พลุ “เพชรแห่งเพชร”สีสันงานศิลป์

ตระการตาเหนือฟ้าพระนครคีรี

งานพระนครคีรีเมืองเพชร ครั้งที่ ๓๕ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ยุคของ “ผู้ว่าฯ ณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร” ผวจ.เพชรบุรี จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๘ – ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ รวมเวลา ๑๐ วัน ๑๐ คืน ภายใต้ชื่องาน “Phetchaburi City of Gastronomy ตำนานอาหาร สืบสานวัฒนธรรม งามล้ำพระนครคีรี สดุดีจอมราชัน” ณ บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี (เขาวัง) บริเวณอุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพื้นที่โดยรอบ เพื่อเทิดพระเกียรติบูรพมหากษัตราธิราชเจ้า รัชกาลที่ ๔ รัชกาลที่ ๕ รัชกาลที่ ๖ รัชกาลที่ ๙ ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ
อันยิ่งใหญ่ต่อจังหวัดเพชรบุรี ตลอดจนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเพชรบุรี ภายใต้มาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ หรือ “โควิด-๑๙” โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอนที่กลับมาแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้

                งานพระนครคีรีเมืองเพชรในปีนี้เป็นปีพิเศษที่จังหวัดเพชรบุรีถือโอกาสเป็นการเฉลิมฉลองที่เพชรบุรีได้รับการคัดเลือกให้เป็นเครือข่าย “เมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของยูเนสโก” ประกาศผลเมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา ใช้งานนี้เป็นการนำเสนอรวบรวม “ศาสตร์และศิลป์” ภูมิปัญญาด้านอาหารคาวหวานของเมืองเพชรบุรี ทั้งอาหารต้นตำรับ ดั้งเดิม และนวัตกรรมผลงานรังสรรค์ออกแบบอาหารหลากหลายชนิด มีการสาธิต จำหน่ายอาหาร ขนมไทย เครื่องดื่มต่าง ๆ มากมาย ขณะที่พื้นที่รอบอุทยานเฉลิมพระเกียรติ ร.๔ จัดนิทรรศการและการแสดงศิลปวัฒนธรรม การสาธิตงานสกุลช่างเมืองเพชรบุรี อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ๘ กลุ่มชาติพันธุ์ของเพชรบุรี โดยวันเปิดงานได้รับเกียรติจาก “พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน พร้อมกับมอบโล่เชิดชูเกียรติ “คนดี ศรีเมืองเพชร” จำนวน ๓๐ คน และ ๑ องค์กร

ปีนี้เป็นอีกปีที่ผู้เขียนตั้งใจบันทึกภาพ “การจุดพลุ” หรือการแสดงพลุในงานพระนครคีรีเมืองเพชรในสถานที่ต่าง ๆ ทั้งพลุพิธีเปิดงาน มุมมองจากลานอุทยานเฉลิมพระเกียรติ ร.๔ สนามหน้าเขาวังปีนี้ประดับประดาแสงไฟไว้อย่างสวยสดงดงาม เป็นจุดถ่ายภาพและชมการแสดงพลุที่สวยงามแห่งหนึ่ง นอกจากนี้ยังตระเวนไปตั้งกล้องถ่ายภาพพลุตามสถานที่ต่าง ๆ อาทิ บนสะพานพิเชษฐ์ เดิมจุดนี้เป็นจุดที่ช่างภาพทั่วสารทิศนิยมมาตั้งกล้องถ่ายภาพพลุกันมาก อีกไฮไลท์คือ “ทิวตาล ๙ ยอด” เรียกว่าเป็นมุมมหาชนที่ช่างภาพชื่นชอบ แม้ว่าปัจจุบันต้นตาลจะหักโค่นไปบ้าง ไม่ครบ ๙ ยอด แต่สะพานพิเชษฐ์ยังเป็นหมุดหมายที่ช่างภาพทั้งในจังหวัด และต่างจังหวัดนิยมมาตั้งกล้องถ่ายรูป มุมสะพานลอยข้ามทางรถไฟบริเวณวัดพรหมวิหารก็เป็นมุมถ่ายพลุแห่งใหม่ของปีนี้ที่มีช่างภาพขึ้นไปตั้งกล้องถ่ายรูปเช่นกัน

