ชื่อวัวที่เก่าที่สุดในประวัติวรรณคดี

พบหลักฐานว่ามีการตั้งชื่อเรียก “วัว” ที่อาจจะเก่าที่สุดในประวัติศาสตร์
ของการตั้งชื่อสัตว์เลี้ยงเท่าที่ค้นพบหลักฐานขณะนี้ คือ วัวที่ชื่อว่า
“กะแชงเปิง” และ “ผังผาด” 

        ชื่อของวัวทั้ง ๒ ตัวนี้ ปรากฏในวรรณคดีเรื่อง สมุทรโฆษคำฉันท์ ส่วนที่เป็นสำนวนของพระมหาราชครู กวีคนสำคัญสมัยอยุธยา ที่แต่งตั้งแต่ส่วนนำเรื่องอันเป็นมูลเหตุของการแต่งเรื่องสมุทรโฆษ พระสมุทร-โฆษเสด็จประพาสป่าจนถึงเสด็จไปใช้บนกับนางพินทุมดี

        ชื่อของ วัวกระแชงเปิง และ วัวผังผาด ปรากฏในส่วนของเรื่องเล่นเบิกโรงเล่นหนัง เบิกโรง ๕ เล่นแข่งวัวเกวียน

               วัวนี้ใช่วัวชั่วทราม                      เลี้ยงแล่นชาญสนาม

          แลเรียกชื่ออ้ายกะแชงเปิง

                    สองสัตว์สามรรถถึกเถลิง          เรี่ยวแรงรเริง

          พันฦกพันลายหนักหนา

                    ผิว่าวัวสูถึกพา                           เทียมเกวียนมารา

          บัดนี้จะลองอย่านาน

          ตอนท้ายผลการแข่งขัน สรุปว่า ผังผาด มีชัยชนะแก่ กะแชงเปิง

               กึกก้องเสียงเกวียนแกว่งไกว     ธุลีเวียนไว

          ตระลบตระเลิศเวหาส

                    วัวอ้ายฦๅนามผังผาด               แล่นล้ำลมลาศ

          ชนะแก่อ้ายกะแชงเปิง

          กะแชง ออกเสียงคล้ายคำว่า กระแชง เป็นคำนาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.น. ๒๕๕๔ นิยามไว้ ๒ ความหมาย คือ

        กระแชง ๑ หมายถึง เครื่องบังแดดฝน ทำจากใบเตยหรือใบจากมาเย็บเป็นแผง เอาไว้คลุมรถหรือเรือ อย่างที่เราเรียกชื่อของเรือชนิดที่เอากระแชงมาทำเป็นประทุนเรือว่า เรือกระแชง

        ที่เมืองเพชรบุรีบ้านเราก็มีชื่อคลองที่ชื่อว่า คลองกระแชง แล้วคลองกลายมาเป็นถนนชื่อว่า ถนนคลองกระแชง

        กระแชง ๒ หมายถึง น. เชือกหรือลวดหนังตีเป็นเกลียว

        เปิง เป็นคำวิเศษณ์มีความหมายว่า ยับเยิน, พัง, ทลาย เช่น หลังคาเปิง หรือ ที่คุ้นกันในคำว่า เปิดเปิง

        ส่วน ผังผาด เป็นคำวิเศษณ์ หมายถึง เคลื่อนหรือแล่นผ่านไป
โดยเร็ว เราอาจจะได้เคยได้ยินคำว่า ผาดผัง คือ ไปเร็ว, แล่นเร็ว

        เมื่อวิเคราะห์ความได้เปรียบจากชื่อวัวทั้ง ๒ ตัวแล้ว ก็พอจะเห็นได้ว่า กะแชงเปิง จะเป็นรอง ผังผาดอยู่มาก เพราะ กะแชงเปิง
มีชื่อเสียงทางกำลังเข้าปะทะ ส่วน ผังผาด มีชื่อเสียงในทาง ความไว
ดังนั้น การแข่งวัวเกวียนเน้นความไวที่ฝีตีนในการวิ่งมากกว่าการปะทะ จึงไม่แปลกที่ผังผาดจะเป็นฝ่ายชนะกะแชงเปิง แต่ถ้าเอากะแชงเปิงไปชน
กับวัวทางใต้ไม่แน่อาจจะมีชัยก็ได้ครับ

          ตอนที่อ่านเรื่องสมุทรโฆษคราวแรกขณะทำวิทยานิพนธ์เมื่อปี ๒๕๕๖ ก็ไม่ได้คิดถึงรายละเอียดของชื่อวัวแต่อย่างใด แต่พอกลับมาอ่านอีกครั้งโดยพยายามแยกศัพท์ดู ก็ทำให้รู้ว่าชื่อเรียกต่าง ๆ ก็ชวนให้คิดนั่นคิดนี่ได้ดีเหมือนกัน

error: ขอสงวนสิทธิ์ ในการคัดลอกบทความ !!