ศึกษาธิการ

ศึกษาธิการ ความหมายตามคำก็คือ “ผู้เป็นใหญ่ในเรื่องการศึกษา” ก็เริ่มมาตั้งแต่ชื่อกระทรวง และตำแหน่งผู้บริหารในระดับจังหวัดและอำเภอในระบบบริหารราชการส่วนภูมิภาคที่มีมาอย่างยาวนาน

        มาวันหนึ่งรัฐบาลก็มีนโยบายให้กระทรวงมหาดไทยที่มีหน้าที่ปกครอง บำบัดทุกข์บำรุงสุข ทำการกระจายอำนาจ ในรูปการปกครองท้องถิ่นเรียกว่า
องค์การบริหารส่วนจังหวัด เมื่อเริ่มแรกยังไม่มีการเลือกตั้งนายก
องค์การบริหารส่วนจังหวัด ก็ตั้งให้ปลัดจังหวัดคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และโอนโรงเรียนประถมศึกษาในสังกัด
กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการมาสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด ตั้งศึกษาธิการจังหวัดทำหน้าที่หัวหน้าส่วนการศึกษา และศึกษาธิการอำเภอ ทำหน้าที่หัวหน้าหมวดการศึกษา ดังนั้นศึกษาธิการจังหวัดและศึกษาธิการอำเภอ ทำหน้าที่ผู้บริหารเหมือนสวมหมวกสองใบ คือในราชการส่วนภูมิภาค ก็ดูแลโรงเรียนมัธยมสังกัดกรมวิสามัญศึกษา (ต่อมาเปลี่ยนเป็นกรมสามัญศึกษา) และโรงเรียนเอกชน (สมัยนั้นเรียกโรงเรียนราษฎร์ สังกัดกองโรงเรียนราษฎร์)

        เมื่อมีการแต่งตั้งหัวหน้าส่วนการศึกษา (บริหารระดับจังหวัด) และหัวหน้าหมวด (บริหารระดับอำเภอ) ศึกษาธิการก็กลับไปทำหน้าที่บริหารราชการส่วนภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการตามเดิม เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า ทั้งคนและงบประมาณส่วนใหญ่โดยรวมอยู่ที่การศึกษาระดับประถมศึกษา สำหรับโรงเรียนมัธยม กรมสามัญศึกษาต้นสังกัดก็บริหารกับโรงเรียนโดยตรงมากกว่า ศึกษาธิการจึงไม่ค่อยมีบทบาทมากนัก สำหรับโรงเรียนประถมศึกษาก็มีหัวหน้าหมวดการศึกษาบริหารในนามนายอำเภอ ทำหน้าที่ครูใหญ่โรงเรียนประถมศึกษา ทำหนังสือราชการก็ใช้คำขึ้นต้น เรียน นายอำเภอ… ถึงวันสิ้นเดือนไปรับเงินเดือนของครูทุกคนในโรงเรียนที่อำเภอ ศึกษาธิการอำเภอก็จะเรียกไปรับเงินนิตยภัต (เงินตอบแทนพระ) ให้เจ้าอาวาสวัดที่โรงเรียนตั้งอยู่ด้วย ศึกษาธิการอำเภอก็ดูเหมือนจะทำหน้าที่กับวัดมากกว่าการศึกษา

        มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารการศึกษาระดับประถมศึกษาอีกครั้ง ให้การศึกษาประถมศึกษากลับไปสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ มีเลขาธิการเป็น
ผู้บริหารแต่ไม่เป็นอำนาจเดี่ยวเหมือนอธิบดี ในระดับจังหวัดมีสำนักงาน
การประถมศึกษาจังหวัด มีผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดเป็น
ผู้บริหาร ระดับอำเภอมีหัวหน้าการประถมศึกษาอำเภอเป็นผู้บริหาร ระดับจังหวัดมีคณะกรรมการที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ทั้งการบริหารงาน
และการบริหารบุคคล ในระดับอำเภอก็มีนายอำเภอเป็นประธานคณะกรรมการ
เช่นเดียวกัน บทบาทของศึกษาธิการจังหวัดและอำเภอก็ยังคงเป็นเช่นเดิม
คือแทบจะไม่มีบทบาทในการบริหารการศึกษา
แม้ในทางวิชาการหน่วยศึกษานิเทศก์กรมสามัญศึกษาที่ศึกษาธิการจังหวัดดูแลอยู่ก็ถูกโอนมาสังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัด

        การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดสำหรับศึกษาธิการคือ เมื่อมีการจัดตั้ง
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสำนักงานเขตพื้นที่
การศึกษา ไม่มีตำแหน่งศึกษาธิการในระบบการบริหารการศึกษา และหน่วยงานในระดับกรมในกระทรวงศึกษาธิการก็ถูกยุบไปหลายกรม เช่นกรมสามัญศึกษา กรมวิชาการ

        เมื่อมีคณะรักษาความสงบแห่งชาติยึดอำนาจรัฐ มีประกาศคณะ-รักษาความสงบแห่งชาติให้มีสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด และสำนักงานศึกษาธิการภาค มีตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัดและศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการภาคก็แทนที่ศึกษาธิการเขตเดิมนั่นเอง

            มีข่าวว่าจะยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติเรื่องการจัดตั้ง
สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดและสำนักงานศึกษาธิการภาค แปลว่าศึกษาธิการก็จะไม่มีอีกต่อไป เห็นภาพศึกษาธิการแต่งเครื่องแบบไปกระทรวงศึกษาเพื่อขอให้เหมือนเดิมก็น่าเห็นใจอยู่ แต่เมื่อนึกถึงสำนักงานและตำแหน่งในการบริหารการศึกษาของบ้านเมืองเรามีมากจริง ๆ ทั้งประถม มัธยม
นอกโรงเรียน ศึกษาธิการ แต่ ตัวชี้ขาดเรื่องคุณภาพการศึกษาอยู่ที่โรงเรียน

error: ขอสงวนสิทธิ์ ในการคัดลอกบทความ !!