จับตา ‘บิ๊กป้อม’ กับการใช้อำนาจในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ‘พรรคภูมิใจไทย’ กำลังเนื้อหอมขึ้นหม้อใคร ๆ ก็อยากเข้าไปซบ

เมื่อมีผู้ยื่นคำร้องให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ตีความเรื่องการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๕ ครบกำหนด ๘ ปีตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญได้รับเรื่องไว้พิจารณาด้วยเสียงเอกฉันท์ ๙ ต่อ ๐

ส่วนในประเด็น พล.อ.ประยุทธ์ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวด้วยหรือไม่ ปรากฏว่าคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติด้วยเสียงข้างมาก ๕ ต่อ ๔ ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างที่รอศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา คาดว่าไม่เกินเดือนกันยายน ๒๕๖๕ จึงจะทราบผลการวินิจฉัยว่าพ้นจากตำแหน่งหรือไม่

ผลของการตีความจะเป็นไปในแนวทางใดแนวทางหนึ่ง ดังนี้

แนวทางแรก พ้นจากตำแหน่งหลังวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๕ หมายความว่าศาลให้นับจากวันขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังรัฐประหารปี ๒๕๕๗ จนถึงวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๕ ครบ ๘ ปีพอดี

แนวทางที่สอง สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปถึงปี ๒๕๖๘ นั่นหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในตำแหน่งนับจากรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ ประกาศใช้

และ แนวทางที่ ๓ สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปถึงปี ๒๕๗๐ คือนับจากวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งเมื่อปี ๒๕๖๒

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ก็ขึ้นรักษาการแทนนายกรัฐมนตรี จนกว่าจะมีผลการวินิจฉัยของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

หากผลการวินิจฉัยออกมาว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็สามารถดำรงตำแหน่งต่อไป

แต่หากผลการวินิจฉัยออกมาว่า พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ครบ ๘ ปีแล้ว ต้องพ้นตำแหน่ง ขั้นตอน
ต่อไปคือต้องมีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยเลือกในที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งจะเป็นการประชุมร่วมกัน
ของ ส.ส. และ ส.ว. จำนวน ๗๕๐ คน หรือตามจำนวนที่มีอยู่จริงในขณะนั้น

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ กำหนดไว้ว่าผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีในกรณีนี้ได้ จะต้องเป็น
ผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีที่พรรคการเมืองที่เคยเสนอไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี ๒๕๖๒
โดยให้พิจารณาเฉพาะรายชื่อพรรคที่มี ส.ส.เกินกว่า ๕ % หรือ ๒๕ คนขึ้นไป ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง
ปี ๒๕๖๒ พรรคละไม่เกิน ๓ รายชื่อ

เมื่อตรวจดูพรรคการเมืองที่มี ส.ส.เกิน ๒๕ คน ก็มีเพียง ๕ พรรค ได้แก่ พรรคเพื่อไทย, พรรคพลัง
ประชารัฐ, พรรคภูมิใจไทย, พรรคอนาคตใหม่
(ปัจจุบันคือพรรคก้าวไกล) และ พรรคประชาธิปัตย์

  • พรรคเพื่อไทย เคยเสนอไว้ ๓ รายชื่อ ประกอบด้วย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และ นายชัยเกษม นิติสิริ
  • พรรคพลังประชารัฐ เสนอชื่อเดียวคือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
  • พรรคภูมิใจไทย เสนอชื่อเดียว คือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล
  • พรรคประชาธิปัตย์ เสนอชื่อเดียวคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ส่วน พรรคอนาคตใหม่ หลังเลือกตั้งถูกยุบพรรค นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ที่พรรคเคยเสนอชื่อให้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีถูกให้พ้นจากตำแหน่ง ส.ส.ของพรรคไปสังกัด พรรคก้าวไกล ซึ่งไม่ได้เสนอชื่อใครไว้เพราะพรรคนี้จัดตั้งขึ้นภายหลัง

ปัจจุบันแคนดิเดตนายกฯของ พรรคเพื่อไทย นายชัชชาติ สิทธิ์พันธุ์ ไปเป็นผู้ว่า กทม.,
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ออกจากพรรคเพื่อไทยไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ชื่อ พรรคไทยสร้างไทย จึงเหลือเพียง นายชัยเกษม นิติสิริ เพียงคนเดียวเป็นแคนดิเดตที่ยังหลงเหลืออยู่

