“ตัดตีนสินมือ”
ตัดตีนสินมือ ดูจะเป็นคำเก่าอีกหนึ่งคำ ที่พบร่องรอยว่ามีกล่าวไว้ในวรรณคดีเรื่องไตรภูมิ ความว่า
“อันว่ามนุดสทังหลายมีนิ ๔ จำพวกๆ นิงชือว่า คนนรก อันนี่ชือว่าคนเปรต จำพวกนึงชือคนติรจฉานอันีงชือคนมนุตสผูงค่นอันทีฆาสิงสัตวอันรุกธำการอันเปนบาปนันมาเถิงตนแลทานใด้ตัดตีนสินมือแลทุกโสกเวทนานักหนา ด่งงนีเรียกชือว่าคนนรกแล”
ส่วนไตรภูมิฉบับถอดความพบว่ามีทั้งที่ใช้ว่า ตัดตีนสินมือ และที่ได้เปลี่ยนจากตัดตีนสินมือ เป็น ตัดมือตัดเท้า ไปเสียแล้วก็มี ความว่า
“เหล่ามนุษย์ที่ฆ่าสัตว์มีชีวิต เมื่อบาปมาถึงตนและถูกผู้อื่นตัดมือตัดเท้าได้รับความทุกข์โศกลำบากมาก คือ มนุษย์นรก”
ยังมีวรรณคดีอีกหลายเรื่องที่แสดงพัฒนาการของคำว่า ตัดตีนสินมือ
อาทิ ห้องสิน ซึ่งเป็นวรรณคดีจีน ความว่า
“พระองค์ (หมายถึง พระเจ้าติวอ๋องเป็นกษัตริย์ผู้มีใจโหดร้าย) ไม่มีความอายฟังแต่คำนางขันกีหยอกนางกาสีภรรยาอึ้งปวยฮอ นางกาสีมีความอดสู กระโดดลงมาจากเตียะแซเหลาตาย แล้วนางอึ้งกุยฮุยน้องสาวของอึ้งปวยฮอเข้าไปห้ามปราม พระองค์ก็ถีบตกจากเตียะแซเหลาตายทั้งให้ตัดตีนสินมือคนทั้งปวง เอาหญิงมีครรภ์มาผ่าท้องดูเล่น แล้วให้ผ่าอกเอาตับปอดเลือดเนื้อ”
เรื่องกามนิต ความว่า
“ตามกฎของเราที่ได้กำหนดไว้ คือกฎของผู้ส่ง ถ้าค่าถ่ายไม่มาตามกำหนดเวลา ก็ต้องจัดการกับนักโทษ คือ ตัดตีนสินมือผ่าแล่งนักโทษนั้นแล้วทิ้งไว้ ในย่านหนทางเดิร ความข้อนี้ก็ย่อมเป็นความจริงปานนั้น”
เรื่องรามเกียรติ์ ตอน พระลักษมณ์ตัดตีนสินมือสำมนักขา พระราช-นิพนธ์ รัชกาลที่ ๒ ความว่า
อันอีสำมนักขามันหน้าด้าน ไปเกี้ยวพานผู้ชายขายภักตร์พี่
ข้างเขาเห็นเปนยักษ์ไม่ไยดี จึ่งทุบตีตัดตีนสีนมือ
ซึ่งคำว่า สีน ในภาษาใต้ (ตรัง) หมายถึง ตัด
ส่วนในบทพระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ ๑ ทรงใช้ว่า ตัดกรรอนบาท ความว่า
ครั้งว่าจะฆ่าให้มึงตาย โลกจะยินร้ายไปภายหน้า
กูนี้จะไว้ชีวา แต่จะทำให้สาน้ำใจ
ว่าพลางตัดกรรอนบาท ทั้งจมูกหูขาดเลือดไหล
แล้วไล่ตีซ้ำกระหน่ำไป จนไกลอรัญกุฎี
จากตัวอย่างการใช้คำว่า ตัดตีนสินมือ ที่ยกข้อความจากวรรณคดีมาแสดงให้ดูนั้น การตัดตีนสินมือ เป็นการลงโทษให้ได้รับความเจ็บปวดแสนสาหัสด้วยการตัดเท้าตัดมือให้ขาดกลายเป็นผู้พิการเท้าและมือ
ดังนั้นคำว่า ตัด และคำว่า สิน จึงเป็นคำซ้อนเพื่อความหมาย มีความหมายทำนองเดียวกัน พจนานุกรมฉบัราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ นิยามความหมายคำว่า ตัด ว่า ก.ทำให้ขาดด้วยของมีคม หรือ ทอนให้สั้นลง ส่วนคำว่า สิน หมายความว่า ก. ตัด หรือ ฟันให้ขาด เช่น สินมือสินเท้า หรือใช้ของมีคมตัดและแต่งให้เรียบร้อย เช่น สินหัวไม้ คือ ตัด ทำให้ขาด ดังที่ปัจจุบันใช้ว่า ตัดสินคำว่า ตัด และ สิน อย่างที่โบราณใช้คงมีความหมายที่แสดงจุดประสงค์ว่าต้องทำให้ขาดเท่านั้น แต่ปัจจุบันความหมายของคำว่า ตัดสิน มีความหมายเปลี่ยนไปโดยนำไปใช้ในลักษณะของการวินิจฉัย หมายถึง ก. ลงความเห็นชี้ขาด อาจใช้ในการพิจารณาคดีให้ได้รับผลตามบทลงโทษ หรือ ชี้ขาดการแข่งขัน การประชัน การประกวด ที่มีคนแพ้ ชนะ นั่นแล