ที่จังหวัดเพชรบุรี มีผัว-เมียสู้ชีวิตอยู่คู่หนึ่ง มีฐานะยากจนชนิดที่เคยนอนกลางดิน กินกลางทราย แต่ทั้งสองได้ฟันฝ่าอุปสรรค อดทนต่อสู้กับความยากลำบากมาอย่างแสนสาหัส
ช่วยกันใช้สองมือเปล่ากุมด้ามค้อนตีเหล็กกล้าที่กำลังร้อนแดงขึ้นรูปบรรจงสร้างเป็นมีดพร้าออกจำหน่ายเพื่อหาเลี้ยงครอบครัวและสามารถส่งบุตรทั้ง ๔ คน เรียนจนจบปริญญาตรีและปริญญาโทได้อย่างน่าภาคภูมิใจ สองสามีภรรยาคู่นี้คือ นายเทียน บัวทรัพย์ หรือ “ช่างเชียร” อายุ ๖๒ ปี และ นางสมจิต บัวทรัพย์ อายุ ๕๙ ปี ชาว ต.พุสวรรค์ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี
“ช่างเชียร” เปิดเผย “เพชรภูมิ” ว่า หัดตีมีดโบราณเมื่อตอนอายุ ๑๕ ปี โดยเริ่มแรกฝึกตีมีดอยู่กับ “อาจารย์พจน์” ที่ อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี นานหลายปี ก่อนย้ายมาฝึกตีมีดตาลสวนกับ “อาจารย์เขียว” ที่แม่กลอง จ.สมุทรสงคราม ขณะนั้นได้ค่าแรงวันละ ๓ บาท โดยฝึกปรืออยู่ ๒ ปี จนสามารถตีมีดตาลสวนได้อย่างสวยงาม ก็ออกมาทำงานตีมีดปาดตาลอยู่กับ “เจ๊กฮวด” ที่อู่รถยนต์บริเวณหลังเขาวังโฮเต็ลอยู่หลายปี
สมัยนั้นรถเกี่ยวข้าวยังไม่มี เกษตรกรส่วนใหญ่จึงนิยมใช้เคียวในการเกี่ยวข้าวและเกี่ยวหญ้า ช่างเชียรจึงลาออกและมาขอเรียนรู้การทำเคียวกับ “อาจารย์มิ่ง” ที่หลังวัดไตรโลก อ.เมือง จ.เพชรบุรี อยู่ประมาณ ๕ ปี จนเกิดความเชี่ยวชาญ จึงออกมารับจ้างทำเคียวกับ “ช่างมิ่ง” ที่หน้าวัดช้าง ถ.บันไดอิฐ ต.คลองกระแชง อ.เมือง จ.เพชรบุรี อยู่ได้สักระยะหนึ่งก่อนออกไปช่วยงาน “ช่างจุ่น” ตีมีดการเกษตรที่หน้าวัดช้าง จนเกิดความเชี่ยวชาญสามารถตีมีดออกมาได้อย่างประณีตงดงาม มีความคม ทนทาน ไม่แพ้ที่อื่น









