ความสำคัญบันทึกว่า “พระศรีรัตนมหาธาตุฯ ปรางค์ใหญ่ 5 ยอด หักพังมาแต่เมื่อใดไม่ปรากฏ ทราบแต่พระอธิการรอดวัดยางกับพระอธิการถัววัดมหาธาตุ ซ่อม พ.ศ. 2357 สำเร็จจนมาถึง พ.ศ. 2406 ได้หักพังลงมาอีก”

             ต่อมาในสมัย “หลวงพ่อชิต” ได้บูรณะซ่อมแซมพระปรางค์ 5 ยอด
เมื่อ พ.ศ. 2471 โดย “จีนหลา” เป็นผู้ประมูลงานได้ ซ่อมแล้วเสร็จและสมโภชใน พ.ศ. 2479 พระปรางค์ 5 ยอดยังไม่หักมาอีกถึงกระทั่งทุกวันนี้

มาวิเคราะห์เจาะลึกดูพบว่า “หลวงพ่อฤทธิ์ วัดพลับพลาชัย
เกิด พ.ศ. 2375 พระปรางค์ 5 ยอดหักพัง พ.ศ. 2406 ขณะนั้นหลวงพ่อฤทธิ์ อายุได้ประมาณ 31 ปี ท่านจึงได้เห็นพระปรางค์ 5 ยอด
ส่วนครูเลิศ พ่วงพระเดช เกิด พ.ศ. 2437 ท่านเขียนภาพปราสาทยอดพระปรางค์ 5 ยอด เรื่อง “พระสิทธาตุออกบวช” พ.ศ. 2465 ดังนั้น
“ครูเลิศ” กำเนิดมาพระปรางค์ยังหักพัง และขณะที่ท่านเขียนภาพสำคัญนี้
พระปรางค์ยังซ่อมไม่สำเร็จ ทำให้ต้องตั้งคำถามว่า “ครูเลิศ” เขียนภาพ
พระปรางค์ 5 ยอด ได้อย่างไร อันที่จริงเจดีย์ปรางค์ในเพชรบุรีครั้งกระโน้น
น่าจะมีไม่น้อย ทว่าปรางค์ 5 ยอด ท่านน่าได้เห็นภาพพระบฏของพระหลวงพ่อฤทธิ์ อาจารย์ของท่าน สองท่านได้เห็นยอดพระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาทบนพระนครคีรี สร้างสมัยรัชกาลที่ 4 แต่น่าสงสัยว่าช่างออกแบบเอาแบบ
ยอดปราสาทมาจากพระปรางค์ 5 ยอด วัดมหาธาตุ วรวิหาร หรือไม่

             ในทัศนะของผมภาพเขียน ปราสาทยอดพระปรางค์ ทั้งสองภาพนับว่าล้ำค่ามีค่าควรเมืองทีเดียว ปฏิเสธมิได้ว่าพระปรางค์ 5 ยอด เมืองเพชรบุรีสร้างด้วยความเชื่อทางศาสนาแบบพุทธ (มหายาน-เถรวาท )-พราหมณ์
ในคติแบบจักรวาล พระปรางค์ 5 ยอด ประหนึ่งเขาพระสุเมรุ ที่เป็นศูนย์กลางของจักรวาล นั่นเอง

                ภาพปราสาทยอดพระปรางค์ จึงมีความหมายอันมงคลที่ยิ่งใหญ่
และเป็นภาพปกหนังสืออนุสรณ์ พิธีบำเพ็ญกุศลออกเมรุพระราชทานเพลิงศพ
พระเทพสุวรรณโมลี (แคล้ว อุตตฺโม ป.ธ.7) อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะภาคที่ 15
อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ วรวิหาร วันที่ 21-24 เมษายน 2565 นี้ครับ

error: ขอสงวนสิทธิ์ ในการคัดลอกบทความ !!