


ช่วงนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีกำลังมีโครงการศึกษาข้อมูลทวารวดีในจังหวัดเพชรบุรีอยู่ ผมเองไปมีส่วนพัวพันเกี่ยวข้องกับทีมศึกษาข้อมูลทวารวดีของมหาวิทยาลัยอยู่บ้าง แต่ไม่ค่อยได้มีเวลาลงพื้นที่สำรวจกับเขา นาน ๆ จึงจะได้เข้าประชุมกับทีมคราวหนึ่ง แต่ก็ได้พยายามแสดงความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยอยู่เนือง ๆ
เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 พอประชุมเสร็จ อาจารย์ ดร.วิฑูรย์ คุ้มหอม ชวนไปลงพื้นที่ดูเนินสถูปสมัยทวารวดีที่บ้านโพธิ์ใหญ่ เมื่อไปถึง
ที่นั่นเราพบเนินสถูปขนาดใหญ่ ลักษณะเป็นเนินอิฐสี่เหลี่ยม มีต้นไม้สูงคลุม บนเนินมีการตั้งพระพุทธรูปและศาลเจ้าซึ่งเป็นแหล่งความเชื่อทางศาสนาในยุคปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนพระพักตร์พระพุทธรูป หินบด หินดุ
และเศษภาชนะสมัยทวารวดีที่เนินแห่งนั้น
และเรายังได้ไปวัดเสาธงเรียง ซึ่งเป็นแหล่งที่พบชิ้นส่วนอิฐ
ขนาดใหญ่กระจายอยู่เป็นบริเวณกว้าง และพบหินบดสมัยทวารวดีที่นี่
สันนิษฐานว่าบริเวณบ้านโพธิ์ใหญ่และพื้นที่ใกล้เคียงเป็น
ชุมชนทวารวดีที่สำคัญเพราะพบโบราณสถานที่เป็นเนินสถูปหลาย
แห่ง เช่นทั้ง 2 แห่ง ที่เราไปสำรวจมา และยังมีเนินโพธิ์ใหญ่ที่ถนน
สายบ้านลาดตัดผ่านไปอีก เมื่อผ่านจุดนั้นจะเห็นว่ารถต้องวิ่งข้ามเนิน
สูงอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังพบโกลนหินพระพุทธรูปสมัยทวารวดีประดิษฐานอยู่ที่วัดป่าแป่นใกล้กัน เมื่อดูแผนที่ใน Google map
จะเห็นว่าพื้นที่ของบริเวณนั้นมีลักษณะเป็นรูปเกือบกลม ตามลักษณะที่พบส่วนใหญ่ของเมืองโบราณสมัยทวารวดี โดยมีแนวด้านทิศใต้เป็นแม่น้ำเพชรบุรี
ในด้านทิศใต้นี้เมื่อข้ามฝั่งแม่น้ำมาก็จะเป็นบ้านสมอพลือ ซึ่งเป็น
นิคมพราหมณ์มาตั้งแต่สมัยโบราณ บริเวณนี้เคยพบชิ้นส่วนหินบด
เช่นกัน ถัดจากบ้านสมอพลือลงมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้หน่อยหนึ่ง
ก็จะเป็นเขาทะโมนซึ่งเป็นเขาลูกโดดและพบเนินสถูปสมัยทวารวดี
ที่นี่เช่นเดียวกัน ถือเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของย่านนี้อีกหนึ่งแห่ง



และถ้าเชื่อมเส้นทางไปยังพื้นที่ด้านใต้ลงไป พบหลักฐานปูนปั้นสมัยทวารวดีที่ถ้ำยายจูงหลาน เขาน้อย ในเขตตำบลถ้ำรงค์ ในพื้นที่อำเภอบ้านลาดจึงพบหลักฐานสมัยทวารวดีปรากฏอยู่ถึง 4 ตำบล ได้แก่ บ้านลาด สมอพลือ ท่าเสน ถ้ำรงค์ นับเป็นอำเภอที่พบหลักฐานสมัยทวารวดีอยู่มาก
ผู้คน ชุมชน สมัยทวารวดี ที่ตั้งบ้านเรือนกันอยู่ในบริเวณโพธิ์ใหญ่
คงจะเป็นกลุ่มที่พัฒนาสืบเนื่องมาเป็นชาวเมืองเพชรบุรีในช่วงอู่ทอง
และอยุธยาตอนต้นต่อมา ดั่งที่ได้พบสถูปเจดีย์ขนาดใหญ่ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่าเจดีย์แดงที่บ้านไร่พะเนียด สถูปองค์นี้มีลักษณะคล้ายกันกับสถูปวัดพระแก้ว เมืองสรรค์บุรีชัยนาท ซึ่งเป็นศิลปะช่วงก่อนกรุงศรีอยุธยา
ที่เรียกกันว่ายุคอู่ทอง
และในช่วงใกล้เคียงกันนี้จึงได้มีการขยับลงไปตั้งบ้านเมืองกันใหม่ในบริเวณที่เป็นเมืองเพชรบุรีในปัจจุบันโดยมีวัดกำแพงแลงเป็นศูนย์กลางเมือง และตั้งเมืองอยู่ในจุดนี้สืบมาจนถึงปัจจุบัน
เมืองโบราณทวารวดีที่โพธิ์ใหญ่ เจดีย์อู่ทองที่ไร่พะเนียด
พระปรางค์วัดกำแพงแลง และพระปรางค์มหาธาตุกลางเมืองเพชรบุรี
ล้วนแล้วแต่เป็นหมุดหมายศูนย์กลางชุมชนต้นทางของเพชรบุรี
ที่มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องและค่อย ๆ ขยับที่มั่นเรื่อยมา แต่ไม่ได้
ห่างไกลกันมาก และยังคงอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับแม่น้ำเพชรบุรี
ตลอดมา