“การแสดงพลุ” หรือการจุดพลุเหนือพระนครคีรี ถือเป็นไฮไลท์สำคัญของงานพระนครคีรีเมืองเพชรทุกครั้ง ตลอดทั้ง ๑๐ คืนของวันจัดงาน ปีนี้ทางจังหวัดเพชรบุรียังคงให้ความไว้วางใจ “ทีมงานฉอ้อนดอกไม้ไฟ” รับหน้าที่การสร้างสรรค์งานศิลป์แสดงพลุดอกไม้ไฟให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ชื่นชมตลอดทั้ง ๑๐ วัน “ฉอ้อนดอกไม้ไฟ” เป็นชื่อในวงการช่างทำพลุและดอกไม้ไฟ มีชื่อจริงว่า “นายทอง ศรีจันทร์” แต่คนทั่วไปจะเรียกกันว่า “ลุงฉอ้อน” ปีนี้อายุ ๖๔ ปีเต็ม ย่างเข้า ๖๕ ปีร่างกายยังแข็งแรงกระฉับกระเฉง พูดจาฉะฉานชัดเจน บ้านลุงฉอ้อนตั้งอยู่กลางทุ่งนาหลังวัดตาลกง หมู่ ๒ บ้านหนองปลาไหล ต.ไร่มะขาม อ.บ้านลาด มีพื้นที่หรือโกดังเก็บพลุ ดอกไม้ไฟ ดินปืน สารเคมีต่าง ๆ  อย่างมิดชิดห่างจากตัวบ้านในระยะปลอดภัย หากเกิดอุบัติเหตุไม่คาดคิดแม้ว่าพื้นเพครอบครัวดั้งเดิมจะมีอาชีพทำไร่ทำนา แต่ลุงฉอ้อนกลับมีความสนใจเรียนรู้วิชาการทำพลุและดอกไม้ไฟตั้งแต่สมัยบวชพระที่วัดตาลกง ตอนนั้นมี “หลวงตารด” พระวัดลาดนำพลุและดอกไม้ไฟมาจุดในงานศพที่วัดตาลกงอยู่บ่อยครั้ง จึงขอความรู้เรื่องการทำพลุและดอกไม้ไฟจากหลวงตารด อีกทั้งหลวงตารดยังแนะนำให้ไปเรียนรู้การทำพลุกับ “ผู้ใหญ่ธร” บ้านไสกระดาน “ลุงยม” ช่างทำพลุหนองจอก อ.ท่ายาง ฝึกทำลองผิดอยู่ปีหนึ่งก็สึกมาแต่งงานกับ นางวันดี ศรีจันทร์ หรือ “ติ๋ม” คู่ชีวิตที่ช่วยกันทำพลุและดอกไม้ไฟมาหลายสิบปี วงการคนทำพลุจะรู้จักกันดี ลุงฉอ้อนเป็นคนคิดค้นสูตรส่วนผสมพลุรูปแบบต่าง ๆ ส่วนป้าติ๋มรับผิดชอบในส่วนของการผลิต สมัยก่อนใช้กะลามะพร้าวเลื่อยผ่าครึ่งมาประกอบเป็นลูกพลุ ปัจจุบันใช้กระดาษอัดพิมพ์เป็นรูปทรงกลม แบ่งเป็นฝาบนและฝาล่าง ใส่ดินปืนผสมกับเม็ดสีที่ปั้นไว้เป็นเม็ดกลมใส่ลงในฝา บรรจุดินปืนผสมแกลบประกบฝาด้วยกระดาษกาวน้ำให้แน่นสนิท ฝาล่างจะต่อด้วยชนวนควบคุมเวลาจุดระเบิด ป้าติ๋มภรรยาลุงฉอ้อนเสียไปราวปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ลุงฉอ้อนกับป้าติ๋มมีทายาทด้วยกัน ๓ คน นายเด่นชัย ศรีจันทร์ นางชนิดาภา ศรีจันทร์ หรือ “ดา” และ น.ส.วิภาวรรณ ศรีจันทร์ หรือ “น้อย” สืบสานภูมิปัญญาการทำพลุและดอกไม้ไฟของครอบครัว 