ต่อมาช่างจุ่นประสบปัญหาทางครอบครัว รวมทั้งไม่มีเงินไปซื้อเหล็ก ซื้อถ่าน และอุปกรณ์ในการตีมีดจนต้องปิดกิจการไป ช่างเชียรจึงชักชวนช่างจุ่นไปตั้งโรงตีมีดที่บ้านของตนเองบริเวณทางเข้าวัดบ่อบุญ อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี โดยมี “ลุงน้ำ” ชาวบ้าน ต.ไร่สะท้อน เป็นผู้ออกทุนให้
ช่างจุ่นอยู่ช่วยช่างเชียรตีมีดจนเริ่มมีชื่อเสียงและสามารถตีมีดตรายี่ห้อ “ข” ส่งขายให้แก่ “ร้านบำรุงพานิช” เป็นร้านจำหน่ายอุปกรณ์การเกษตรที่มีชื่อเสียงของอำเภอท่ายางได้ แล้วก็กลับไปอยู่บ้านเกิดที่ อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี
ขณะนั้นชาว อ.บ้านลาด มักจะใช้มีดเฉาะตาล ยังไม่นิยมใช้มีดพร้าเพื่อการเกษตร ทำให้ไม่ค่อยมีใครมาว่าจ้างทำมีด ประกอบกับมีปัญหาระหว่างแม่ผัวกับลูกสะใภ้ไม่ลงรอยกัน ช่างเชียรจึงตัดสินใจพาลูก-เมียกลับมาตั้งหลักปักฐานที่ ต.พุสวรรค์ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี
เริ่มแรกได้มาขออาศัยที่ชาวบ้านปลูกเพิงพักเล็ก ๆ อยู่อาศัยและตีมีดขาย โดยเปลี่ยนตรายี่ห้อจาก “ข” มาเป็น “ช” แต่ไม่มีคนสนใจมาว่าจ้าง เนื่องจากเห็นว่าเป็นช่างหน้าใหม่ ส่วนใหญ่จะไปจ้างทำกับช่างที่มีฝีมือในตัวเมืองเพชรบุรี ทำให้ช่างเชียรไม่มีเงินไปซื้อเหล็กมาตีมีดส่งขายให้แก่ร้านบำรุงพานิช ตอนนั้นช่างเชียรลำบากมาก บางวันแทบจะไม่มีเงินซื้อข้าวให้ลูกกิน ต้องนอนทนหิวอยู่กับพื้นดินที่มีกระสอบป่านปูรองนอน รวมถึงต้องไปกู้หนี้ยืมสินเพื่อมาเป็นค่าเล่าเรียนของบุตร ๕ คนด้วย ช่างเชียรต้องดิ้นรนทำงานรับจ้างทุกอย่างเพื่อหาเงินมาใช้หนี้และหาเลี้ยงครอบครัว
มีอยู่วันหนึ่งภรรยาช่างเชียรได้เขียนจดหมายไปถึงรายการปลดหนี้ เล่าถึงความทุกข์ยากลำบาก ทางรายการจึงมาตรวจสอบและทำการแข่งขันปลดหนี้ให้ หลังจากที่มีการออกอากาศไปแล้วชื่อเสียงของช่างเชียรเริ่มเป็นที่รู้จัก มีผู้คนทั้งในพื้นที่และต่างจังหวัดให้ความสนใจมาสั่งทำมีดกันเป็นอย่างมาก จนมีเงินซื้อที่ปลูกบ้านหลังเล็ก และส่งลูกเรียนจนจบปริญญาตรี-ปริญญาโท ถึง ๕ คน และปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่อีก ๑ คน
ส่วนขั้นตอนในการตีมีดค่อนข้างพิถีพิถัน เริ่มจากนำเหล็กแหนบที่ซื้อมาจากร้านขายของเก่า มาตัดให้ได้ตามขนาด เสร็จแล้วนำท่อนเหล็กดังกล่าวไปใส่ในเตาถ่าน เผาให้ร้อนจนเหล็กแดงสุกทั้งแท่ง จากนั้นคีบเหล็กออกจากเตานำมาวางบนทั่ง ก่อนสลับกับภรรยาลงค้อนตีแท่งเหล็กให้ยืดตัว ก่อนขึ้นรูปมีดตามความต้องการด้วยประสบการณ์ความชำนาญที่มีมายาวนาน






เมื่อตีเหล็กจนได้มีดที่ต้องการแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็ใช้เครื่องเจียรมีดให้ขาว ขูดคมให้บางก่อนนำมาเข้าเตาเผาให้ร้อน แล้วนำไปชุบลงในน้ำเพื่อให้คมมีดมีความกล้าแข็งไม่อ่อนและไม่บิ่น จากนั้นนำไปตอกสัญลักษณ์ตัว “ช” แล้วใส่ด้ามไม้ส่งจำหน่ายให้แก่ร้านค้าและลูกค้าที่สั่งทำ ในราคาเริ่มต้นที่ ๓๐๐ บาท ซึ่งมีดของช่างเชียร มีความคงทนทานใช้งานได้อย่างยาวนาน รักษาความคมได้อย่างเป็นเอกลักษณ์



ผู้ที่สนใจอยากชมวิธีการตีมีดแบบโบราณหรือจะสั่งทำมีดตามความต้องการ สามารถไปดูได้ที่โรงตีเหล็ก ต.พุสวรรค์ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. ๐๙๗-๙๕๓๔๒๙๗.