บทบาท‘โรงพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี’ กับการช่วยเหลือและให้บริการในสถานการณ์โควิด-19 โรงพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ในห้วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 2019

(COVID-19) ได้มีบทบาทมากมายในการช่วยเหลือผู้ป่วยติดเชื้อ และเป็นสถานที่ให้บริการฉีดวัคซีนแก่ผู้ลงทะเบียนตามระบบวันละจำนวนมาก ทั้งยังต้องรับผิดชอบดูแลผู้ป่วยนอก-ผู้ป่วยในที่เข้ารับบริการตามภาวะปกติที่มีอยู่จำนวนมากขณะเดียวกันก็มีผู้มีจิตเป็นกุศลหลั่งไหลมาร่วมบริจาคเงินและอุปกรณ์ทางการแพทย์สนับสนุนช่วยเหลือการปฏิบัติหน้าที่ของคณะแพทย์-พยาบาลเจ้าหน้าที่ และบุคลากรทางการแพทย์ทุกฝ่ายทุกแผนกที่ต้องทำงานหนักอย่างมากในห้วงเวลานี้

นพ.เกรียงศักดิ์ คำอิ่ม ผอ.รพ.พระจอมเกล้าฯ ให้เกียรติตอบคำสัมภาษณ์ “เพชรภูมิ” ถึงการทำหน้าที่ของทุกฝ่ายในโรงพยาบาลฯ และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ กอง บก.เพชรภูมิ ขอขอบพระคุณ “ผอ.เกรียงศักดิ์” มา ณ โอกาสนี้

: มองภาพรวมของผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้ามารับบริการที่โรงพยาบาลพระจอมเกล้าฯ ขณะนี้อย่างไร ?

ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในจังหวัดเพชรบุรี มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง เดิมจากจำนวนหลายร้อยถึงพันกว่ารายต่อวัน ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 100 รายและต่ำกว่า 100 รายต่อวัน ซึ่งต้องขอขอบคุณพี่น้องชาวจังหวัดเพชรบุรีและทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกัน อดทน จนเราผ่านวิกฤตมาได้ แต่อย่างไรก็ตามเราพบว่าผู้ป่วยอาการหนักและรุนแรงมีอัตราส่วนในจำนวนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ โรคเรื้อรัง โรคอ้วน กลุ่มเด็ก รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งจากเดิมการแพร่ระบาดจะเป็นผู้ป่วยวัยแรงงาน แต่ขณะนี้เป็นผู้ป่วยกลุ่มที่อยู่บ้าน ผู้สูงอายุ และเด็ก

โรงพยาบาลพระจอมเกล้าฯ ได้มีการปรับขยายหอผู้ป่วยและห้องไอซียู เพื่อดูแลกลุ่มผู้ป่วยหนักที่เป็นกลุ่มสีเหลืองถึงสีแดงให้มากขึ้น ซึ่งต้องรับผู้ป่วยกลุ่มนี้จากโรงพยาบาลชุมชนทั้ง 7 อำเภอ 

เราได้มีการบริหารจัดการเตียงในภาพจังหวัด โดยร่วมมือกับโรงพยาบาลชุมชนทั้ง 7 แห่ง เป็น “One Province One Covid-19 hospital” เป็นเตียงรวมจำนวน 403 เตียง ที่สามารถรองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและแดง และมีโรงพยาบาลสนาม Hospitel อีก 2,031 เตียง รวมทั้งหมด 2,434 เตียง ซึ่งเพียงพอต่อการดูแลผู้ป่วยทุกกลุ่มในจังหวัดเพชรบุรี  

: การให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของโรงพยาบาลพระจอมเกล้าฯที่ผ่านมา มีปัญหาอุปสรรคหรือความไม่เข้าใจของผู้รับบริการบ้างหรือไม่ ? ถ้ามีเป็นประเด็นใด ?

สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเขตอำเภอเมือง มีเป้าหมาย 105,719 ราย ฉีดไปแล้ว 63,393 ราย คิดเป็น 59.96 % โรงพยาบาลพระจอมเกล้าฯสามารถให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ประมาณ 1,700–2,000 คน/วัน และถึงวันที่ 26 ส.ค.64 ได้ให้บริการฉีดวัคซีน เข็ม 1 จำนวน 40,246 ราย, เข็ม 2 จำนวน 14,386 ราย และเข็ม 3 จำนวน 1,502 ราย (บุคลากรทางการแพทย์และด่านหน้า)

ส่วนปัญหาอุปสรรคที่ผ่านมาประมวลได้ดังนี้

1. การลงทะเบียนของกลุ่ม 607 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง) ที่จองผ่านระบบหมอพร้อมและจองผ่านระบบ Internet online เป็นปัญหาของกลุ่ม 607 ทำให้ยอดลงทะเบียนจองน้อย เราได้แก้ปัญหาโดยการให้จองผ่าน อสม., รพ.สต. และ รพ.พระจอมเกล้าฯโดยตรง

2. ความไม่เข้าใจ โดยเฉพาะความกลัว กลัวว่าฉีดแล้วจะเกิดผลข้างเคียงและอันตรายต่อชีวิต จากการดูข่าวต่าง ๆ แต่ในความเป็นจริงวัคซีนทุกชนิดเป็นวัคซีนฉุกเฉิน อาจมีผลข้างเคียงบ้าง แต่ประโยชน์มีมากกว่า ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ยอมรับแล้วว่ามีความปลอดภัยสูง สามารถใช้ได้และมีประโยชน์ในการป้องกันความรุนแรงของโรคอย่างมีประสิทธิภาพ

3. วัคซีนมีหลายชนิด แต่อยากได้วัคซีนที่ดีที่สุด ทำให้ประชาชนสับสนและเกิดความไม่แน่ใจ ปฏิเสธการฉีดวัคซีนหลัก ซึ่งในปัจจุบันจังหวัดเพชรบุรีได้ใช้สูตรไขว้ เข็ม 1 Sinovac, เข็ม 2 AstraZeneca (ฉีดห่างกัน 3 สัปดาห์) เป็นสูตรหลัก ซึ่งถือว่าที่มีประสิทธิภาพดี ระดับภูมิคุ้มกันสูงและภูมิคุ้มกันขึ้นได้เร็ว

4. ความสับสนในกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งมีหลายคนอยากได้วัคซีนก่อน ซึ่งตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุขจะแบ่งออกเป็น 7 กลุ่มเป้าหมาย คือ 1.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า 2.ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 3.ผู้ที่มีโรคประจำตัว 4.เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 5.ประชาชนทั่วไป
6.หญิงตั้งครรภ์ 7.อื่น ๆ ซึ่งในช่วงแรกจะเน้นบุคลากรทางการแพทย์และด่านหน้าเป็นหลัก ต่อมาเป็นกลุ่มสูงอายุและโรคเรื้อรัง จากนั้นจะเป็นประชาชนทั่วไปและกลุ่มอื่น ๆ ตามลำดับ

5. การเรียกตามคิวในระบบนัด ที่จะลงทะเบียนทั้งระบบหมอพร้อมและที่โรงพยาบาล เนื่องจากวัคซีนที่ได้รับจัดสรรในช่วงแรก ๆ มีจำนวนจำกัด ทำให้มีการบริหารจัดการลำบาก การเรียกตามคิว อาจทำให้ประชาชนสับสนได้

6. การเดินทางของผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ป่วยที่ติดบ้านติดเตียง ซึ่งลำบากไม่สามารถเข้ามารับบริการได้ ขณะนี้โรงพยาบาลพระจอมเกล้า และ รพ.สต. ได้วางแผนจะนำวัคซีนลงไปที่ รพ.สต. และที่บ้านสำหรับกลุ่มที่เดินทางลำบาก ในช่วงนี้ขอเชิญชวนให้กลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มโรคเรื้อรังได้เข้ามาฉีดวัคซีนให้มาก ๆ กลุ่มประชาชนทั่วไปขอให้ใจเย็น ๆ เข้ามาลงทะเบียนไว้ตามระบบ โรงพยาบาลฯจะรีบบริหารจัดการฉีดวัคซีนให้ทุกท่านเต็มที่ ตามจำนวนที่ได้รับจัดสรรอย่างทั่วถึงแน่นอนครับ โปรดติดตามข้อมูลข่าวสารทาง Facebook : โรงพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี ทางสถานีวิทยุกระจายเสียง และหอกระจายเสียงของหมู่บ้าน

: คณะแพทย์-พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลพระจอมเกล้าฯ ในห้วงโควิดระบาดมานานกว่า 1 ปี มีความเหน็ดเหนื่อยมากน้อยขนาดไหน ? ทุกท่านต้องปฏิบัติตนอย่างไรในการป้องกันตัวเองและครอบครัวมิให้ติดเชื้อระบาดของโควิด-19 ?