จุดเริ่มต้นการจุดพลุงานพระนครคีรีในสมัย นายเชาวน์วัศ สุดลาภา ผวจ.เพชรบุรี ปีพ.ศ. ๒๕๒๙ ได้จัด งานพระนครคีรี-เมืองเพชรครั้งที่ ๑ ขึ้นเป็นปีแรก หลังจากกรมศิลปากรได้บูรณปฏิสังขรณ์หมู่พระที่นั่งบนพระนครคีรีให้กลับมางดงามดั่งเดิม มีการจุดพลุไฟตะไลเพลิงเฉลิมฉลองบนพระนครคีรี สมัยนั้นมี พระอาจารย์สำรวย วัดไม้รวกสุขาราม อ.บ้านลาด เป็นผู้รับงานจุดพลุจากจังหวัดเพชรบุรี พระอาจารย์สำรวยซื้อหาพลุจากช่างทำพลุหลายเจ้าขึ้นไปจุดบนเขาวัง
รวมถึงพลุของช่างฉอ้อนให้ขึ้นไปจุดบนเขาวังด้วย

                ลุงฉอ้อน เล่าย้อนอดีตให้ฟังว่า สมัยก่อนจุดพลุเขาวังขึ้นพร้อมกัน ๓ ยอดเขา คือ ยอดเขาทิศตะวันออก บริเวณลานด้านหลังวัดพระแก้วน้อย ยอดกลางตั้งกระบอกพลุรอบฐานองค์พระธาตุจอมเพชร และยอดเขาทิศตะวันตก บริเวณป้อมปราการด้านทิศใต้ใกล้กับหอชัชวาลเวียงชัย หรือ “กระโจมแก้ว” จุดได้ประมาณ ๑๐ ปี นายปฐม ระสิตานนท์
หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครคีรี ห่วงว่าการจุดพลุใกล้เคียงกับหมู่พระที่นั่ง เจดีย์ และอาคารต่าง ๆ จะทำให้โบราณสถานได้รับความเสียหายจากแรงระเบิดของพลุ จึงลดตำแหน่งการจุดพลุจาก ๓ ยอดเขา เหลือเพียง ๒ แห่งตามที่เห็นกันในปัจจุบัน โดยในปีนี้ขยับเวลาการจุดพลุให้เร็วขึ้นจากเดิมเวลา ๒๑.๐๐ น. ขยับเร็วขึ้นมาจุดเวลา ๒๐.๓๐ น. พร้อมตั้งชื่อการแสดงพลุในปีนี้ว่า “เพชรแห่งเพชร” เป็นการแสดงถึงอัญมณีที่เปล่งแสงงดงามยามค่ำคืน                 การจุดพลุหรือการแสดงพลุในแต่ละวันต้องตระเตรียมพลุเป็นจำนวนมาก ประมาณ ๓๕๐ – ๔๐๐ กว่านัดในแต่ละคืน ลุงฉอ้อนและทีมงานนำพลุและอุปกรณ์จากที่บ้านมาติดตั้งใหม่ทุกวัน มีลูก ๆ และทีมงานดำเนินการด้วยความระมัดระวัง โดยในปีนี้ทางจังหวัดกำหนดขนาดของพลุไว้ที่ ๔ นิ้ว และ ๓ นิ้ว ส่วนพลุขนาดใหญ่ขนาด ๖ นิ้ว และ ๘ นิ้ว ซึ่งในอดีตเคยอนุญาตให้จุดนั้น ระยะหลังไม่อนุญาตให้จุด เนื่องด้วยข้อบังคับและเกรงว่าแรงระเบิดของพลุจะส่งผลต่อโบราณสถานหมู่พระที่นั่ง ปราสาท อาคารต่าง ๆ บนพระนครคีรีจะได้รับความเสียหายจากแรงระเบิด จึงลดขนาดของพลุตามความเหมาะสม

นอกจากพลุสีสันต่าง ๆ แล้ว ยังมีพลุที่แตกตัวเป็นรูปร่างต่าง ๆ เช่น ตัวเลข ๓๕ พลุรูปหัวใจ พลุรูปดอกไม้ รูปผีเสื้อ รูปใบหน้าคนยิ้ม รูปรวงข้าว รูปต้นตาล ล้วนเป็นความตั้งใจสร้างสรรค์ของลุงฉอ้อนและทีมงาน ลุงฉอ้อนบอกว่า การจุดพลุเป็นเสน่ห์ของงานพระนครคีรี คนมาเที่ยวงาน ช่างภาพจากกรุงเทพฯ จากต่างจังหวัดมางานพระนครคีรีก็อยากมาดูพลุมาถ่ายภาพพลุ จึงตั้งใจทำพลุให้ออกมาดีให้สวยงามสมกับที่ทุกคนรอคอย.  

error: ขอสงวนสิทธิ์ ในการคัดลอกบทความ !!