เชิญชวนเที่ยวงาน ‘จากวันนั้น…ถึงวันนี้ ๑๐๔ ปี หาดเจ้าสำราญ’






นางศิริรัตน์ ทรงความดี หรือ “นายกฯ เจี๊ยบ” นายกเทศมนตรีตำบลหาดเจ้าสำราญ เปิดเผย “เพชรภูมิ” ว่า “หาดเจ้าสำราญ” เป็นดินแดนประวัติศาสตร์ เดิมเรียกว่า “บางทะลุ” ย้อนกลับไปเมื่อกว่า ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พร้อมด้วย สมเด็จพระเอกาทศรถ พระอนุชา ได้เคยเสด็จฯ แปรพระราชฐานลงเรือตากอากาศเที่ยวเล่นที่ท้องทะเลบางทะลุ (หาดเจ้าสำราญ) อีกทั้งในแผ่นดิน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์ก็ทรงนำขบวนเรือเข้ามาหลบพายุ ณ ที่แห่งนี้ ขณะนำขบวนทัพหลวงพร้อมทหารลงไปตีเมืองนครศรีธรรมราช นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จ-พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ และ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ก็เคยเสด็จแปรพระราชฐานมาประทับแรมที่พลับพลาค่ายหลวงบางทะลุ



บ้านบางทะลุ อ.เมือง จ.เพชรบุรี ห่างหายจากการเสด็จประพาสและประทับแรมของพระบรมวงศานุวงศ์ในราชวงศ์จักรีนานหลายสิบปี กระทั่งถึงในสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ พระองค์ประชวรด้วยโรครูมาติซั่ม (โรคไขข้ออักเสบ) มีพระอาการปวดตามพระวรกาย พระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) แพทย์หลวงประจำพระองค์ ได้กราบบังคมทูลแนะนำให้เสด็จฯ ไปประทับ ณ สถานที่ที่อบอุ่น อากาศถ่ายเทสะดวกแถบชายทะเล พระโรคก็จะหายหรือทุเลาลงได้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมอุทกศาสตร์ กระทรวงทหารเรือ สำรวจหาดทรายชายทะเลที่เหมาะสม
เมื่อกรมอุทกศาสตร์ได้สำรวจแล้วมีความเห็นว่าเวิ้งอ่าวจากปากคลองบางทะลุลงไปทางทิศใต้ มีหาดทรายดีพอสมควร กำลังลมพอสมควร และมีไอโอดีนสูงกว่าที่อื่น จึงนำขึ้นกราบบังคมทูลถวายรายงาน พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพลับพลาที่ประทับแรมขึ้นที่ชายทะเลตำบลบางทะลุ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐



พลับพลาที่ประทับสร้างขึ้นอย่างเรียบง่าย เทียบไม่ได้เลยกับพระบรมมหาราชวัง เป็นอาคารไม้ยาง ใต้ถุนสูง ฝาขัดแตะ หลังคามุงจาก หลังที่เป็นห้องพระบรรทมอยู่ล้ำหน้าใกล้ทะเลกว่าหลังอื่น ๆ และมีอาคารใต้ถุนเตี้ยอยู่หลังหนึ่งคล้ายท้องพระโรง เป็นที่เสด็จฯ เสวยพระกระยาหารและทอดพระเนตรการแสดงมหรสพต่าง ๆ
นอกจากอาคารพลับพลาที่ประทับแล้ว ยังมีอาคารคล้าย ๆ กันหลายหลังสำหรับผู้ตามเสด็จฯ อาคารเหล่านี้สร้างรวมกันเป็นหมู่บ้านใหญ่ดูแล้วคล้ายเป็น ‘ค่าย’ จึงเรียกว่า ‘ค่ายหลวงบางทะลุ’ ตามชื่อของตำบลบางทะลุ



พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับยังค่ายหลวงบางทะลุ ตั้งแต่วันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ ต่อมาพระองค์ทรงมีพระราชดำริว่า “บางทะลุ” เป็นชื่อที่ไม่ไพเราะ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขนานนามพระราชทานว่า “ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญ” (หมายถึง เป็นที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสำราญพระราชหฤทัย) ประกาศมา ณ วันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๑
จากวันนั้นถึงวันนี้หาดเจ้าสำราญมีอายุครบ ๑๐๔ ปี เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างค่ายหลวงฯ และพระราชทานชื่อจาก “บางทะลุ” เป็น “หาดเจ้าสำราญ” ประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วไปได้รู้จักประวัติศาสตร์ของหาดเจ้าสำราญได้ดียิ่งขึ้น เทศบาลตำบลหาดเจ้าสำราญ จึงกำหนดจัดงาน “จากวันนั้น…ถึงวันนี้ ๑๐๔ ปี หาดเจ้าสำราญ” ตอน“สุขสำราญอาหารพื้นถิ่น”



ภายในงานนักท่องเที่ยวจะได้ลิ้มรสอาหารทะเลสด ๆ และของอร่อยมากกว่า ๑๕๐ ร้านค้า พร้อมรับประทานอาหารริมหาดทรายชายทะเล สัมผัสบรรยากาศยามค่ำคืน ชมพลุไฟเฉลิมฉลอง, ชมโชว์การแสดงประจำวัน, ฟังเพลงชิลล์ ๆ กับศิลปินนักร้องชื่อดัง และกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย ขอเชิญเที่ยวงาน “จากวันนั้น…ถึงวันนี้ ๑๐๔ ปี หาดเจ้าสำราญ” ตอน“สุขสำราญอาหารพื้นถิ่น”ระหว่างวันที่ ๒๐-๒๒ พฤษภาคมนี้ ณ บริเวณสวนภูมิทัศน์ริมชายทะเลหาดเจ้าสำราญ ต.หาดเจ้าสำราญ อ.เมือง จ.เพชรบุรี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเทศบาลตำบลหาดเจ้าสำราญ โทร. ๐๓๒-๔๗๘-๕๕๕ ในวันเวลาราชการ.