ข้อเขียนเมื่อฉบับที่แล้วผมได้นำเสนอศัพท์คำว่า แลบ ในความว่า “พี่แลบเห็นเจ้า เปล่าแล้วใจหาย” จากกาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก
พระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ศัพท์คำนี้ที่ถูกต้อง คำว่า “แลบ” ต้องอ่านว่า แล บ (แล บ่) พี่แล บ เห็นเจ้า เปล่าแล้วใจหาย
ผมต้องกราบขออภัยผู้อ่านคอลัมน์คำชวนคิดทุกท่าน เพราะความรู้น้อยและไม่ทันได้คิดให้รอบคอบทำให้การอ่านและ
การตีความคำศัพท์คำนี้เกิดความผิดพลาดอย่างอุกฉกรรจ์
ตอนเขียนไม่ทราบว่านึกอะไรอยู่ ถึงตีความไปตื้น ๆ เช่นนั้น พอพิมพ์
ไปแล้วกลับมาอ่านอีกครั้งก็นึกออกว่า ตีความคำศัพท์ผิดไปเสียแล้ว
หลังจากที่พิมพ์เผยแพร่ไปแล้ว ท่านอาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว ครูภาษาไทย นักวรรณคดี นักประวัติศาสตร์ท่านก็รีบให้ พี่นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว
โทรศัพท์มาหาผมทันที พร้อมกับชี้แจงถึงความผิดพลาดนี้ อีกทั้งอาจารย์ล้อมยังให้คำชี้แนะและเพิ่มความรู้เรื่องข้อควรระวังต่าง ๆ ในการอ่าน
คำศัพท์ให้กับผม ผมต้องขอกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว
ครูที่หวังดีและเมตตาผมเสมอ พี่นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว และคุณเปรมฤดี เซ่งยี่
ที่ท่านเป็นห่วงเป็นใย คอยติดตาม ตรวจสอบข้อเขียนของผมมาตลอด จนพบข้อผิดพลาดในครั้งนี้เข้าและต้องจำไว้เป็นบทเรียน
ความรู้ที่ท่านอาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว ได้กรุณาเพิ่มเติมและเขี่ยผง
ที่บังตาให้นั้น ท่านได้ให้ความรู้เรื่องข้อระวังในการอ่านโคลง คือ การอ่านโคลงสี่ที่ถูกต้องนั้นต้องอ่านเว้นวรรคคำตามคณะโคลงสี่ให้ถูกต้องตามแบบแผนของโคลง คือ วรรคหน้าจะแบ่งคำออกเป็น ๕ คำ ส่วนวรรคหลังจะมี ๒ คำ ยกเว้นบาทสุดท้ายมี ๔ คำ ส่วนคำสร้อยอีก ๒ คำ จะอยู่วรรคหลังของบาทที่ ๑ และบาท ๓
ดังนั้น ในบาทที่ว่า “พี่แลบเห็นเจ้า เปล่าแล้วใจหาย” ที่ถูกต้องอ่านว่า พี่แล บ เห็นเจ้า เปล่าแล้วใจหาย ไม่ใช่อ่านว่า แลบ อย่างที่ผมเข้าใจ พี่แล บ เห็นเจ้า จึงต้องหมายความว่า พี่มองไปไม่เห็นน้อง (แล้วพี่ก็ใจหาย)โบราณคำว่า บ (บ่) มีความหมายว่า ไม่ เมื่อสืบค้นจากวรรณคดีโบราณ
ก็มักไม่เขียนไม้เอกกำกับที่คำว่า บ่ แต่มักจะเขียน บ เฉย ๆ ดังนั้น
คนอ่านจะต้องรู้และเข้าใจให้มากถึงวิธีการอ่าน
แลบ ถ้าอยู่ในคำประพันธ์ คนอ่านต้องรู้เท่าทันปัญญาของกวี และเข้าใจความที่ท่านต้องการจะสื่อ ดังนั้น เมื่อคนอ่านอ่านได้ถูกต้องตามหลักการอ่าน เข้าใจความ เข้าใจข้อบังคับฉันทลักษณ์กลอนทุกประเภท ก็จะอ่านได้ไม่เสียความ ไม่เสียรส
ยกตัวอย่าง คำว่า แล บ จากเรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์ ที่อ่านอย่างไรก็ไม่เสียความ
ต่างตริปองไชยชิงนาง ป่วยเข้าหลายปาง
แลแลบไหวหวั่นแด
บทนี้เป็นฉบัง ๑๖ ต้องอ่านตามคณะกาพย์ว่า แล แล บ ไหวหวั่นแด
สาวสนมสำอางอง คยรรยงยิ่งนางเมือง
ใครแลบแปรเปลือง จิตรพิศอำไพรู
บทนี้เป็นฉันท์ ๑๑ ก็ตามอ่านตามคณะฉันท์ว่า ใครแล บ แปรเปลือง
จะตายแลบมิตายฤๅมาโศกเสมอสมรสมุทร
สุดแรงก็สุดสุด รำพึง
บทนี้เป็นฉันท์ ๑๙ ก็ต้องการตามคณะฉันท์ว่า จะตายแล บมิตายฤๅมาโศกเสมอสมรสมุทร
ตัวอย่างต่อไปจากเรื่องลิลิตโองการแช่งน้ำ บทนี้เป็นโคลงโบราณ วรรคสุดท้ายก็ต้องอ่านว่า แล บ ล้ำสีลอง
เจ็ดปลามันพุ่งหล้าเป็นไฟ วาบจตุราบายแผ่นขว้ำ
ชักไตรตรึงษ์เป็นเผ้า แลบลํ้าสีลอง ฯ
ส่วนตัวอย่างต่อไปนี้จะอ่านว่า แล บ ไม่ได้ เพราะจะผิดคณะของคำประพันธ์
ต้องอ่านว่า แลบ เท่านั้น
ลมพัดกลัดเมฆเกลื่อน ฟ้าลั่นเลื่อนแลบแสงพราย
วลาหกตกโปรยปราย สายสินธุ์นองท้องธารา
กาพย์เห่เรือเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์
แสงเพลิงโพลงพลุ่งฟ้า เฟ็ดหาว
ลามแลบแปลบเปลวราว แลบลิ้น
มารุตเร่งเพลิงสาว ก้าวรุด เร็วแล
ลุยโลดหลังคาสิ้น เสร็จไหม้เสมือนผง
โคลงกลอนของครูเทพ
ดังนั้นเพื่อความถูกต้องของการอ่านคำศัพท์ การตีความคำศัพท์ เพื่อให้ได้รส ได้ความ โดยเฉพาะคำศัพท์ในบทประพันธ์จำเป็นอย่างยิ่งที่คนอ่านจะต้องรู้และเข้าใจคณะอันเป็นข้อบังคับแต่ละชนิดให้ถ่องแท้ ความผิดพลาดก็จะไม่เกิดอย่างผมครับ