


วันที่ ๒๖ มิถุนายนของทุกปีเป็น “วันสุนทรภู่” ทาง คณะกรรมการดำเนินโครงการวันสุนทรภู่ วัดพลับพลาชัย จ.เพชรบุรี นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์แสนประเสริฐ ปานเนียม อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ในฐานะประธานดำเนินกิจกรรมตามรอยสุนทรภู่ โครงการวันสุนทรภู่ วัดพลับพลาชัย ได้จัดงานตามรอยสุนทรภู่ในรูปแบบออนไลน์ เนื่องในปีนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ ยังมีผู้ติดเชื้อโควิดอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการฉีดวัคซีนต้านโควิดให้ประชาชนคนไทยรวมถึง คนเพชรบุรีแล้วก็ตาม แต่เพื่อไม่ให้มีการรวมตัวของผู้ร่วมงานมาก จากเดิมที่แต่ละปีจะมีการเชิญชวนคณะครูและนักเรียนโรงเรียนต่าง ๆ มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ทางคณะกรรมการฯ จึงเห็นสมควรว่า จัดกิจกรรมตามรอยสุนทรภู่ผ่าน ช่องทางสื่อออนไลน์ ไลฟ์สดผ่านเพจเฟซบุ๊ก “เพชรภูมิ ฮอตนิวส์” เมื่อวันเสาร์ ที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา
กิจกรรมในปีนี้ ภาคเช้าประกอบพิธีทักษิณานุปทาน ณ อนุสรณ์สถานสุนทรภู่ ท่าน้ำวัดพลับพลาชัย ต.คลองกระแชง อ.เมือง จ.เพชรบุรี โดยมี พระครูปลัดสุวัฒนพรหมวุฒิคุณ เจ้าอาวาสวัดพลับพลาชัย องค์อุปถัมภ์โครงการวันสุนทรภู่ฯ คณะสงฆ์วัดพลับพลาชัย พร้อมด้วย นายทวีโรจน์ กล่ำกล่อมจิตต์ ที่ปรึกษาโครงการฯ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับ “สุนทรภู่” รวมถึงอุทิศส่วนกุศลให้กับอดีตเจ้าอาวาสวัดพลับพลาชัย ครูบาอาจารย์ รวมถึง ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้างอนุสรณ์สถานและกรรมการจัดงานวันสุนทรภู่จังหวัดเพชรบุรีที่ล่วงลับไปแล้ว






ส่วนภาคเย็นนั้นเป็น กิจกรรมตามรอยสุนทรภู่ในนิราศเมืองเพชร แบ่งออกเป็น ๒ ช่วง ช่วงแรกเวลา ๑๖.๐๐ น. “ทอดน่องท่องเมืองเพชรตามรอยครูสุนทรภู่ไปบ้านประตูไม้ไผ่” มีทีมวิทยากรได้แก่ คุณทวีโรจน์ กล่ำกล่อมจิตต์ นายธานินทร์ ชื่นใจช่างเขียนลายรดน้ำ ผศ.แสนประเสริฐ ปานเนียม นายจตุพร บุญประเสริฐ อาจารย์ภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี นายฐานิสร์ พรรณรายน์ ครูดนตรีไทย รร.วัดจันทราวาส (ศุขประสารราษฎร์) โดยมี นายอุดมเดช เกตุแก้ว ผู้สื่อข่าว นสพ.เพชรภูมิ และนายศุภวัฒน์ คนมั่น ครูภาษาไทยโรงเรียนบ้านท่าตะคร้อมิตรภาพที่ ๑๙๒ อ.หนองหญ้าปล้อง ทำหน้าที่พิธีกรดำเนินรายการ ส่วนช่วงที่ ๒ เป็นการเสวนาเนื่องในวันสุนทรภู่บริเวณลานข้างอุโบสถวัดเพชรพลี



“วัดเกาะ” เป็นจุดหมายแรกที่คณะตามรอยสุนทรภู่เดินทางมาเยี่ยมชมในนิราศเมืองเพชรของสุนทรภู่ กล่าวถึง “ครั้นไปเยือนเรือนหลานบ้านวัดเกาะ ยังทวงเพลาะแพรดำที่ทำหาย ต้องใช้หนี้สีทับทิมจึงยิ้มพราย วิลาศลายลอยทองสนองคุณ” ในอดีตสุนทรภู่ได้มาอยู่อาศัยที่เมืองเพชรบุรีเมื่อครั้งพระวังหลังทิวงคตในปี พ.ศ. ๒๓๔๙ ตามบทกลอนนิราศเมืองเพชร ระบุว่า “แต่เดือนสี่ปีระกานิราร้าง ไปอยู่บางกอกไกลกันใจหาย” ในเรื่องนี้ ศาสตราภิชาน ล้อม เพ็งแก้ว เคยให้ทัศนะไว้ว่า เดือนสี่ปีระกาคือ ปี พ.ศ. ๒๓๕๖ นั่นแสดงว่าสุนทรภู่เดินทางมาอยู่เมืองเพชรบุรีราวปี พ.ศ. ๒๓๔๗ – ๒๓๕๖ ราวอายุ ๒๒ – ๒๗ ปี ด้วยเหตุผลนี้การที่ “สุนทรภู่” เดินทางมาเมืองเพชรบุรีพร้อมทั้งแต่งนิราศเมืองเพชรในปี พ.ศ. ๒๓๗๔ (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๓) จึงมีความคุ้นเคยและผูกพันกับชาวเมืองเพชรเป็นอย่างดี สำหรับ “วัดเกาะ” นั้นเป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเพชรบุรี และติดกับคลองวัดเกาะ มีศาสนสถานสำคัญหลายอย่าง โดยเฉพาะภายในอุโบสถมีภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยา ระบุปี พ.ศ. ๒๒๗๗ ตรงกับสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ






ถัดจากวัดเกาะ ชาวคณะเดินทางมาที่ “คลองวัดเกาะ” ใกล้กับ “ศาลาบาบู” ชุมชนท่าหิน คุณทวีโรจน์ กล่ำกล่อมจิตต์ อธิบายความสำคัญของคลองวัดเกาะ เป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำสำคัญของคนเมืองเพชรบุรีเชื่อมต่อกับหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ฝั่งทิศตะวันออก สายหนึ่งไปทางตำบลช่องสะแก ตำบลบางจาน ตำบลบางขุนไทร ออกทะเลอ่าวไทยที่บ้านปากทะเล อีกสายหนึ่งไปทางตำบลโพธิ์พระ ตำบลบางแก้ว อ.บ้านแหลม ภายหลังที่สุนทรภู่อาสามาทำธุระให้เจ้านายพระองค์หนึ่งคือ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๓ มาสู่ขอบุตรสาวของขุนแพงที่เมืองเพชรบุรี เมื่อเสด็จธุระเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก่อนจะลงเรือเดินทางกลับกรุงเทพฯ ได้มากล่าวลาบรรพชนที่มีเชื้อสายพราหมณ์ที่อาศัยอยู่บริเวณวัดเพชรพลี



นิราศเมืองเพชรที่ ศาสตราภิชาน ล้อม เพ็งแก้ว ชำระใหม่ระบุว่า “มาลงเรือเมื่อจะล่องแรมสองค่ำ ต้องไปร่ำลาพราหมณ์ตามวิสัย ไปวอนว่าท่านยายคำให้นำไป บ้านประตูไม้ไผ่แต่ไรมา เป็นถิ่นฐานบ้านพราหมณ์รามราช ล้วนโคตรญาติย่ายายฝ่ายวงศา เทวฐานศาลสถิตอิศวรา เสาชิงช้าก็ยังเห็นเป็นสำคัญ ทั้งโบสถ์บ้านฐานที่ยังมีอยู่ แต่ท่านผู้ญาติกานั้นอาสัญ เพราะกรุงแตกแยกย้ายพลัดพรายกัน จึงสิ้นพันธุ์พงศาเอกากาย”
“ที่เหล่ากอหลอเหลือในเนื้อญาติ เป็นเชื้อชาติชาวเพชรบุรียังมีหลาย แต่สิ้นผู้ปู่ยาพวกตายาย ญาติทั้งหลายมิได้รู้เรื่องบูราณ แต่ตัวเราเข้าใจได้ไถ่ถาม จึงแจ้งความเทือกเถาจนเอาวสาน จะบอกเล่าเผ่าพงศ์พวกวงศ์วาน ก็เกรงท่านทั้งหลายละอายครัน จึงกรวดน้ำรำพึงไปถึงญาติ ซึ่งสิ้นชาติชนมาม้วยอาสัญ ขอกุศลผลส่งให้พงศ์พันธุ์ สู่สวรรค์นฤพานสำราญใจ”



คำว่า “บ้านประตูไม้ไผ่” ในที่นี่ คุณทวีโรจน์ กล่ำกล่อมจิตต์ ให้ทัศนะไว้ว่า น่าจะเป็น “ประตูเมือง” ฝั่งทิศใต้ติดกับคลองวัดเกาะ เนื่องจากถนนท่าหินเป็นถนนที่สร้างบนกำแพงเมืองเก่า รวมทั้งเป็นการเรียกชื่อประตูเมืองในลักษณะเดียวกับประตูเมืองด้านทิศตะวันตก ฝั่งแม่น้ำเพชรบุรีที่เรียกว่า “ต้นโพธิ์ประตูเมือง” ต่อมามีการตั้งศาลเจ้าจีนจึงเรียกศาลเจ้าว่า “ศาลเจ้าต้นโพธิ์ประตูเมือง” บริเวณคลองวัดเกาะ ชุมชนท่าหินตั้งแต่สี่แยกวัดป้อมถึงแยกท่าหินนั้น มีศาลากลางหมู่บ้านตั้งอยู่ริมถนนท่าหิน ด้านหลังศาลาติดกับคลองวัดเกาะ ชาวบ้านเรียกศาลาแห่งนี้ว่า “ศาลาบาบู” เป็นศาลาทรงไทยชั้นเดียวปลูกริมถนน



