ส่งผลสะเทือนถึงสถานการณ์เปราะบางของ‘พรรคพลังประชารัฐ’



การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ที่ภาคใต้ ๒ จังหวัด คือ เขต ๑จ.ชุมพรและเขต ๖ จ.สงขลา ซึ่ง
ผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์สามารถกำชัยชนะได้อย่างขาดลอยทั้ง ๒ เขตเมื่อสัปดาห์ก่อนมองได้ว่าภาคใต้ซึ่งฐานเสียงส่วนใหญ่เป็นของพรรคประชาธิปัตย์ ยังมีความแข็งแกร่ง มั่นคง
ต้องไม่ลืมว่า เขต ๑ จ.ชุมพร ที่เลือกซ่อมแทนนายชุมพล จุลใส หรือลูกหมี และเขต ๖ จ.สงขลา ที่เลือกซ่อมแทน นายถาวร เสนเนียม ทั้งลูกหมีและนายถาวรล้วนเป็น ส.ส.ระดับแม่เหล็กของพรรคประชาธิปัตย์ ประชาชนรักและให้ความไว้วางใจ ลงเลือกตั้งครั้งใดไม่เคยทำให้ประชาธิปัตย์ผิดหวัง
เมื่อทั้งสองคนนี้ช่วยออกแรงหาเสียงให้แก่ผู้ลงสมัครเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้คือ นายอิสรพงษ์ มากอำไพ ที่เขต ๑ จ.ชุมพร และ น.ส.สุภาพร กำเนิดผล ที่เขต ๖ จ.สงขลา ทั้งสองจึงชนะได้อย่างลอยลำ ชี้ให้เห็นถึงบารมีของลูกหมีและนายถาวรในพื้นที่เลือกตั้งไม่ธรรมดาแน่นอน
ทั้งลูกหมีและนายถาวรที่ต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. ไม่ได้มีความผิดทางการเมือง แต่เกี่ยวโยงกับการที่เคยไปร่วมขึ้นเวทีเป็นแกนนำ กปปส. ที่มี นายสุเทพ เทือกสุบรรณเป็นเลขาธิการฯ เมื่อทั้งสองถูกฟ้องว่าทำผิดกฎหมายและถูกศาลมีคำพิพากษาให้จำคุก และถูกจำคุกจริง ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญพร้อมพวกอีกหลายคน
การที่ผู้ได้รับเลือกเป็น ส.ส.ทั้งที่ เขต ๑ จ.ชุมพร และเขต ๖ จ.สงขลา เป็นผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ทำให้มองได้ว่าคนภาคใต้ผูกพันกับพรรคการเมืองเก่าแก่พรรคนี้และชอบบทบาทของลูกหมีกับนายถาวร จึงเทคะแนนเลือก
มีคนตั้งข้อสังเกตว่า การเลือกตั้งซ่อมที่ภาคใต้ทั้ง ๒ จังหวัดที่ผ่านมา บรรดาหัวหน้าพรรคหรือแกนนำของพรรคไปช่วยลูกพรรคหาเสียง แต่พูดภาษาหรือสำเนียงใต้ไม่ได้ทำให้เสียเปรียบนายจุรินทร์ลักษณวิศิษฐ์หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นชาวจังหวัดพังงา แถมยังมีวาทศิลป์จับใจคนฟัง
ผู้หลักผู้ใหญ่ของพรรคการเมืองใดก็ตาม ถ้าไปช่วยลูกพรรคหาเสียงที่ภาคใต้แล้วพูดสำเนียงใต้ได้ ก็มีส่วนทำให้ได้เปรียบเป็นอย่างมาก คนใต้ถ้าได้รับการสื่อสารด้วยสำเนียงภาษาใต้ก็จะเข้าถึงกันง่าย เหมือนมีจิตวิญญาณเดียวกัน เป็นพวกเดียวกัน
ยิ่งร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ไปขึ้นเวทีที่ภาคใต้ช่วยผู้สมัครปราศรัยหาเสียง แล้วพูดถึงความรวยความจน อาจทำให้ไม่สบอารมณ์คนใต้นัก ตัวร.อ.ธรรมนัสเองแม้จะเป็นคนมีฐานะดี แต่ก็มีประวัติเทา ๆ มาก่อน อย่างที่มีการขุดคุ้ยกันในสภาฯ
เมื่อมองไปยังสนามเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กรุงเทพฯ ที่เขต ๙ หลักสี่-จตุจักร แทนนายสิระ เจนจาคะที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากเคยถูกจำคุกในคดีฉ้อโกงเมื่อ ๒๖ ปีก่อน คราวนี้นายสิระส่งนางสรัลรัศมิ์ เจนจาคะภรรยาลงสมัครในสังกัดพรรคพลังประชารัฐ
ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคมที่ผ่านมา ปรากฏว่า ผู้ได้รับเลือกคือนายสุรชาติ เทียนทอง ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย (๒๙,๔๑๖ คะแนน) ผู้ได้คะแนนลำดับถัดมาคือนายกรุณพล เทียนสุวรรณ พรรคก้าวไกล (๒๐,๓๖๑ คะแนน), นายอรรถวิทย์ สุวรรณภักดี พรรคกล้า (๒๐,๐๔๗ คะแนน), นางสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ พรรคพลังประชารัฐ (๗,๙๐๖ คะแนน),นายพันธุ์เทพ ฉัตรนะรัชต์ พรรคไทยภักดี (๕,๙๘๗ คะแนน),นายเจริญ ชัยสิทธิ์ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน (๓๓๓ คะแนน), นายรุ่งโรจน์ อิบรอฮีมพรรคศรีศรีวิไลย์ (๒๔๔ คะแนน) และ น.ส.กุลรัตน์ กลิ่นดี พรรคยุทธศาสตร์ชาติ ๑๙๐ คะแนน
แทบไม่น่าเชื่อว่านายสิระสังกัดพรรคพลังประชารัฐที่เคยครองสนามในเขตเลือกตั้งนี้ด้วยคะแนนกว่า ๓ หมื่นเมื่อการเลือกตั้งปี ๒๕๖๒ ไม่มีบารมีพอที่จะลุ้นภรรยาตัวเองให้ได้เป็น ส.ส. แถมคะแนนที่ภรรยาได้รับลดฮวบเหลือแค่ ๗ พันกว่าคะแนน ซึ่งสามารถมองได้หลายมิติ คือ ๑.นายสิระไม่ได้ลงเอง ๒. ชาวหลักสี่-จตุจักร เสื่อมศรัทธานายสิระที่แสดงอาการกร่างทั้งในและนอกสภาในห้วงเกือบ ๓ ปีที่ผ่านมา ๓.ชาวหลักสี่-จตุจักรไม่พอใจบทบาทของพรรคพลังประชารัฐที่เป็นแกนนำรัฐบาลแต่แก้ปัญหาให้แก่ชาวบ้านในหลายเรื่องไม่ได้ หรือ ๔.พรรคเพื่อไทยเป็นความหวังใหม่ของคนในเขตนี้
ความพ่ายแพ้ของพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งซ่อมทั้งที่ภาคใต้ และ กทม. คงทำให้พรรคพลังประชารัฐต้องฉุกคิดและวิเคราะห์ว่าความนิยมของพรรคในสนามเลือกตั้งกำลังถดถอยลงใช่หรือไม่ อาจส่งผลต่อการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ หรือการเลือกตั้งใหญ่ที่จะถึงในอีกไม่นานนี้ด้วย!!
ส่วนประเด็นที่ประชุมของพรรคพลังประชารัฐเมื่อวันก่อน มีมติขับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่าเลขาธิการพรรคฯ กับอีก ๒๐ ส.ส.ร่วมก๊วนให้พ้นไปจากพรรคทำให้ถูกมองว่ามีการประลองกำลังกันระหว่างบารมีของ“บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กระทรวงกลาโหมกับ“บิ๊กป้อม”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ว่าสองเสือแห่งบูรพาพยัคฆ์ใครจะเบ่งบานมากกว่ากัน
ใครก็รู้ว่าบิ๊กป้อมมีร.อ.ธรรมนัสเป็นหัวเรือใหญ่ เป็นคนคอยป้อนกล้วยเลี้ยงลิงในพรรคแต่ดูเหมือนว่ายิ่งนานวันฝ่ายบิ๊กป้อมไม่สามารถเทียบบารมีกับฝ่ายของบิ๊กตู่ได้เลย จะเห็นได้ว่าเมื่อบิ๊กตู่สั่งปลดร.อ.ธรรมนัสออกจากตำแหน่ง รมช.กระทรวงเกษตรฯ และเสียงข้างมากในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐมีมติขับร.อ.ธรรมนัสกับพวกพ้นไปจากพรรคก็ทำอย่างไม่ไว้หน้าบิ๊กป้อม
สะท้อนให้เห็นว่าคำพูด “๓ ป.ยังรักกันเหนียวแน่น ความตายเท่านั้นที่จะมาพรากเราจากกัน” เป็นเพียงวาระกรรมจากลมปากเท่านั้นนอกจากนี้การแต่งตั้งโยกย้ายทหารประจำปีก็มีข่าวว่าพี่ใหญ่ก็ล้วงลูกโดยไม่ปรึกษาหารือน้องที่เป็น รมว.กระทรวงกลาโหม
