ช่างประกอบ จันทรบูรณ์ ชุบชีวิตหัวสัตว์ด้วยงานศิลปะ ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ขึ้นรูป – ปั้นปูนขาวลงสีเหมือนจริง

คนเพชรบุรีมีความผูกพันกับสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะ “วัว” ในอดีตคนเพชรบุรีนิยมเลี้ยงวัวไว้ใช้แรงงานในภาคการเกษตร ใช้ไถนา นวดข้าวเทียมเกวียนบรรทุกข้าว บรรทุกสิ่งของต่าง ๆ ใช้ในการเดินทาง ตลอดจนนำมาแข่งขันกีฬาการละเล่นต่าง ๆ  เช่น กีฬาวัวลาน วัวเทียมเกวียน วัวเทียมไถ ประกวดวัวสวยงาม คนเพชรบุรีจึงมีความรักและความผูกพันกับสัตว์เลี้ยงชนิดนี้ เป็นอย่างมาก เมื่อวัวแก่ตาย หรือมีเหตุทำให้เสียชีวิต เจ้าของวัวจะเก็บรักษากะโหลกหรือเขาวัวไว้เป็นที่ระลึก จึงเป็นที่มาของ “งานปั้นหัวสัตว์” เป็นงานช่างฝีมือในการนำเขาวัว เขาควาย หรือเขาสัตว์ที่ตายแล้ว ใช้วัสดุต่าง ๆ อาทิ ปูน กระดาษ ขี้เลื่อยผสมกาวในการปั้นจำลองส่วนหัวของวัวเพื่อเป็นการระลึกถึงบุญคุณหรือความผูกพันที่เลี้ยงดูกันมาประหนึ่งสมาชิกในครอบครัว

         ที่บ้านหนองโพธิ์ หมู่ 3 ต.บ้านหาด อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี ยังมีช่างที่สืบสานภูมิปัญญางานปั้นหัวสัตว์ที่นับวันจะหาคนทำได้ยาก นายประกอบ จันทรบูรณ์ หรือ “ช่างจิ่ม” ช่างปั้นหัวสัตว์ ปัจจุบันอายุ 48 ปี ยึดอาชีพช่างปั้นหัวสัตว์มานานกว่า 20 ปี เดิมมีอาชีพหลักเป็นช่างปูนรับจ้างทำพื้นหินขัดตามวัด โรงเรียนต่าง ๆ ปั้นหัวสัตว์เป็นงานอดิเรกเป็นอาชีพเสริม ด้วยความที่เลี้ยงวัวมาตั้งแต่เด็ก เล่นวัวลานจึงรักและผูกพันกับวัว เมื่อสึกพระจากวัดกุ่มออกมาจึงเริ่มหัดปั้นหัววัวโดยไม่มีใครสอน อาศัยความรู้จากการเป็นช่างปูนและมีใจรัก หัววัวชิ้นแรกใช้ปูนซีเมนต์ปั้นขึ้นรูปเป็นหัววัว มีเขา ใบหู เสร็จแล้วก็ลงสี ประดับด้วยเขารอง ร้อยเชือกสนตะพาย (เชือกจูงจมูกวัว) จากนั้นก็เริ่มปั้นหัววัวมาอย่างต่อเนื่อง และมีคนในหมู่บ้านนำเขาวัวมาว่าจ้างให้ปั้นเพิ่มมากขึ้น จึงยกเลิกงานทำพื้นหินขัดมารับงานปั้นหัวสัตว์เป็นอาชีพหลักจนถึงปัจจุบัน

         ช่างประกอบ กล่าวว่า เขาวัวที่นิยมนำมาให้ปั้นจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท คือ เขาวัวลาน และ เขาวัวสวยงาม สำหรับเขาวัวลานจะเป็นวัวที่เจ้าของรักและผูกพันเป็นอย่างมาก มีทั้งวัวนอก วัวคาน เช่น “เจ้าโพธิ์ศรี” วัวดังแห่งหนองตาพด อ.ชะอำ “เจ้าโพธิ์พิกุล” วัวฝีเท้าดีจาก อ.เขาย้อย เมื่อปลดระวางจากการวิ่งลานก็เลี้ยงไปจนแก่ตาย วัวไทยส่วนมากจะมีอายุประมาณ 25 – 30 ปี เมื่อตายแล้วเจ้าของได้นำกะโหลกและเขาวัวมาให้ช่างปั้น โดยส่วนมากเจ้าของจะมีรูปถ่ายวัวที่แสดงถึงลักษณะสีสัน และลวดลายบนใบหน้าของวัวตัวดังกล่าว ส่วนประเภทที่ 2 จะเป็นเขาวัวสวยงาม เป็นเขาวัวหรือเขาสัตว์ที่มีการซื้อขายตามท้องตลาดที่มีลักษณะสวยงาม มีทั้งวัวไทย และวัวต่างประเทศ ที่เจ้าของต้องการนำไปประดับบ้าน หรือสถานที่อื่น ๆ ตามแต่ต้องการ 

