ตาลดวด​ คือ​ ตาลแบบไหน

นายเจียม​ อำแดงน้อย มีตาล​ 100​ ต้น ทำได้​ 50​ ต้น ดวด​ 25​ ต้น พิรุธ​ 25​ ต้น โคผู้​ 3 โคนาง​ 3

             ข้อความเอกสารบัญชีตาลและโค ของนายเจียม​ อำแดงน้อย​ ในสมุดข่อยที่ผู้ใหญ่จิ๋ว​ บ้านระหารน้อย​ ลงบัญชีไว้เมื่อร้อยกว่าปีก่อน​ สำหรับเรียกเก็บภาษี​อากร​ที่นายเจียม​ อำแดงน้อย​ จะได้ผลจากการทำตาล

             ผู้ใหญ่จิ๋วเป็นบรรพบุรุษรุ่นทวดของพี่สุทิน ทองไทย ​ บ้านระหาร-
น้อย ที่กรุณาให้ถ่ายสำเนาเอกสารมาอ่าน

             จากข้อมูลแสดงว่าภาษีตาลในยุคหนึ่งนับตามจำนวนต้นตาลที่ขึ้นได้

             นายเจียมมีตาล​ 100​ ต้น​ ก็จริง​ แต่ทำได้เพีย​ง​ 50​ ต้น​ ที่เหลือ​ ดวด​ 25​ และพิรุธ​ 25

             ดังนั้นภาษีตาลที่นายเจียมจะต้องชำระก็คือ​ 50​ ต้น

             ทำได้​ คือ​ ตาลที่เจริญเติบโตสามารถให้น้ำตาล​ขึ้นไปทำน้ำตาลได้แล้ว

             พิรุธ​ น่าจะหมายถึงตาลที่ให้น้ำตาลไม่ดี​ หรือไม่ให้น้ำตาล​
ทำไปเสียแรงเปล่า​ เพราะ​พิรุธ​ หมายถึง​ ผิดปกติ​ ตาลพิรุธจึงน่าจะหมายถึง
ตาลที่ผิดปกติไปจากตาลทำได้

             ส่วน​ ตาลดวด​ คือตาลที่สูงมาก​ สูงจนเกินขึ้น​ หรือขึ้นแล้วเหนื่อยมาก​ อันตราย​ แม้จะยังให้น้ำตาลอยู่​ แต่ก็ไม่คุ้มขึ้น​ คนขึ้นตาลจึงเลือกขึ้นต้นอื่นที่มีอยู่มากกว่า

             โดยปกติคนขึ้นตาลใช้พะองเป็นเครื่องมือทุ่นแรงในการขึ้นตาล​ หากมีพะองปะต้นตาลก็ปีนป่ายขึ้นไปได้โดยสะดวก​ ไม่ต้องเกียกหรือโอบตั้งแต่โคนต้นขึ้นไป

             พะองทำจากไม้ไผ่ป่าตัดแต่งแขนงไว้สำหรับปี​น​ พะองลำหนึ่งยาว​
สี่ถึงห้าวา​ ต้นตาลที่สูงหนึ่งชั่วพะองกำลังเหมาะกับการปีน แต่ถ้าสูงเกินหนึ่ง
ชั่วพะอง​ พอพ้นพะองก็โอบขึ้นต่อจนถึงคอคือโคนก้านที่ติดกับลำต้น

             หากต้นตาลสูงถึงระยะที่จะปะพะองต่อกันได้สองลำคือสูงสองชั่วพะอง​ คนขึ้นตาลก็จะปะพะองต่อกัน​ นับความสูงเป็นสองชั่วพะอง

             สองชั่วพะองเป็นความสูงมาตรฐาน อาจมีคนปะถึงสามชั่ว​ แต่ก็เป็นส่วนน้อย​ ตาลสูงมาก​ ๆ​ จึงปล่อยทิ้งไว้​ไม่ได้ขึ้น​ นับเป็นตาลดวด​ ไม่นับรวมในจำนวนตาลที่ต้องจ่ายภาษี

ดวด เป็นคำโบราณ โดยชนิดของคำเป็นคำวิเศษณ์ แปลว่า
สูง น่าจะแผลงมาจาก โดด

             คำเขมร ใช้ ฎัวจ แปลว่า สูงลิบ              

             ดวด​ ยังใช้กับมะพร้าวและหมากสูง​ ๆ​ เรียก​ มะพร้าวดวด​
หมากดวด

             ภาษาถิ่นอีสานเรียกหินที่เป็นแท่งสูงว่า​ หินดวด​ ดูแล้ว
ความหมายใกล้กับ​ ตาลดวด​ มะพร้าวดวด

             บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ของสำนักงาน
ราชบัณฑิตยสภา ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียง
แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2557 เวลา
7.00-7.30 น. อธิบายคำว่าดวด ไว้ว่า

          “ดวจ-ดวด

          คำที่ออกเสียง [ดวด] เขียนได้ 2 แบบ คำแรกเขียน ดวจ มาจากคำว่า ดุจ แปลว่า เหมือน คล้าย เพียง ราวกะ มักใช้ในการแต่งคำประพันธ์ ไม่พบในการใช้แบบปรกติทั่วไป

คำที่ 2 เขียน ดวด มีหลายความหมาย

          ความหมายแรก เป็นชื่อการเล่นชนิดหนึ่ง มีอุปกรณ์ คือเบี้ยและกระดาน วิธีการเล่นใช้เบี้ยทอดและเดินแต้มไปตามตาของ
กระดาน เบี้ยที่ทอด 5 ตัว ถ้าหงาย 1 ตัว เรียกว่า ดวด กระดานที่ใช้เล่น เรียกกระดานดวด. ดวด 

          ความหมายที่ 2 แปลว่าดื่มทีเดียวหมด มักใช้กับการดื่มเหล้า เช่น วันนี้เขานั่งดวดเหล้าอยู่คนเดียว.

          ความหมายที่ 3 แปลว่า เดี่ยว หนึ่ง หรือทีเดียว เช่น พอฉันรู้ว่าเพื่อนมากรุงเทพฯ ก็รีบดวดไปหาทันที.ดวด 

          ความหมายที่ 4 แปลว่า สูง อาจแผลงมาจากคำว่า โดด เช่น
มะพร้าวดวด หมากดวด หมายถึง ต้นมะพร้าวสูง ต้นหมากสูง
ความหมายนี้ปัจจุบันยังมีใช้ในภาษาถิ่นบางถิ่น เช่น ภาษาไทยถิ่นอีสาน
มีคำว่า เสาดวด หมายถึง เสาสูง”

             คนสูง ๆ​ นั้นไม่เรียกกันว่า​ คนดวด​ แต่ดวดที่ใช้กับคน คือ​
การดื่มทีเดียวหมด​ หรือรวดเดียวหมด​ นิยมใช้กับการดื่มสุรา

error: ขอสงวนสิทธิ์ ในการคัดลอกบทความ !!