คำว่า “บาบู” เป็นชื่อของชายชาวอินเดียผู้ที่บริจาคเงินบูรณะซ่อมแซมศาลาหลังนี้ บาบูมีชื่อจริงว่า นายสุรัสประสาท โอชายี เป็นชายชาวอินเดียมีเชื้อสายตระกูลพราหมณ์มาตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่บริเวณชุมชนท่าหิน ประกอบอาชีพเลี้ยงวัว ควาย แพะ รีดน้ำนมขายจนมีฐานะครอบครัวที่มั่นคงจึงได้บริจาคเงินบูรณะศาลาแห่งนี้
“ช่างน้อง” นายธานินทร์ ชื่นใจ กล่าวถึงพระพุทธรูปปูนปั้นที่ตั้งอยู่ภายในศาลาบาบูเป็นพระพุทธรูปที่ “หลวงพ่อแดง” พระครูญาณวิลาศ อดีตเจ้าอาวาสวัดเขาบันไดอิฐ พระเกจิอาจารย์ ชื่อดังของเมืองเพชร มอบให้บาบูมาตั้งไว้ที่ศาลาแห่งนี้ เดิมพระองค์นี้ประดิษฐานภายในถ้ำเขาบันไดอิฐ หลวงพ่อแดงเอ่ยปากว่าใครยกพระพุทธรูปองค์นี้ได้จะมอบให้ ปรากฏว่าไม่มีใครสามารถ ยกขึ้นได้ ยกเว้นแขกบาบูที่ยกพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้นนำมาไว้ที่ศาลา ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาจัดให้มีการถวายสังฆทานทุกวัดพระ และนิมนต์พระสงฆ์มาเทศน์เป็นประจำ






ออกจาก “ศาลาบาบู” ชาวคณะเดินข้ามถนนมาฝั่งตรงข้ามเป็นบ้านของบาบู อาคารพาณิชย์เปิดเป็นร้านค้าขายของชำ นายสุทน พ่วงรอด และ นางสำรวม โอชา ลูกเขยและลูกสาวบาบูเป็นเจ้าของบ้าน ด้านหลังร้านเป็นบ้านทรงไทยประยุกต์ยกพื้นสูงเป็นบ้านเดิมของบ้านบาบู มีเครื่องเรือนของใช้สมัยโบราณ รวมถึงดาบญี่ปุ่นที่ทหารญี่ปุ่นมอบให้บาบูเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ออกจากบ้านบาบูเราเดินทางผ่านชุมชนใกล้วัดเพชรพลี ที่ดินฝั่งตรงข้ามวัดเพชรพลีนั้น คุณทวีโรจน์ ระบุว่า เป็นที่ตั้งของเทวฐานโบสถ์พราหมณ์ ในอดีต ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ได้มีการรังวัดโฉนดที่ดินมีเนื้อที่ประมาณ ๓ งาน ๓๙ ตารางวา ในโฉนดที่ดินระบุว่าเป็น “วัดวิหารโบสถ์พราหมณ์” ซึ่งที่จริงแล้วเป็น “โบสถ์พราหมณ์” ที่สุนทรภู่กล่าวไว้ในนิราศเมืองเพชร ปัจจุบันไม่หลงเหลือสภาพโบสถ์พราหมณ์ในอดีตให้เห็น



ถัดเข้ามาภายใน “วัดเพชรพลี” มี พระครูวัชรชัยธรรม (พระมหาศุภชัย) เจ้าคณะตำบลท่าราบ-ช่องสะแก เจ้าอาวาสวัดเพชรพลี ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ วัดเพชรพลีเป็นวัดโบราณเก่าแก่คู่บ้านเมืองเพชรวัดหนึ่ง มีชื่อวัดเหมือนกับชื่อจังหวัดเพชรบุรี หรือเมืองพริบพรี มีโบราณสถาน “เสาชิงช้า” ตั้งอยู่ในเขตวัดเพชรพลี เดิมมีหลักฐาน ภาพถ่ายเสาชิงช้าเดิมที่มีอยู่ เมื่อครั้ง พระมหาศุภชัย ชยธมฺโม ย้ายจากวัดพลับพลาชัย ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเพชรพลี รวมถึงได้รับคำแนะนำจาก อาจารย์บุญมี พิบูลย์สมบัติ ปราชญ์เมืองเพชรบุรี จึงดำเนินการก่อสร้างเสาชิงช้าขึ้นใหม่ราวปี พ.ศ. ๒๕๕๐ แล้วเสร็จดั่งที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้วัดเพชรพลียังมีสิ่งที่น่าชมหลายอย่าง อาทิ อาคารวชิรปราสาทที่จัดเป็นพิพิธภัณฑ์เก็บรักษาโบราณวัตถุต่าง ๆ พระสุวรรณเจดีย์ตั้งอยู่ด้านหลังอุโบสถ ใบเสมาหินทรายแดงขนาดใหญ่จำนวน ๒ ใบของวัดสระตะพาน บ่อน้ำทิพย์หรือบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ตั้งอยู่ใกล้อุโบสถ ที่เก็บอัฐิตระกูลจุลานนท์ สำหรับกิจกรรมตามรอยสุนทรภู่ในปีนี้ก็มีดังนี้