         เทคนิคการปั้นหัวสัตว์ของช่างประกอบจะนำกะโหลกส่วนหัวที่ติดกับเขาวัวหรือเขาสัตว์ ยึดติดกับแผ่นไม้โดยใช้ท่อนไม้ความยาวประมาณ 30 เซนติเมตรเป็นตัวค้ำยันทำมุมประมาณ 45 องศา ก่อนจะใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ชุบน้ำปะส่วนกะโหลกวัวเป็นชั้น ๆ ขึ้นรูปส่วนหัวสัตว์และส่วนคอที่ติดกับแป้นไม้ ก่อนจะใช้ตาข่ายลวดแบบอ่อนคลุมทับให้ได้โครงสร้างที่มีขนาดใกล้เคียงกับของจริง ขณะที่ช่างรุ่นเก่าจะใช้ไม้นุ่นซึ่งมีคุณสมบัติน้ำหนักเบา ใช้มีดถากหรือฟันขึ้นรูปหัวสัตว์ตามที่ต้องการ และใช้ขี้เลื่อยผสมกาวในการปั้นหัวสัตว์ แต่เนื่องจากในหมู่บ้านค่อนข้างที่จะหาไม้นุ่นได้ยาก จึงใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ที่หาได้ง่ายในการขึ้นรูป ส่วนวัสดุในการปั้นปัจจุบันได้เปลี่ยนจากปูนซีเมนต์ผสมทรายละเอียดเป็น “ปูนขาว” ใช้ปิดรอยแผ่นยิปซั่มที่หาซื้อได้ตามร้านวัสดุก่อสร้างทั่วไปช่วยให้น้ำหนักหัวสัตว์ลดลง นำปูนขาวผสมน้ำคนให้เป็นเนื้อเดียวกันนำมาปั้นทับตาข่ายลวดให้เป็นรูปวัวตามที่ต้องการ ส่วนลูกตาวัวจะใช้ลูกปิงปอง ติดขนตาให้เหมือนขนตาวัว รวมถึงมีการทำพื้นผิวให้ใกล้เคียงกับลักษณะขนใบหน้าของวัวให้ใกล้เคียงกับของจริงให้ได้มากที่สุด เมื่อปั้นเสร็จแล้วก็รอปูนแห้ง สัก 1 – 2 วันถึงจะลงสีได้ สีที่ใช้เป็นสีน้ำมันลงสีตามสีหัววัว หรือถ้าตัวไหนเจ้าของไม่ได้ระบุสีก็จะระบายสีให้เหมาะสมกับสีของเขาวัว จากนั้นปล่อยทิ้งไว้ให้แห้งสนิทก่อนจะพ่นสเปรย์แลกเกอร์เพิ่มความเงางามทับอีกชั้น 

ช่างประกอบ กล่าวว่า งานปั้นหัวสัตว์เป็นงานละเอียด อาศัยจิตนาการในการปั้น มองแล้วต้องเป็นวัว ยิ่งตัวไหนมีแบบมีรูปภาพยิ่งต้องทำให้เหมือน จะมาปั้นส่งเดชมักง่ายไม่ได้ ต้องปั้นให้เหมือนมีชีวิตจริง ส่วนระยะเวลาในการทำหัวสัตว์ 1 หัว ใช้เวลาประมาณ 15 –30 วัน ปัจจุบันสนนราคารับจ้างปั้นหัววัว หัวละ 2,500 บาท สามารถกำหนดสีสันหรือแบบ ตามที่เจ้าของเขาวัวต้องการได้ สำหรับผู้ที่สนใจงานปั้นหัวสัตว์สามารถโทรสอบถามรายละเอียดได้ที่ ช่างประกอบ โทร. 087-0494-181 นับเป็นงานช่างอีกแขนงหนึ่งที่สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และสืบสานภูมิปัญญาการปั้นหัวสัตว์ของจังหวัดเพชรบุรีให้คงอยู่สืบต่อไป.   

error: ขอสงวนสิทธิ์ ในการคัดลอกบทความ !!