ดังนั้น ถ้าจะมีการเสนอรายชื่อผู้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของทั้ง ๓ พรรคดังกล่าวให้รัฐสภาพิจารณา ก็เหลือเพียงแค่ ๓ รายชื่อ คือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล พรรคภูมิใจไทย, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคประชาธิปัตย์ และ นายชัยเกษม นิติสิริ พรรคเพื่อไทย

อย่างไรก็ตาม ถ้าที่ประชุมรัฐสภา ไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีจากรายชื่อดังกล่าวได้ไม่ว่าจะเกิดจากเหตุผลใด ที่ประชุมรัฐสภาก็จะต้องขอให้มีการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากนอกบัญชีรายชื่อดังกล่าวมาข้างต้นได้ ซึ่งต้องใช้เสียงเห็นชอบในที่ประชุมอย่างน้อย ๕๐๐ เสียงจาก ๗๕๐ เสียง  

วันนี้ทุกสายตามองไปที่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์และเป็นพี่คนโตของ ๓ ป. ที่ได้มีโอกาสทำหน้าที่ รักษาการแทนนายกรัฐมนตรี จะนำพาประเทศหรือการเมืองไปในทิศทางใด เมื่ออำนาจทั้งปวงอยู่ในมือตามมติความเห็นชอบ ของ ครม.ที่ให้ใช้อำนาจได้เหมือนนายกรัฐมนตรี จากการประชุม ครม.เมื่อ ๓๐ ส.ค.ที่ผ่านมา 

หากย้อนดูเรื่องราวที่เกี่ยวกับตัว พล.อ.ประวิตรในห้วงที่ผ่านมา จุดเด่นของท่านคือเป็นคนรักพวกพ้อง รักน้องรักพี่ หากเป็นคนที่ พล.อ.ประวิตรไว้วางใจแล้ว ท่านไม่ทิ้งใครง่าย ๆ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

ยกตัวอย่าง กรณี พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล หรือ “บิ๊กโจ๊ก” สมัยที่ถูก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดาผบ.ตร.เล่นงานหนักจนต้องสลัดเครื่องแบบตำรวจข้ามสายงานระเห็ดไปดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และหลังจากที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ เกษียณอายุราชการแล้ว เชื่อว่าบารมีของ พล.อ.ประวิตร สามารถบันดาลให้บิ๊กโจ๊กกลับมารับราชการตำรวจได้อีกครั้ง ในตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ตร. และเมื่อ ๒ – ๓ วันที่ผ่านมา ก็ได้รับการแต่งตั้งเลื่อนขึ้นเป็นรอง ผบ.ตร. หาก พล.อ.ประวิตร ยังมีบารมีทางการเมืองต่อไป บิ๊กโจ๊กก็อาจเอื้อมถึงตำแหน่ง ผบ.ตร.ได้ในอนาคต

อีกคนคือ .อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ที่ถูก พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ปลดจากตำแหน่ง รมช.เกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชนิดผีไม่เผาเงาไม่เหยียบแต่ ร.อ.ธรรนัสยังผูกพันแนบแน่นกับ พล.อ.ประวิตรไม่เสื่อมคลาย ดูจากกรณีในช่วงที่สภาลงมติเอาหรือไม่เอาสูตรเลือกตั้งแบบ “หาร ๕๐๐” ซึ่งขณะนั้น พล.อ.ประวิตรสนับสนุนสูตรหาร ๕๐๐ ร.อ.ธรรมนัสกับกลุ่ม ส.ส.ในสังกัดของของเขาเกือบ ๒๐ เสียง ก็เทคะแนนให้ตามที่ พล.อ.ประวิตรต้องการ

แม้ขณะนี้ ร.อ.ธรรมนัสจะออกไปตั้งพรรคเศรษฐกิจไทยและขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค แต่ก็เชื่อกันว่าในทางการเมือง พล.อ.ประวิตรสามารถประสานใจ ร.อ.ธรรมนัสได้ทุกเวลา พร้อมจะร่วมงานกันอีกในอนาคต   

