วันครูคิดถึงครู

        มีไม่กี่อาชีพที่มีวันสำคัญของอาชีพ ครูมีวันครูแห่งชาติตรงกับ
วันที่ ๑๖ มกราคมของทุกปีมีครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๐๐ เหตุผล
ที่กำหนดให้วันที่ ๑๖ มกราคม เป็นวันครู สืบเนื่องมาจากได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีพระราชบัญญัติครูในปี ๒๔๘๘ และซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า “คุรุสภา”  ซึ่งมีสถานะเป็นนิติบุคคลและ
ให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครูใน
ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ให้ความ เห็นในเรื่องนโยบายการศึกษา และวิชาการศึกษา
ทั่วไปแก่กระทรวงศึกษาธิการ จัดสวัสดิการให้แก่ครูและครอบครัว ได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครู                

          ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า “ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณเป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่า “วันครู” ควรมีสักวันหนึ่งสำหรับให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายได้แสดงความเคารพสักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณทั้งหลาย เพราะเหตุว่าสำหรับคนทั่วไปถ้าถึงวันตรุษ
วันสงกรานต์ เราก็นำอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน
คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง”

          นับถึงปัจจุบันมีวันครู ๖๕ ครั้งแล้ว แม้ว่าบทบาทของคุรุสภาในปัจจุบันจะเปลี่ยนไปจากเดิมมาก แต่การจัดกิจกรรมในวันครูก็ยังมีอยู่
ต่อไป

          ทุกคนมีครูเมื่อวันครูเวียนมาถึงก็นึกถึงครูที่เคยสั่งสอนอบรมมา ครูคนแรกที่สอนชั้น ป.๑ ชื่อครูวิโรจน์ มีลาภ ปี ๒๕๐๐ ห้องเรียนชั้น ป.๑ ที่โรงเรียนวัดปากคลองอยู่ใต้ถุนศาลา ขึ้นชั้น ป.๒ จึงได้ขึ้นไปเรียนที่อาคาร “ศุทธยาลัย” ครูสอนต่อมาชั้น ป.๒ ชั้น ป.๓ ชื่อครูลับ เงินใย ชั้น ป.๔ ครูวิโรจน์มาสอนอีก ๔ ปีแรกเป็นหลักสูตรเก่าก่อนประกาศใช้หลักสูตร ๒๕๐๓ วิชาที่สอนก็จะมีเลขคณิต ภาษาไทย เป็นหลัก ส่วนวิชาอื่นครูก็จะสอนแบบบูรณาการให้จดในสมุด เรียกว่า “สมุดจดวิชา” จบชั้น ป.๔ ก็จบการศึกษาภาคบังคับ เพื่อนหลายคนก็ออกจากโรงเรียนไป

          ครูประจำชั้น ป.๕ ชื่อครูสมนึก บัวงาม เป็นครูที่สอนภาษาอังกฤษ
คนแรกด้วยครูชั้น ป.๖ ชื่อครูสมศักดิ์ ตันติสุนทโรดม ชั้น ป.๗ ครูประจำชั้น
ชื่อครูบุญเรือน พราหมณ์คล้ำ ช่วงสามปีนี้เป็นการใช้หลักสูตร
พ.ศ. ๒๕๐๓ มีรายวิชา ภาษาไทย คณิตศาสตร์ สังคมศึกษา วิทยาศาสตร์ สุขศึกษา ภาษาอังกฤษ ครูประจำชั้นทุกท่านที่กล่าวมาก็สอนทุกวิชา ครูในระดับประถมทุกท่านมีครูบุญเรือนท่านเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่ นอกจากนั้นท่านกลับดาวครูไปแล้ว

                เรียน มศ.๑ พรหมานุสรณ์ ครูประจำชั้นชื่อครูสายพิณ เปี่ยมสง่า มศ.๒ ครูบุญล้อม พ่วงเดช มศ.๓ ครูแสวง เอี่ยมองค์ การเรียนชั้นมัธยมก็จะมีครูสอนเป็นรายวิชา ครูสอนภาษาอังกฤษ ครูอารีย์ สุนทรานนท์
ครูบุญล้อม พ่วงเดช ครูโสภิณ ยิ้มงาม
ครูสอนภาษาไทย ครูสายพิณ เปี่ยมสง่า ครูเพ็ญพร วัชโรภาส ครูสอนคณิตศาสตร์ ครูวิรัตน์ สุนทรานนท์
ครูแสวง เอี่ยมองค์
ครูวิทยาศาสตร์ ครูเกรียง กาญจนวะสิต ครูชาติชาย
กลิ่นอุบล
ครูสังคมศึกษา ครูเดี่ยน วงศ์ศศิธร ปีนั้นท่านเกษียณแล้วแต่ยังมาช่วยสอนเพราะไม่มีครู ครูศรีรัตน์ จ้อยสำเภา ครูศิลปศึกษา ครูดี
ออไอสูรย์
ครูหัตถศึกษา ครูผิน ชัยอุดม ครูพลศึกษา ครูประมวล สุสุทธิ และอีกหลายท่านที่จำท่านไม่ได้ ปกติครูจะจำนักเรียนไม่ได้ แต่นักเรียนจะจำครูได้ นักจิตวิทยาการศึกษาท่านหนึ่งเคยกล่าวว่า “เมื่อเวลาผ่านไปเป็น
เวลานาน ๆ นักเรียนจะจำได้ว่าครูปฏิบัติต่อเขาอย่างไร แต่จะจำ
ไม่ได้ว่าครูสอนเขาอย่างไร”
จริงหรือไม่ก็ลองไปทบทวนกันดู

error: ขอสงวนสิทธิ์ ในการคัดลอกบทความ !!