การเมืองไทยวันนี้ตั้งแต่มีการขับ ร.อ.ธรรมนัสกับพวกออกจากพรรคพลังประชารัฐ ทำให้ซีกรัฐบาลมีเสียงในสภาอยู่ในภาวะปริ่มน้ำอีกครั้ง เสถียรภาพจึงดูง่อนแง่นไม่แข็งแรง
มองเข้าไปยังพรรคพลังประชารัฐ บรรดา ส.ส. รัฐมนตรี หรือนักการเมืองคนสำคัญของพรรคนี้ หลายคนเคยสังกัดพรรคการเมืองที่มีนายทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรค เมื่อสถานการณ์ของพรรคพลังประชารัฐวันนี้เปลี่ยนไปมาก จึงมองได้ว่าโอกาสที่นักการเมืองหรือ ส.ส.ของพรรคนี้จะกลับไปยังรังเก่าคือ “พรรคเพื่อไทย” เป็นไปได้สูง บวกกับการที่แก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มี“บัตรเลือกตั้ง ๒ ใบ”ซึ่งกล่าวกันว่าจะทำให้พรรคเพื่อไทยได้เปรียบในการเลือกตั้ง ก็จะเป็นแรงผลักดันให้นักการเมืองแห่ไปซบพรรคเพื่อไทยมากขึ้น
จังหวะนี้จึงเห็นนายทักษิณ ชินวัตรหรือ“โทนี่” ในคลับเฮ้าส์ออกมาเคลื่อนไหวแสดงบทบาททางการเมืองส่งเสียงอยู่นอกประเทศปลุกเร้าให้พลพรรคเพื่อไทยออกมาเตรียมพร้อมเลือกตั้ง
ด้วยหวังว่าเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคเพื่อไทยพรรคเดียวจะสามารถกวาดที่นั่งในสภาได้เกินครึ่ง ซึ่งเคยทำสำเร็จมาแล้วในอดีต
สถานการณ์การเมืองในสภาพรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำตอนนี้บวกกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำถึงขีดสุด รวมถึงการระบาดของไวรัสโควิด-๑๙จึงมองได้ว่าโอกาสที่บิ๊กตู่จะ“ยุบสภา”เป็นไปได้สูงมาก แต่นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งส่วนใหญ่แล้วไม่มีใครอยากให้มีการเลือกตั้งในตอนนี้ เพราะยังไม่ทันตั้งตัวและยังไม่มีความพร้อม
ถ้าพรรคพลังประชารัฐแตก มีแกนนำออกไปตั้งพรรคใหม่แม้จะอยู่ในเครือเดียวกัน แต่การไม่ลงรอยกันระหว่างบิ๊กตู่กับ ร.อ.ธรรมนัส จะลงเอยกันอย่างไร จะไปกันต่อได้หรือไม่ เป็นเรื่องน่าติดตาม
ต้องไม่ลืมว่าคนสำคัญของพรรคเพื่อไทยก็ล้วนเก๋าเกมการเมืองทั้งนั้น หากบิ๊กตู่-บิ๊กป้อมยังฮึดสู้ในสนามเลือกตั้งเพื่อต้องการกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งหลังการเลือกตั้งครั้งหน้าไม่ว่าจะใช้วิธียุบสภาหรือเลือกเมื่อครบวาระก็ตาม ต้องใช้เงินในสนามเลือกตั้งทั้งประเทศไม่น้อย หากจะอวดว่ามีเงิน นายใหญ่ที่ดูไบก็มีเงินมีกล้วยป้อนไม่น้อยเช่นกัน
เรื่องเลือกตั้งด้วยบัตร ๒ ใบที่ผ่านสภาฯมาได้อย่างราบรื่นด้วยมือของพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์ บวกกับพรรคฝ่ายค้าน ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า“ประชาธิปัตย์”มักเตะลูกเข้าเท้าทักษิณเสมอ ถ้ากฎหมายลูกเสร็จ บิ๊กตู่-บิ๊กป้อมยังไม่วางมือ ต้องพบงานหนักแน่
แต่สองศรีพี่น้องที่หนีคุกไปหลบอยู่ต่างประเทศจะกลับมาเมืองไทยอย่างเท่ ๆ ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกัน.