ขบวนการนอกสภายังป่วน-บังคับใช้กฎหมายต้องเข้ม !!



(ศาลรัฐธรรมนูญชี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ไปต่อ
ขบวนการนอกสภายังป่วน-บังคับใช้กฎหมายต้องเข้ม !!
———————————–
หลังจาก ส.ส. ฝ่ายค้าน นำโดย “พรรคเพื่อไทย” ได้ยื่นคำร้องผ่าน ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลง เนื่องจากดำรงตำแหน่งครบกำหนดเวลาตามมาตรา ๑๗๐ วรรคสาม และมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปี พ.ศ. ๒๕๖๐ แล้วหรือไม่ !!
โดยฝ่ายค้านเห็นว่า พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ครบ ๘ ปีแล้วนับจากได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกตั้งแต่เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๗
ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องไว้พิจารณาและมีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๕ นัดฟังคำวินิจฉัยวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๕ โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๕ เป็นต้นมา
ในห้วงที่รอฟังคำวินิจฉัยของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ขบวนการนอกสภาที่ไม่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ “อยู่ต่อ” ก็ออกมาชุมนุม ฟันธงล่วงหน้าแทนศาลว่า พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในตำแหน่ง “ครบ ๘ ปีแล้ว” และพยายามกดดันคณะตุลาการก่อนวันฟังคำวินิจฉัย บรรดานักวิชาการและนักกฎหมายที่แสดงตนอยู่ฝ่ายตรงข้าม พล.อ.ประยุทธ์ มาโดยตลอด ก็ออกมาแสดงความเห็นในท่วงทำนองเดียวกันกับผู้ชุมนุม
ในที่สุดเมื่อบ่ายวันที่ ๓๐ กันยายน เวลา ๑๕.๐๐ น. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยและได้มีมติด้วยเสียงข้างมาก ๖ ต่อ ๓ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้ โดยให้เริ่มนับวันดำรงตำแหน่งนายกฯตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ โดยยึดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ เป็นหลักการสำคัญ และการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่มีข้อห้ามในบทเฉพาะกาล
ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่เหมือนศาลทั่วไป ตรงที่ว่าในคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนอกจากมีผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายแล้ว ก็ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิ “ด้านรัฐศาสตร์” มาร่วมเป็นองค์คณะด้วย เพราะฉะนั้น การใช้วิชาการทางรัฐศาสตร์มาเป็นแนววินิจฉัยในแต่ละคดี ทำให้เกิดความถ่วงดุลโดยมองในมุมของความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองด้วย ไม่เคร่งครัดต่อตัวบทกฎหมายจนเกินไปนัก
สมัย นายทักษิณ ชินวัตร ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดีซุกหุ้น และชนะด้วยเสียงของตุลาการข้างมาก ๘ ต่อ ๗ ก็น่าจะใช้ความเป็นรัฐศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องในการวินิจฉัยคดี เนื่องจากแรงกดดันขณะนั้นอ้างว่านายทักษิณมาจากการเลือกตั้งของประชาชนกว่า ๑๖ ล้านเสียง จะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองง่าย ๆ ได้อย่างไร
อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลวินิจฉัยให้ พล.อ.ประยุทธ์ สามารถกลับมาดำรงตำแหน่งได้เหมือนเดิมพวกชุมนุมกดดันนอกสภาก็ประกาศเสียงดังฟังชัดว่าจะไม่เลิกชุมนุม พูดง่าย ๆ ว่าผลจะออกมาอย่างไร ก็จะไม่ขอเคารพคำวินิจฉัยของศาล
จากนี้ไปตราบที่ พล.อ.ประยุทธ์ยังอยู่ในตำแหน่ง พวกชุมนุมนอกสภาก็จะนัดชุมนุมกันต่อไป เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่ต้องควบคุมดูแลการชุมนุมอย่าให้ละเมิดกฎหมายหากอยู่ในกรอบกติกาก็คงไม่มีใครว่า
แต่คิดว่าการชุมนุมคงไม่ยืดเยื้อ เพราะการชุมนุมแบบยืดเยื้อหรือปักหลักพักค้างต้องมีค่าใช้จ่ายในแต่ละวันจำนวนมาก ถ้าไม่มาชุมนุมกันด้วยใจหรือออกค่าใช้จ่ายเองก็คงลำบาก ยิ่งชุมนุมนานวันก็ยิ่งต้องใช้เงินมาก ใครจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝน มรสุมก็กำลังจะเคลื่อนเข้าไทยอีกหลายลูก พายุ “โนรู” ก็ขึ้นฝั่งไทยมาแล้ว การชุมนุมกันในที่แจ้งน่าจะได้รับผลกระทบและไม่สะดวกเป็นอย่างมาก
จากนี้ไป พล.อ.ประยุทธ์ คงต้องเหนื่อยกับขบวนการต่อต้าน ถ้าหากวุ่นวายหนัก ๆ ก็อาจตัดสินใจประกาศ “ยุบสภา” หลังการประชุมเอเปคในไทย ซึ่งการยุบสภาก่อนครบวาระ บรรดานักการเมืองส่วนใหญ่คงไม่มีใครชอบแน่ เพราะต้องเหนื่อยกับการลงพื้นที่หาเสียงและต้องใช้เงินจำนวนไม่น้อย
แต่คนที่คิดจะออกไปชุมนุม ก็ต้องตระหนักให้ดีว่าขณะนี้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองบังคับใช้กฎหมายอย่าเข้มแข็งจริงจัง สังเกตได้จากกรณีการชุมนุมของกลุ่มราษฎร หรือกลุ่มทะลุวัง-ทะลุแก๊ส ที่ผ่านมา ออกฤทธิ์เดชยึดพื้นที่ถนน บุกสถานที่ราชการ เผาทำลายป้าย เผา-ทุบรถตำรวจ เผาป้อมตำรวจ สาดสีรั้วศาลอาญา-รั้วสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำลายซุ้มเฉลิมพระเกียรติใช้อาวุธทำร้ายเจ้าหน้าที่และผู้เห็นต่างบาดเจ็บและล้มตาย แถมยังใช้กิริยาวาจาหยาบคาย
เหยียดหยามดูหมิ่น หมิ่นประมาท ถูกตามกวาดจับมาดำเนินคดีนับร้อยนับพันราย หลายคนกำลังอยู่ในระหว่างได้รับการประกันตัว หลายคนถูกจับกุมคุมขังอยู่ในเรือนจำ บ้างก็ถูกใส่กำไลอีเอ็ม ขณะที่หลายคนถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดและกำลังถูกจองจำ
หรือหากมองย้อนไปยังสมัยการชุมนุมของ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.), กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) หรือ กลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่ออกมาชุมนุมและก่อเหตุวุ่นวายจนนำไปสู่การรัฐประหาร ก็ถูกแจ้งข้อหาหนักและถูกดำเนินคดีโดยไม่ยกเว้น ต้องโทษจำคุก ปรับ ชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งเป็นตัวอย่างให้เห็นมาแล้ว แม้เหตุการณ์จะผ่านมานานกว่า ๑๐ ปีแล้วก็ตาม
เพราะฉะนั้นผู้ที่ต้องการจะนัดหมายกันชุมนุมในห้วงเวลานี้ ถ้ากระทำผิดกฎหมายก็คงหนีไม่พ้นที่จะถูกกวาดจับ ซึ่งไม่แตกต่างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต สมัยนี้การสืบค้นผู้กระทำผิดกระทำได้ไม่ยาก มีความชัดเจน และสามารถตามตัวมาดำเนินคดีได้รวดเร็ว
เวลานี้พรรคการเมืองใหญ่ต่างก็ล้วนมีความหวังว่าจะได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เนื่องจากใกล้ครบวาระของรัฐบาลชุดนี้เข้าไปทุกทีแล้ว หากได้อำนาจบริหารอยู่ในมือ ก็จะสามารถแต่งตั้งข้าราชการที่เป็นคนของตัวเข้าไปดูแลสนามเลือกตั้งในจังหวัดต่าง ๆ ได้เต็มที่
