


แม่น้ำเพชรไหลผ่านเมืองเพชรไปลงทะเลที่ปากน้ำบ้านแหลม
ระหว่างทางมีแยกใหญ่ที่วัดปากคลอง บางครก มีลำน้ำผ่านเขาตะเครา
ไปออกปากน้ำบางตะบูนได้ ลำน้ำที่เชื่อมระหว่างน้ำเพชรกับน้ำบางตะบูนค่อนข้างตรง คงถูกขุดขึ้นมาในสมัยอยุธยาตอนปลาย
เพราะเมื่อหม่อมภิมเสนผู้ดีสมัยอยุธยา ตามเจ้านายมาเมืองเพชรบุรี
ก็ใช้เส้นทางนี้ และพรรณนาเอาไว้ใน เพลงยาวหม่อมภิมเสน หรือที่มาเรียกกันในภายหลังว่า นิราศเมืองเพชรบุรี (คนละสำนวนกับนิราศ
เมืองเพชรของสุนทรภู่)
ตั้งแต่ปากคลองบางครกลงไปจนถึงปากน้ำบ้านแหลมไม่พบหลักฐานร่วมสมัยอยุธยาตอนต้นเลย หลักฐานเก่าแก่ส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นช่วงอยุธยาตอนปลาย ราวยุคปราสาททองลงมา ดังนั้นปากน้ำบ้านแหลมจึงน่าจะเป็นชุมชนที่มีพัฒนาการขึ้นมาในช่วงอยุธยา
ตอนปลายโดยกลุ่มชาวจีน
ในขณะที่ริมฝั่งลำน้ำบางตะบูนที่อยู่ด้านเหนือ และลำน้ำบางจานที่อยู่ด้านใต้ของปากน้ำบ้านแหลมกลับพบหลักฐานสมัยอยุธยาตอนต้นเป็นจำนวนมาก เช่น พระพุทธรูปหินทรายแบบอู่ทอง ใบเสมาหินทรายขนาดใหญ่ เครื่องถ้วยสังคโลก
ลำน้ำบางจานจึงน่าจะเป็นเส้นทางเข้าเมืองเพชรในสมัยอยุธยาตอนต้น โดยมีปากลำน้ำอยู่แถบวัดปากน้ำในปัจจุบัน และมีเวิ้งทะเลอยู่ในบริเวณที่เรียกว่าปากทะเล แต่ในยุคนั้นผู้คนน่าจะตั้งชุมชนกันอยู่เพียงพื้นที่ที่เรียกว่าปากน้ำ
ส่วนลำน้ำบางตะบูนนั้น เป็นจุดเชื่อมต่อไปยังยี่สาร แม่กลอง ราชบุรี
และมีลำน้ำสาขาตอนในที่เชื่อมไปยังเขาย้อย ปากท่อและแควอ้อม
นอกจากนี้ยังมีลำน้ำหลายสายที่เชื่อมขึ้นไปถึงแถบเขาบันไดอิฐ
บ้านลาดด้านตะวันตกแถบชายเขาแด่นที่เป็นแหล่งหาของป่า และช้างป่า
มาแต่โบราณ



ในย่านนี้สำรวจพบพระพุทธรูปหินทรายเป็นจำนวนมาก หากเป็นไปตามที่เชื่อกันว่าราชบุรีเป็นแหล่งตัดหินทรายแดง และผลิตพระพุทธรูปหินทรายแดงสมัยอยุธยาตอนต้น การแพร่กระจายของพระพุทธรูปหินทรายเหล่านี้มาในพื้นที่บ้านลาด เขาย้อย บางตะบูน ปากท่อ ก็น่าจะมาตามเส้นทางการเชื่อมโยงดังที่ได้กล่าวมา
และเขาตะเคราก็เป็นหนึ่งในกลุ่มศาสนสถานบนภูเขาซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหินทรายแดงศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ ด้วยลักษณะทางกายภาพที่เป็นภูเขาลูกโดด อยู่กลางพื้นที่ป่ามะพร้าว ป่าชายเลนปากแม่น้ำและใกล้กับเส้นทางสัญจรโบราณ การเลือกสถาปนาเขาตะเคราให้เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ เป็นหมุดหมายของการเดินทาง จึงเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น เช่นเดียวกับ เขาพระปากท่อ เขาอีโก้เขาย้อย เพชรบุรี และเขายี่สาร สมุทรสงคราม ที่อยู่ในย่านเดียวกัน
(อ่านต่อฉบับหน้า)