ดัดหลัง

ดัดหลัง เป็นสำนวนที่นักข่าวเอามาพาดหัวในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันจันทร์ที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๕ ความว่า
“๒ ส.ส. ดัดหลัง “ธรรมนัส” แยกตัวหนีไปอยู่ภูมิใจไทย” เหตุที่มาของสำนวนดัดหลัง คงมีความสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ “เกมอัปเปหิ”
(หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๕) อัปเปหิ
หมายถึง ขับไล่ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส. พะเยา เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ พร้อมกับ ส.ส. ร่วมทีมกว่า ๒๐ คน ออกจาก
พรรคพลังประชารัฐ และต้องเตรียมหาพรรคใหม่ให้ทันภายใน ๓๐ วัน
เพื่อไม่ให้พ้นสมาชิกภาพ

             ซึ่ง ร.อ. ธรรมนัส และ ส.ส. ในขบวนที่ถูกขับ ต่างก็ยกโขยงไปสังกัดอยู่พรรคเศรษฐกิจไทยกันหมด ที่มี พล.อ. วิชญ์ เทพหัสดิน
ณ อยุธยา เป็นประธานที่ปรึกษาพรรคพลังประชารัฐ และยังมี พล.ต.อ.
พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชาย พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็น
ที่ปรึกษาพรรค สรุปก็คือยังคงอยู่ในคอกพวกเดียวกันตามเคย

             จะมีก็แต่ นายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พร้อมด้วยบุตรชาย คือ นายวัฒนา ช่างเหลา ที่ไม่เดินตามขบวนไปด้วย
กลับย้ายไปเป็นสมาชิกของพรรคภูมิใจไทยแทน ส.ส. ๒ คนนี้แหละที่สื่อเอามาพาดหัวข่าวว่า ดัดหลัง ธรรมนัส

             ดัด เป็นคำกริยา หมายถึง ทำให้คดหรือตรงตามประสงค์ เช่น
ดัดลวด ดัดไม้ ดัดเหล็ก เราอาจนำคำว่า ดัด ไปใช้เป็นคำนามเรียกสิ่งของอื่น ๆ ที่ผ่านวิธีทำให้ตรงหรือคด เช่น ไม้ดัด เหล็กดัด

             ในอดีต ดัด ยังใช้ได้อีก ๑ ความหมาย คือ ฝึกหัด, อบรม เช่น คำว่า ดัดจริต ความหมายเดิมน่าจะเน้นไปในทางอบรมสั่งสอนกิริยามารยาทให้ดีงาม แต่ปัจจุบันความหมายของคำนี้ได้เปลี่ยนเป็น
ความหมายเชิงลบเสียแล้ว คือ หมายถึง กิริยามารยาทที่แสร้งทำจนเกินควร เช่น

                   เป็นหญิงพาลใจจ้านไม่รู้อาย  คบผู้ชายมากแขกเห็นแปลกหน้า

             ทำชม้อยช้อยชายชำเลืองตา    เล่นหน้าดัดจริตให้พิกล

                                                                                  สุภาษิตสอนสาว

             เรื่องความหมายที่เปลี่ยนไปของคำนี้มีกล่าวไว้ในหนังสือ
บันทึกความรู้ต่าง ๆ ซึ่งเป็นจดหมายโต้ตอบของพระยาอนุมานราชธน
ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศ-
รานุวัดติวงศ์ ลงวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๔๘๒ ความว่า

             “พิสวง ซึ่งแปลว่าทั่วโลก ข้าพระพุทธเจ้าก็เพิ่งทราบเกล้าฯ
พระเดชพระคุณล้นเกล้าฯ คำสํสกฤตและบาลีที่ย้ายความหมายเห็นจะมีมาก เช่น มาลา อาชา ดัษกร หิรัญเทวี คงคา สุดา อาราม
คำ จันฑาล ในภาษามลายูว่าไม่มีความละอาย สกปรกโสมม
ตกถึงไทยหมายความว่าพาลก็มี เช่น จันฑาลหาญทำให้ช้ำนัก
เมื่อไม่นานมานี้มีโรงเรียนผู้หญิงตั้งอยู่แถวบางกระบือ ตั้งชื่อว่าโรงเรียนดัดจริต ผู้ตั้งคงประสงค์จะให้ความหมายว่า ดัดจริตกิริยา
แต่แพ้ความหมายซึ่งย้ายที่มา เป็นทางกิริยาเกินดี อยู่ไม่ช้าก็ต้องเลิกชื่อนี้

             ร่างกายของคนเราก็ดูเหมือนว่าจะมีหลายส่วนที่สามารถดัดได้ เช่น ดัดมือ ดัดแขน ดัดขา ดัดคอ ดัดหลัง การดัดส่วนต่าง ๆ
ของร่างกายยกเว้นตัดขนตา ทำให้นึกไปถึงตำราฤๅษีดัดตน
จากสมุดภาพโคลงฤๅษีดัดตน ของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
ที่ว่าด้วยท่าทางในการดัดตนเพื่อบำบัดอาการและโรคที่เกิดจากธาตุในร่างกายแปรปรวน อาการที่แก้ได้ด้วยท่าดัดหลัง คือ อาการแน่นหน้าอก โคลงบทนี้ระบุว่าแต่งโดย พระสมุห์จั่น ความว่า

                   โคดมมหาราชนี้                  หนวดยาว ยุ่งนา

             นกกระจอกทำรังราว                                กะวะไม้

             แหงนหน้าท่าเรอหาว                                ยืนดัด หลังเอย

             แก้แน่นนาภีได้                           อกด้วยดีเหลือ

             ความหมายโดยตรงของ ดัดหลัง คงเป็นเช่นที่กล่าวมา
ข้างต้น

             ส่วน ดัดหลัง เมื่อนำมาใช้เป็นสำนวนจะหมายถึง พฤติกรรมของคนที่แสดงออกมาให้เห็นว่าไม่ได้เชื่อฟัง จึงทำสวนทางกับ
คำสั่งของเจ้านาย โดยปริยายอาจจะหมายถึง สั่งสอนให้อีกฝ่ายหนึ่ง
ได้รู้ว่าตนเองไม่ได้คล้อยตามทุกเรื่องเสมอไป คนที่ถูกดัดหลังก็จะออกอาการเสียหน้าอยู่ไม่น้อย เพราะไม่สามารถควบคุมผู้ใต้บังคับบัญชาได้ ว่าไปดัดหลังก็จะคล้าย ๆ กับ หักหลัง หมายถึง ไม่ทำตามที่ได้ตกลงกันไว้

                 สำหรับกรณีนี้คิดว่าคนที่ถูกดัดหลังอย่าง ร.อ. ธรรมนัส
คงไม่ยี่หระกับคนแตกแถวเหล่านี้หรอก ห่วงก็แต่คนที่ ร.อ. ธรรมนัสเดินจากมาจะอยู่ไม่เป็นสุข แม้จะคิดกำจัดหอกข้างแคร่ไปได้แล้วก็ตาม และอย่าลืมว่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่ผ่านมาของ ร.อ. ธรรมนัส
มักจะสร้างความฮือฮาน่าตื่นเต้นอยู่ตลอดไม่หมดความนิยมจริง ๆ อาจจะมีแค้นนี้ต้องชำระก็ได้ รอดู

error: ขอสงวนสิทธิ์ ในการคัดลอกบทความ !!