ทีมของโรงพยาบาลพระจอมเกล้าฯทุกคน ทั้งหน่วยปฏิบัติการและหน่วยกำลังสนับสนุน ได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจทำงานเพื่อต่อสู้กับวิกฤตนี้อย่างเต็มที่ เต็มกำลัง ภายใต้ทรัพยากรอันจำกัด ซึ่งต้องแบ่งกำลังออกเป็น 6 ส่วน คือ 1.ทีมกำลังพลในการดูแลผู้ป่วยปกติทั่วไป ทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน 2.ทีมกำลังพลดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการหนักในโรงพยาบาล 3.ทีมกำลังพลดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่โรงพยาบาลสนาม 4.ทีมกำลังพลการค้นหา คัดกรองผู้ป่วย สอบสวนโรค Swab 5.ทีมกำลังพลการให้บริการฉีดวัคซีน 6.กำลังพลดูแลผู้ป่วย Home Isolation และ Community Isolation และเรายังส่งทีมไปช่วยจังหวัดอื่น ๆ ที่วิกฤตหนักอีกด้วย ทำให้ทุกคนต้องทำงานหนักขึ้นกว่าเดิมอีกหลายเท่าตัว โดยเฉพาะที่ดูแลผู้ป่วย ต้องใส่ชุดป้องกันการติดเชื้อ (PPE) ทั้งร้อนและลำบาก หลังทำงานต้องแยกตัวเอง แยกกันรับประทานอาหาร กินนอนไม่เป็นเวลา และยังต้องแยกกักตัวออกจากครอบครัวอันเป็นที่รัก ไม่ได้กลับบ้านเพื่อป้องกันไม่ให้นำเชื้อไปแพร่กระจายสู่ครอบครัว การทำงานที่อยู่ในภาวะเสี่ยงตลอดเวลา จำเป็นต้องมีวินัย ถือกฎการป้องกันอย่างเคร่งครัด ทำให้เจ้าหน้าที่ที่ดูแลผู้ป่วยไม่มีใครติดเชื้อจากการทำงานเลยในช่วงที่ผ่านมา แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ ทุกคนทำงานหนัก แม้จะมีความเหน็ดเหนื่อยมากเพียงใด พวกเขาเหล่านั้นได้แสดงให้เห็นว่าทุกชีวิตของผู้ป่วยคือพลังที่ทำให้พวกเขามีพลังกายและมีพลังใจ ที่จะทำหน้าที่อย่างสุดแรงสามารถ ด้วยหวังว่าในไม่ช้าผู้ป่วยทุกคนจะได้กลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ

: โรงพยาบาลพระจอมเกล้าฯเป็นโรงพยาบาลใหญ่ แต่ละวันมีผู้มาเข้ารับบริการจำนวนมาก มีมาตรการอย่างไรที่จะป้องกันมิให้ผู้ป่วย-ญาติผู้ป่วย-และผู้มาเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลติดเชื้อโควิด-19 หรือนำเชื้อโควิดเข้ามาระบาดในโรงพยาบาล ?

เนื่องจากคาดว่าเราต้องอยู่กับโควิด-19 ไปอีกประมาณ 1-2 ปี โรงพยาบาลพระจอมเกล้าฯ จึงต้องมีการปรับตัวและเตรียมพร้อมให้เป็นโรงพยาบาลวิถีใหม่ เพื่อความปลอดภัยของผู้รับบริการและเจ้าหน้าที่ โดยมีมาตรการป้องกัน ดังนี้ 1. บริหารจัดการการเข้า-ออก และการใช้พื้นที่ในโรงพยาบาล  2.ทำการคัดกรองผู้รับบริการและเจ้าหน้าที่ทุกคนก่อนเข้าภายในอาคารทุกหลัง โดยไม่มีข้อยกเว้น 3.บริหารเส้นทางสำหรับผู้มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ 4.เพิ่มความปลอดภัยของผู้รับบริการผู้ป่วยใน งดเยี่ยม อนุญาตให้มีผู้ดูแลผู้ป่วยเพียง 1 ท่าน 5.เตรียมความพร้อมกรณีพบผู้ป่วยต้องสงสัย 6. บริหารจัดการบุคลากรโรงพยาบาลที่สัมผัสและใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง 7.จัดบริการส่งยาทางไปรษณีย์ และรับยาใกล้บ้าน ลดการแออัดในโรงพยาบาล

