


“ผ้าลายปลาทู” เป็นผลงานการออกแบบผ้าพิมพ์ลายที่เป็นผลงานส่วนหนึ่งในงานบริการวิชาการของ “ศูนย์วิจัยสิงขร – มะริดศึกษา”มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ที่ได้ดำเนินการจัดทำเส้นทางท่องเที่ยว จำนวน ๒ เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางท่องเที่ยวการค้าโบราณ และ เส้นทางท่องเที่ยววัฒนธรรมโบราณคดีก่อนหน้านี้มีการออกแบบลวดลายผ้า“ทุ่งนาป่าตาล” เป็นผลงานการวิจัยที่ ดร.เอื้อมพร โตภาณุรักษ์กุล ร่วมกับ นายเกรียงศักดิ์ กล่อมสกุล ดำเนินการนำลวดลาย “ทุ่งนา” และ “ป่าตาล” อันเป็นเอกลักษณ์ของเมืองเพชรบุรีลงบนผืนผ้าด้วยกระบวนการผ้าพิมพ์ลายที่ต้องข้ามน้ำข้ามทะเลเดินทางไปถึงประเทศอินเดีย เมืองผลิตลายผ้าพิมพ์ลายที่มีชื่อเรียกว่า “ผ้าเพชรราชภัฎ”






ดร.เอื้อมพรโตภาณุรักษ์กุลอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี กล่าวว่า จุดมุ่งหมายของการทำ “ผ้าเพชรราชภัฏ” นอกจากการนำไปตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าสวมใส่ในชีวิตประจำวัน ใส่ไปทำงาน ยังมองในมิติการเล่าเรื่องราว ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต ทรัพยากรต่าง ๆ ของจังหวัดเพชรบุรี ว่าจะทำอย่างไรให้ประวัติศาสตร์เล่าเรื่องได้ ซึ่งการเล่าเรื่องนั้นก็มีอยู่หลายวิธี หนึ่งในนั้นก็คือการเล่าเรื่องผ่านเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ สื่อความหมายบอกเล่าเรื่องราวตัวตนของคนเมืองเพชรบุรี
ก่อนหน้าการออกแบบผ้าลายปลาทูได้ทำลวดลายผ้าลายผ้า “ทุ่งนาป่าตาล”เป็นการเชื่อมโยงวัฒนธรรมของทั้ง ๓ ประเทศ คือ ไทยกับเมียนมาร์ ใช้กระบวนการผลิตผ้าพิมพ์ลายที่ประเทศอินเดีย โดยมีนายเกรียงศักดิ์ กล่อมสกุล หรือ “หนุ่ย ยายกับตา” ทำหน้าที่ผู้ประสานงานขั้นตอนการผลิตที่ประเทศอินเดีย เพื่อให้ได้ผ้าที่มีลวดลายตามต้องการกลับมาตัดเย็บที่ประเทศไทย โดยการสนับสนุนจาก ผศ.ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี รศ.ดร.กาญจนา บุญส่ง รองอธิการบดีฯ ที่ดูแลรับผิดชอบในเรื่องนี้ นำมาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าที่มี น.ส.นันทิยา ดอนเกิด อาจารย์สาขาวิชาศิลปะและการออกแบบ ร่วมกับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยออกแบบชุดแต่งกายสตรี และกระเป๋าสตรีในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงนำผ้ามาตัดเย็บเป็นชุดทำงานสวมใส่ในชีวิตประจำวัน