เป็นที่สังเกตได้ว่าการชุมนุมทางการเมืองเพื่อต่อต้านรัฐบาลในทุกวันนี้ ผู้ชุมนุมมักหาเหตุชุมนุมไม่จบสิ้น เช่น อ้างว่าต้องการรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในอดีต เช่น รำลึกเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕, รำลึกเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาฯ, รำลึกเหตุการณ์ ๖ ตุลาฯ, เหตุการณ์ ๗ ตุลาฯ, รำลึกเหตุการณ์รัฐประหารของ คมช. ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙, รำลึกเหตุการณ์รัฐประหารของ คสช. ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗, ฯลฯ ชุมนุมแต่ละครั้งก็ยึดถนน เดินขบวน แสดงสัญลักษณ์ สร้างความปั่นป่วนวุ่นวาย อ้างว่าเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แต่ก็ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น
จากนี้ไปไม่ว่าฝ่ายไหนขึ้นมาเป็นรัฐบาล คาดว่าจะมีการชุมนุมเช่นนี้เรื่อยไป สภาควรแก้ไขกฎหมายการชุมนุมให้มีความเข้มงวดมากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ เพราะการชุมนุมแต่ละครั้งได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนที่ไม่สามารถทำมาหากินหรือใช้ชีวิตอย่างสงบสุขได้ เป็นภาพพจน์ที่ไม่ดีในสายตาชาวต่างชาติ ส่งผลกระทบถึงการท่องเที่ยวและการลงทุน
แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับตัวผู้นำประเทศว่าจะมีแนวทางจัดการปัญหาเพื่อมิให้ประชาชนเดือดร้อนได้อย่างไร
ยิ่งขณะนี้รัฐบาลได้ประกาศยกเลิก พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก.ฉุกเฉิน) อันเนื่องจากสถานการณ์โควิด-๑๙ คลี่คลาย จึงคาดกันว่าการชุมนุมจะมีถี่ขึ้น เพื่อกดดันให้รัฐบาลหรือเรียกร้องในเรื่องต่าง ๆ
แต่ไม่ว่าจะยกเลิกหรือไม่ยกเลิก พรก. คนที่คิดจะออกมาชุมนุม ก็ออกมาชุมนุมกันวันยังค่ำ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าชุมนุมแล้วอาจถูกจับกุมไปดำเนินคดี ส่วนหนึ่งก็เป็นเยาวชนที่มีความเชื่อมั่น ในสิ่งที่ตัวเองแสดงออก
แต่การแสดงออกเมื่อไปละเมิดต่อกฎหมาย ก็ถูกจับกุมไปดำเนินคดี หลายคนไม่เคยเข้าไปในเรือนจำ ก็ต้องเข้า ขณะที่คนชักใยเป็นอีแอบอยู่ข้างหลังก็ไม่กล้าแสดงตัว ปล่อยให้เด็กรุ่นใหม่เผชิญชะตากรรมแต่เพียงลำพัง หรือที่เรียกว่า “เดียวดายหน้าบังลังก์” นั่นแหละ
ปัญหาใหญ่ของประเทศไทยคือการทุจริตคอร์รัปชั่นโดยนักการเมืองและข้าราชการ ส่วนหนึ่ง เมื่อวันก่อนมีข่าวสาธารณรัฐประชาชนจีนลงโทษประหารชีวิตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และจำคุกอดีตตำรวจชั้นผู้ใหญ่อีก ๓ คน ซึ่งจีนมองว่าปัญหาคอร์รัปชั่นบั่นทอนความเจริญก้าวหน้าของประเทศอย่างร้ายแรง
ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ยึดโยงอำนาจประชาชนโดยผ่านคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ ไม่มีใครกล้ายุ่ง ที่สำคัญคือการปราบปรามคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง หากจับได้ไล่ทันก็จัดการไม่ไว้หน้า แม้แต่มหาเศรษฐี “แจ็คหม่า” ที่มีท่าทีไม่สอดคล้องกับแนวทางของรัฐ ก็โดนจัดการเรียบร้อย ผู้นำจีนมีความเด็ดขาด ไม่ว่าใครจะใหญ่มาจากไหน จะเล่นงานตัวใหญ่ก่อน เพื่อปรามไม่ให้พวกตัวเล็ก ๆ เหิมเกริม ประชากรของสาธารณรัฐประชาชนจีนมีมากกว่าพันล้านคน ถ้าไม่มีวางมาตรการหรือกฎระเบียบที่เข้มงวด ก็คงจะเอาไม่อยู่
การจัดการกับพวกทุจริตคอร์รัปชั่น ไทยกล้าทำแบบผู้นำจีนหรือเปล่า !! การลงพื้นที่หาเสียงและต้องใช้เงินจำนวนไม่น้อย….”