คำว่า แลบ คำนี้ปรากฏอยู่กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก พระนิพนธ์ของ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ วรรณคดีสมัยอยุธยา ความว่า
เดือนหกสรกฝนสวรรค์ จรดนังคัลตามพิธี
แรกนาเข้าธรณี พี่ดูเจ้าเปล่าใจหาย
เดือนหกตกครั่นครื้น ฝนสวรรค์
พิธีจรดนังคัล ก่อเกล้า
แรกนาจอมไอศวรรย์ กรุงเทพ
พี่แลบเห็นเจ้า เปล่าแล้วใจหาย
“พี่แลบเห็นเจ้า” มีความหมายว่าอะไร ผมพยายามนึกความหมายโดยนำไปเทียบกับคำว่า แลบลิ้น ก็ดูจะไปคนละเรื่อง เอาเทียบกับคำว่า แลบ ที่หมายถึง โผล่ หรือ ปลิ้น ออกมา เช่น ชายเสื้อแลบออกนอกกางเกง ก็ไม่ได้ความที่ชัดเจนอีก แต่พอใช้กับคำว่า ฟ้าแลบ ที่หมายถึง แสงแวบ ๆ ออกไป ก็พอได้เค้าความหมายอยู่บ้าง
ผมก็เลยสรุปความหมายของคำว่า แลบ และถอดความวรรคที่ว่า พี่แลบเห็นเจ้า ได้ว่า พี่ได้เห็นน้องเพียงแวบเดียวเท่านั้น โดยปริยายหมายถึง เห็นแค่เพียงชั่วพริบตาเดียว
ลองไปค้นคำว่า แลบ จากวรรณคดีเก่า ๆ เทียบดู พบว่าคำนี้จะใช้ว่า แมลบเสียส่วนใหญ่ อย่างบทแม่ศรีที่ผมชอบมาก ๆ บทหนึ่ง คือ
แย้มสะไบไหวแวบแมลบถัน ชักผ้าปิดพลัน
พี่ชมแม่ศรีดีใจ แม่ศรีสาครขานไข
ใช่สาวคราวใคร นมยานหน้าอ่อนเอวกลึง
คำว่า แมลบ เป็นคำเก่ามีความหมายว่า แลบ อย่างที่ใช้ในปัจจุบัน นิยมใช้กับแสงของสายฟ้า ดังตัวอย่าง ไตรภูมิพระร่วง วรรณคดีสุโขทัย (พิมพ์รักษาอักขรวิธีตามต้นฉบับ)
“…แลเหนพรรณขาวงามนักโดยปากดุมนันหุมด้วยแผนเงอน
แลเหนงามดังเดิอนเมิอวันเพงปูรณณ์เทาวากลางนันเปนรูตระหลอดไปโดยรอบหัวกำนันยอมปรดับด้วยแก้ว ๗ ปรการแล ทอนเหลิอมใสงามด่งง
ฟาแมลบ แลมีรสมิดงงพรอาทิตยเมิอพิจจารณาดูใสเหลิอมพรายงาม
ดงงสายฟาแมลบรอบ ๆ ใพล ๆ ใขว ๆ ไปมาดูงามนักหนาทัวทุกแหงแล ฯ ชือว่า นาภิสพพการบริบูณณ์ ฯ แตกาลใดพันนีงนันเทียรยอมปรดับ
นีด้วยแก้ว ๗ ปรการดูเหลิอมงามด่งฺงฟาแมลบรูงเริองด้วยรสมีด่งงรส
มีพระอาทิตยยอมแก้ว อันติเปนตาปูดูลายงามแลมีรสมีฉวัดเฉวิยนใปมา
ด่งงเทพยดาผูชือวาพระวิสสนุกกมมนันแลก่งนันเทียรยอมแก้พพานรตน
ดูเกฺลิง เกฺลิยง…”
ยกตัวอย่างวรรณคดีอีกหนึ่งเรื่องที่พบคำว่า แมลบคือคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททอง วรรณคดีสมัยอยุธยา ความว่า
ใช่กาลฟ้าฝน
ชระอุ่มมัวมล ทั่วทิศาศานต์
แมลบเหลืองเรืองรอบ ทั่วขอบจักรวาฬ
ประดุจเมือกาล วสันตมาสา
…
ขนัดปืนแห่แหนซ้ายขวา คล่ำเคลือบพสุธา
บ่ รู้กี่ส่ำสามรรถ ดุจสายพิทยุตแสงจรัส
แมลบเหลืองเรืองทัด ทิวากโรรัศมี
จากคำว่า แมลบ เหลือใช้เพียง แลบ นั้น มีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับการใช้คำเสียง ม กับ ล ในคำอธิบายความเบื้องต้นเรื่องโคลงนิราศ
หริภุญชัย ความว่า
ม กับ ล จารึกหลัก ๒ ใช้ ฟ้าแมลบ ปัจจุบันภาคกลางใช้ แลบ ล้านนาใช้ แมบ ในทำนองเดียวกันนี้ มีคำ มลื่น – ลื่น – มื่น, มล้าง – ล้าง – ม้าง เราอาจจะแปล ไม้มลาย ไม่ออกแล้ว แต่ไทยล้านนาใช้ มาย แปลว่า คลายออก ฉะนั้น ไม้ม้วนเขียนปลายม้วนเข้า ไม้มลายเขียนปลายคลายออกไป คำว่า มลาก แปลว่า ดี เช่น ยินมลาก ฉะนั้น ผู้ลากมากดี ก็แปลว่า
ผู้ดี นั่นเอง
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ยังเก็บลูกคำที่ ใช้เสียง ม กับ ล คำอื่น ๆ เช่น มลน ลนลาน, มลวก – ลวก, มล่อน สนุก เพราะ หวาน, มล่อย ม่อย เผลอ, มละ – ละ, ทิ้ง, มลังเมือง สุกใส, มล้า – ล้า, มล้าง – ล้าง ม้าง, มลาน เหี่ยว แห้ง อ่อน, มลาน ลนลาน, มล่าน วิ่งพล่าน, มลาย ตาย ทำลาย, มลาว – ลาว, มล่าวเมลา
งดงาม สวย, มลิน ขุ่นมัว มัวหมอง ไม่บริสุทธิ์, มลิ้น – ลิ้น, เมล็ด – เม็ด, เมลื่อย – เมื่อย, เมลื้อย – เลื้อย
นี้คือข้อสรุปที่ค้นได้ ซึ่งช่วยไขข้อข้องใจให้ศัพท์สงสัยคำว่า แลบ ถือเป็นอันยุติลงไว้แต่เท่านี้