: ทราบว่าที่ผ่านมามีผู้บริจาคทั้งเงินและอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อป้องกันและรักษาโรคโควิด-19 ให้แก่โรงพยาบาลพระจอมเกล้าฯจำนวนมาก ขณะนี้เพียงพอหรือไม่ ? ยังต้องการอะไรอีกหรือไม่ที่ผู้มีจิตเป็นกุศลสามารถร่วมด้วยช่วยกัน ?

ขอกราบขอบพระคุณน้ำใจจากพี่น้องชาวเพชรบุรีและพี่น้องชาวไทยจากหลายจังหวัดทั่วสารทิศที่หลั่งไหลเข้ามาช่วยในยามวิกฤตนี้อย่างไม่ขาดสาย ทำให้เราทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เรามีอุปกรณ์ เครื่องมือทางการแพทย์ ชุดป้องกันต่าง ๆ อาหารและน้ำดื่ม อย่างเพียงพอทันการ มีการบริจาคเงินเพื่อนำมาปรับปรุงห้องไอซียูโควิด, ห้องปฏิบัติการหาเชื้อโควิด-19, หอผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 134 เตียง  เครื่องมือแพทย์อุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น เครื่องช่วยหายใจ เครื่องให้ออกซิเจนแรงดันสูง เครื่องเอกซเรย์ดิจิตอลแบบเคลื่อนที่ เครื่องติดตามการทำงานของหัวใจแบบศูนย์รวม เป็นต้น

และขณะนี้โรงพยาบาลฯกำลังเตรียมโครงการจัดหางบประมาณ จัดหารถ X-Ray เคลื่อนที่ มูลค่ากว่า 8.5 ล้านบาท ซึ่งจังหวัดเรายังไม่มี เป็นเครื่องมือสำคัญในการคัดกรองผู้ป่วยเชิงรุกเพิ่มโอกาสให้พี่น้องชาวเพชรบุรีเข้าถึงการรักษาและรอดชีวิตได้มากขึ้น

: ต้องการขอบคุณผู้ให้การสนับสนุนช่วยเหลือในสถานการณ์โควิด-19 นี้อย่างไรบ้างหรือไม่ ?

โรงพยาบาลพระจอมเกล้าฯ ต้องขอขอบพระคุณประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ ที่ช่วยกันสนับสนุนช่วยเหลือในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นการร่วมมือกันอย่างมีพลัง ขอบคุณท่านผู้ว่าราชการจังหวัด, รองผู้ว่าราชการจังหวัด, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, ภาคสังคม, ภาคประชาชนทุกภาคส่วน โดยเฉพาะพี่น้องสื่อมวลชนนอกจากได้ช่วยเหลือบริจาคแล้ว ยังได้ช่วยกระจายข่าว สื่อสารกับประชาชนให้ได้ทราบข่าวเป็นระยะ ๆ อย่างรวดเร็วและทันการสุดท้ายนี้ คณะเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี ทีมแพทย์ พยาบาล ขอขอบคุณจากใจและขอรับความปรารถนาดี อันเป็นกัลยาณมิตรนี้ด้วยความซาบซึ้งใจอย่างยิ่ง เราจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกันครับ.

…แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ ทุกคนทำงานหนัก แม้จะมีความเหน็ดเหนื่อยมากเพียงใด พวกเขาเหล่านั้นได้แสดงให้เห็นว่าทุกชีวิตของผู้ป่วยคือพลังที่ทำให้พวกเขามีพลังกายและมีพลังใจที่จะทำหน้าที่อย่างสุดแรงสามารถ ด้วยหวังว่าในไม่ช้าผู้ป่วยทุกคนจะได้กลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ…

error: ขอสงวนสิทธิ์ ในการคัดลอกบทความ !!