นอกจากลวดลายผ้าที่ได้แรงบันดาลใจทรัพยากรธรรมชาติ “ทุ่งนาป่าตาลเมืองเพชรบุรี” คณะผู้วิจัยยังได้ร่วมกับชาวชุมชนคลองวาฬ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นชุมชนหนึ่งในเส้นทางการค้าโบราณ รวมถึงคณะผู้บริหารและครูโรงเรียนบ้านคลองวาฬได้ออกแบบลายผ้าและตัดเย็บเป็นชุด “ครอบครัวปลาวาฬ” และผลิตภัณฑ์จากผ้าพิมพ์ลาย จากนั้นได้ออกแบบลาย “ผ้าทวารวดี” ที่เชื่อมโยงกับแหล่ง“โบราณสถานโคกเศรษฐี” ในท้องที่ตำบลนายาง อ.ชะอำ ดำเนินการถอดลวดลายโบราณวัตถุมาเป็นลวดลายผ้า ใช้กระบวนการผลิตลักษณะเดียวกับ “ผ้าลายอย่าง” มีขั้นตอนซับซ้อนกว่า ๒ ลายแรกที่เป็นลักษณะการพิมพ์ลายและย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ
ดร.เอื้อมพร กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของ “ผ้าลายปลาทู” มีแนวคิดจากสภาพภูมิประเทศของจังหวัดเพชรบุรีที่ติดทะเลอ่าวไทย มีทรัพยากรสัตว์น้ำต่าง ๆ ที่อุดมสมบูรณ์ หนึ่งในนั้นคือ “ปลาทู” ที่อาศัยอยู่บริเวณอ่าวตัวกอไก่ ประกอบวิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีมีการจับปลาทู ลวดลายผ้าจึงเป็นส่วนหนึ่งในการสื่อความหมายไปในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลอ่าวไทย ขณะเดียวกันยังสามารถเล่าเรื่องในมิติเส้นทางท้าวอู่ทอง เป็นเส้นทางเดินโบราณที่เชื่อมจากชะอำ ไปยังเมืองเพชร และเมืองราชบุรี ซึ่งจะพบว่าในพื้นที่ตัวอำเภอเมืองเพชรบุรีมีชาวบ้านในชุมชนตำบลหัวสะพาน ชุมชนตำบลต้นมะพร้าว มีภูมิปัญญาในการนึ่งปลาทูส่งจำหน่ายเป็นรายได้ จึงออกแบบเป็นลายปลาทูส่งไปพิมพ์ที่ประเทศอินเดียเช่นกัน






“เราได้มีโอกาสตัดเย็บผ้าพิมพ์ลายให้ท่านภัคพงศ์ผู้ว่าฯ เพชรบุรีได้สวมใส่ ท่านเรียกผ้าชุดนี้ว่า ผ้าราชภัฏ ท่านบอกว่าสวมใส่สบายมาก พร้อมทั้งอยากรู้เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับลายผ้า จึงได้นำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมอธิการบดีและทีมผู้บริหาร ว่าที่ผ่านมาเพชรบุรีเรายังไม่มีเสื้อผ้าที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของความเป็นเมืองเพชรบุรี จึงได้คิดคำว่า “ผ้าเพชรราชภัฏ” เพราะอย่างน้อย ๆ ลวดลายผ้าชุดนี้จะเป็นการจุดประกายให้คนเมืองเพชรหันมาสนใจและสื่อสารเรื่องราวของตนเองผ่านลวดลายที่บ่งบอกความเป็นคนเพชรบุรี”
ดร.เอื้อมพร มองว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีมีทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถในด้านศิลปะการออกแบบ รวมถึงมีครูช่างที่เชี่ยวชาญเรื่องลายไทยที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองเพชรบุรี รวมถึงต้นทุนในด้านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม เป็นส่วนสำคัญในการออกแบบผลิตลวดลายผ้าที่สามารถพัฒนานำไปตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มต่าง ๆ รวมถึงส่งเสริมในชาวบ้านที่มีความรู้เรื่องการทอผ้า ประยุกต์กับผ้าทอพื้นที่ให้มีลวดลายที่ร่วมสมัยสามารถสวมใส่ในหลากหลายโอกาสได้
“เดิมจังหวัดพิษณุโลกก็ไม่มีผ้าประจำจังหวัด แต่มีนักออกแบบได้เข้ามาสร้างกระบวนการออกแบบลายผ้า พร้อมทั้งส่งเสริมให้ชาวบ้านในท้องถิ่นทอผ้าลวดลายดังกล่าว จนเกิดเป็นลายผ้าประจำจังหวัด มีการให้หน่วยงานตัดเย็บชุดสวมใส่ในสถานที่ทำงาน ทำให้เกิดการขับเคลื่อนสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่น ซึ่งเป็นคนที่ทอผ้าและตัดเย็บเสื้อผ้าได้อยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้เราได้นำผ้าลายปลาทูให้อาจารย์นันทิยา ดำเนินการออกแบบดีไซน์ตัดเย็บเป็นชุดต่าง ๆ โดยความร่วมมือกับสถาบันวิจัยของราชภัฏเพชรบุรี คาดว่าจะได้เห็นในเร็ววันนี้” ดร.เอื้อมพร กล่าวทิ้งท้าย.