ดีดลูกคิด

ข่าวเปิดตัวหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร “อุ๊งอิ๊ง” บุตรสาวคนเล็กของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในกิจกรรมรับสมาชิกร่วมต่อสู้ในการเลือกตั้งใหม่ ตอกย้ำถึงการกลับมาของ “ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น” ดูจะเป็นที่จับตาให้สื่อต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างออกรสว่า “อุ๊งอิ๊ง” กลับมาอยู่ในตำแหน่งใดในพรรค เพราะขนาด นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เป็นถึงหัวหน้าพรรคมีอายุแก่คราวพ่อยังต้องโค้งคำนับให้ มีภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวเป็นข่าวอยู่ไปตามดูกันเอา

             แต่ก็เอาเถิดไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใดของครอบครัวเพื่อไทย
เกมตีไพ่ “อุ๊งอิ๊ง” ยังต้องดีดลูกคิดคำนวณกันอีกหลายตลบ
(หนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2565)

             ข้อความดังกล่าวปรากฏสำนวนว่า ดีดลูกคิด บริบทที่นำมาใช้ข้างต้นสื่อนัยว่า การดีดลูกคิด คือ ต้องคิดให้ดี คิดหน้าคิดหลังให้รอบคอบ สอนไม่ให้ประมาท คิดก่อนทำอย่าใจร้อน โดยปริยายหมายถึง คำนวณผลได้ผลเสียที่จะเกิดขึ้นอย่างละเอียดก่อนจะตัดสินใจทำอะไรลงไป

             ลูกคิด เป็นคำประสม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
พ.ศ. 2554 นิยามความหมายว่า น. เครื่องคำนวณเลขของจีน
ทำด้วยไม้เป็นต้น เป็นลูกกลม ๆ ร้อยใส่ไว้ในราง การดีดลูกคิด
โดยนัยหมายถึง การคิดคำนวณกำไร ขาดทุน ที่ได้จากการค้า

             ส่วนที่มีการเติมคำว่า ในรางแก้ว ต่อท้ายเป็น ดีดลูกคิดใน
รางแก้ว ในหนังสือสำนวนไทย จัดพิมพ์โดยสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2553 อธิบายว่า การนำคำว่ารางแก้วมาใช้เปรียบอีกชั้นหนึ่ง อาจจะต้องการให้หมายถึง การค้าที่ให้ผลกำไรมากเป็นพิเศษ เพราะผู้ค้าใช้ลูกคิดรางแก้วซึ่งไม่ใช่ลูกคิดที่ใช้กันทั่วไป

             จากความหมายของสำนวน ดีดลูกคิดในรางแก้ว ก็ดูจะยักเยื้องไปจากสำนวนดีดลูกคิดที่กล่าวข้างต้น เพราะการดีดลูกคิดในรางแก้ว คือ การคำนวณอย่างรอบคอบแล้วเห็นแต่ทางได้ถ่ายเดียว
(พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554)

             ดีด เป็นคำกริยาที่ใช้กับลูกคิด คือ สะบัดนิ้วออกไปโดยแรงเพื่อให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งหลุดจากที่หรือเคลื่อนออกไป (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554) ซึ่งต้องใช้ทั้งนิ้วชี้ นิ้วหัวแม่มือ และนิ้วกลางเวลาดีดลูกคิด คนดีดจึงต้องมีความชำนาญในการจำหลักของเลขต่าง ๆ ที่แม่นยำ และยังต้องเข้าใจความหมายของคำที่ใช้ร่วมกับการดีด เช่น ให้ ทด ถอน และยืม

             ในวรรณคดีที่แปลจากพงศาวดารจีนเรื่องชิดก๊กไซ่ฮั่น กล่าวถึง
ฮั่นสินผู้ได้ดีจากการดีดลูกคิด เพียงแค่ดูความกว้างยาวและความสูง
ของฉางข้าวแล้วดีดลูกคิดก็จะทราบปริมาณของข้าวที่บรรจุอยู่
ในฉางนั้นทันที ความว่า

             ฮั่นสินได้ฟังคิดน้อยใจ ครั้นจะขัดรับสั่งก็กลัวด้วยพึ่งเข้ามาอยู่เป็นคนใหม่ จำใจไปดูการให้วัดฉางกว้างยาวสูงแล้วจับลูกคิดดีดดูก็รู้ว่าข้าวมีอยู่เท่านั้น ถูกกับจำนวนขึ้นฉาง ผู้เฝ้าฉางเห็นฮั่นสินมีสติปัญญาก็เข้าไปคำนับแล้วว่า แต่ข้าพเจ้าเฝ้าฉางยังไม่เห็นผู้ใดที่จะสันทัดดีดลูกคิดเหมือนท่าน ฮั่นสินได้ฟังก็หัวเราะแล้วว่าทำไมกับการเช่นนั้นเล่า ถึงจะมากกว่าหมื่นพันเราก็ทำได้                                         การที่ “อุ๊งอิ๊ง” จะต้องดีดลูกคิดอีกหลายตลบใช่อื่นใด เพราะการเล่นเกมการเมืองไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งเป็นถึงทายาทสายตรงของ พ่อ
และ อา อดีตนายกรัฐมนตรีทั้งคู่ ก็ยิ่งจะทำงานยากเข้าไปอีก ทั้งนี้ข่าวยังวิเคราะห์สถานการณ์ของการเปิดตัว “อุ๊งอิ๊ง” ในครั้งนี้ได้อย่างน่าสนใจว่า

             “…ที่แน่ ๆ คนที่กระทบหนักสุดไม่ใช่ขั้วตรงข้ามอย่างขุมอำนาจ 3 ป. และไม่ใช่แนวร่วมทีมเด็กค่ายอนาคตใหม่ ตามยุทธการแห่กระแส “อุ๊งอิ๊ง” ของนายห้างดูไบ มันฟาดหางเต็ม ๆใส่ “เจ๊หน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่กำลังปลุกปั่นค่ายไทยสร้างไทย

          ภายใต้สภาพการณ์ที่ยัง “สลัดคราบ” ไม่หลุดจากการแตกแบงก์นายห้างดูไบ โดยเฉพาะทีมงานอดีต ส.ส. ในทีมของเจ้าแม่เมืองกรุงเกือบทั้งหมดก็ยังนัวเนีย ๆ เคลียร์ไม่ชัด “คาบเกี่ยว”
ทับซ้อนอยู่กับยี่ห้อเพื่อไทย
…” (หนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2565)

                ต่อจากนี้คงต้องติดตามกันไปเรื่อย ๆ ว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นบ้างในครอบครัวเพื่อไทย เพราะหลายคนดูจะจับจ้อง อุ๊งอิ๊ง” ว่าเป็นมือใหม่หัดขับอาจตกเป็นเหยื่อล่อเสือล่อจระเข้จนอาจต้องรับชะตากรรมให้อยู่ไกลบ้านอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับคนในครอบครัวมาแล้ว เว้นแต่ อุ๊งอิ๊ง” จะทำตัวเป็นร่างทรงคอยให้มีใครมาประทับก็เท่านั้น

error: ขอสงวนสิทธิ์ ในการคัดลอกบทความ !!