กรณี “สภาล่ม” คราวประชุมรัฐสภาเมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตรในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เปลี่ยนใจจากสูตรเลือกตั้งหาร ๕๐๐ ไปเป็นสูตรเลือกตั้ง หาร ๑๐๐ ปรากฏว่าส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และ ส.ว.สายที่ พล.อ.ประวิตรต่างพร้อมใจกันไม่เข้าประชุมสภา ทำให้การประชุมของรัฐสภาล่ม เป็นเหตุให้สูตรหาร ๕๐๐ ตกไป เพราะไม่ทันกรอบเวลา ๑๘๐ วัน ต้องกลับไปใช้สูตรหาร ๑๐๐ ตามที่ ครม.เสนอมาแต่ต้น

สังคมมองภาวะการเป็นผู้นำของ พล.อ.ประวิตร เป็นคนกลับไปกลับมา ทั้งยังมองว่าพล.อ.ประวิตรกำลังจับมือกับพรรคเพื่อไทย เพื่อล้มสูตรหาร ๕๐๐ กลับไปใช้สูตรหาร ๑๐๐ ตามที่พรรคเพื่อไทยต้องการ เพื่อช่วยให้พรรคเพื่อไทยได้มีโอกาสแลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งครั้งหน้าสะเทือนความรู้สึกของผู้สนับสนุนพรรคพลังประชารัฐจำนวนมาก

ทั้งยังหวนคิดไปถึงคำพูดของ นายทักษิณ ชินวัตร ที่เคยกล่าวว่าลำเลิกบุญคุณ พล.อ.ประวิตร
วงษ์สุวรรณ
ว่าเคยไปเกาะขอบโต๊ะสมัยนายทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อขอตำแหน่ง ผบ.ทบ. ดังนั้น สายสัมพันธ์ของนายทักษิณ กับ พล.อ.ประวิตรที่ผ่านมาในอดีต เป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้

ถ้าเพื่อไทยกับพลังประชารัฐจับมือกันได้จริง แล้วเชิด “อุ๊งอิ๊ง” แพรทองธาร ชินวัตร บุตรสาวคนเล็กของนายทักษิณขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ถึงเวลานั้นบ้านเมืองคงวุ่นวายแน่ เพราะการเมืองในลักษณะนี้คนไทยส่วนใหญ่ยอมรับไม่ได้

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า พล.อ.ประวิตร ที่สามารถกระทำการแทนนายกรัฐมนตรีได้ทุกอย่างตามที่
ครม.ให้อำนาจ จะกล้า “ยุบสภา” หรือไม่ ก็มีเสียงติงมาว่าหากกฎหมายลูก ๒ ฉบับที่เกี่ยวกับการ
เลือกตั้งยังไม่แล้วเสร็จ ก็ไม่สามารถจะยุบสภาได้ และถ้ายุบสภาตอนนี้ได้จริง พรรคพลังประชารัฐ
ก็ไม่อยู่ในสถานการณ์ได้เปรียบทางการเมือง คาดว่าไม่ยุบมากกว่ายุบ

ถ้าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากมีมติให้ พล.อ.ประยุทธ์ สามารถอยู่ในตำแหน่งได้
ไม่ติดหล่ม ๘ ปี พล.อ.ประยุทธ์ก็กลับมาดำรงตำแหน่งได้เหมือนเดิม

แต่ถ้ามีมติว่า พล.อ.ประยุทธ์อยู่ครบ ๘ ปีแล้ว ต้องพ้นจากตำแหน่ง ถึงเวลานั้นรัฐสภาก็ต้องพิจารณาแคนดิเดตนายกฯที่ ๓ พรรคเคยเสนอชื่อไว้ มองดูแล้วถ้าจะได้นายกรัฐมนตรีที่ไม่มี
ปัญหามาก ส้มก็อาจจะหล่นไปที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เพราะพรรคภูมิใจไทยยังมีภาพพจน์และผลงานที่ประชาชนยอมรับได้

ความเคลื่อนไหวของนักการเมืองในช่วงนี้ จะเห็นได้ว่านักการเมืองจำนวนไม่น้อย ทั้งจาก พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล ย้ายไปซบพรรคภูมิใจไทยจำนวนมาก

บรรดา ส.ส.ขณะนี้หากได้จังหวะเมื่อไหร่ก็จ้องจะย้ายไปซบพรรคภูมิใจไทย !!

error: ขอสงวนสิทธิ์ ในการคัดลอกบทความ !!