ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเพชรบุรี (วันที่ 16 พฤศจิกายน 2565)

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเพชรบุรี

ฉีดฮอร์โมนกระตุ้นปลาทูวางไข่สำเร็จครั้งแรกของโลก

เพิ่มโอกาสเพาะขยายพันธุ์ไม่ต้องรอลุ้นฤดูวางไข่ปีละครั้ง

“ปลาทู” เป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและเป็นที่นิยมในการบริโภคของคนไทยมาเป็นเวลานานปัจจุบันทรัพยากรผลผลิตปลาทูในธรรมชาติลดจำนวนน้อยลงซึ่งปัจจัยหลักเกิดจากจากการพัฒนาเทคโนโลยีของภาคอุตสาหกรรมและการพัฒนาเครื่องมือ
การทำประมงให้มีประสิทธิภาพในการจับที่สูงขึ้น

กรมประมงได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวจึงได้ร่วมมือกับ
ชาวประมงทั้งพาณิชย์และพื้นบ้านเพื่อที่จะหามาตรการที่จะควบคุมการทำประมงเพื่อทำให้“ปลาทูในอ่าวไทย”มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะมาตรการปิดอ่าวและการเพาะขยายพันธุ์เพื่อช่วยทดแทน
การจับปลาทูที่มากจนเกินกำลังผลิตของธรรมชาติ

นายเฉลิมชัยสุวรรณรักษ์อธิบดีกรมประมงเปิดเผยว่าที่ผ่านมา
กรมประมงได้ศึกษาวิจัยเพาะขยายพันธุ์ปลาทูเพื่อลดการใช้ทรัพยากร
จากแหล่งธรรมชาติอย่างต่อเนื่องจนประสบความสำเร็จสามารถ
เพาะพันธุ์ได้สำเร็จเมื่อปี๒๕๕๔

แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากปลาทูเป็นปลาที่มีความอ่อนแอบอบบางจึงเป็นเรื่องยากที่จะนำขึ้นจากทะเลมาเพาะเลี้ยงโดยไม่ให้บอบช้ำหรือตายไปเสียก่อนซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากรมประมงได้รวบรวมข้อมูลทางด้านชีววิทยาฤดูกาลวางไข่ลักษณะของนิเวศที่อยู่อาศัยฯลฯมาศึกษาวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ด้านงานวิชาการและประยุกต์ใช้ในการผลิตปลาทูทั้งด้านการเพาะเลี้ยงเพื่อการอนุรักษ์
และเชิงพาณิชย์อาทิการพัฒนาเทคนิคการเพาะเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์
ด้วยการให้อาหารที่มีคุณภาพและการใช้ระบบน้ำหมุนเวียนเทคนิค
การลำเลียงพ่อแม่พันธุ์จากธรรมชาติการอนุบาลลูกพันธุ์เพื่อเพิ่มอัตราการรอดฯลฯ

ปัจจุบันนอกจากการดำเนินงานตามแผนการอนุรักษ์แล้วกรมประมง
ยังได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินการโครงการ“ปลาทูคู่ไทย”เพื่อจัดการองค์ความรู้สู่การสรุปแบบเบ็ดเสร็จ (one stop) ตลอดห่วงโซ่คุณค่าของปลาทูไทยที่จะนำไปสู่การกำหนดแนวทางเชิงนโนบายเพื่อแก้ไขปัญหาปลาทูที่มีโอกาสสูญพันธุ์จากปริมาณการบริโภค
ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาการประมงและอุตสาหกรรมปลาทูของประเทศด้วยการจัดระบบตามห่วงโซ่คุณค่าของทรัพยากรทางทะเลควบคู่การพัฒนาเทคโนโลยีด้านการจัดการและด้านการเพาะเลี้ยง

ล่าสุดกรมประมงได้ดำเนินการโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาการเพาะเลี้ยงปลาทูฉีดฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่เพื่อเพิ่มโอกาสในการเพาะขยายพันธุ์ปลาทูโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเพชรบุรีซึ่งตั้งอยู่ที่ต.แหลมผักเบี้ยอ.บ้านแหลมได้รวบรวมพ่อแม่พันธุ์จากธรรมชาติมาขุนเลี้ยงและทดลองฉีดฮอร์โมนตามรอบที่กำหนดไว้
ซึ่งมีโอกาสได้ลูกปลาทูมากกว่าวิธีตามธรรมชาติที่ปลาทูจะมีฤดูวางไข่ปีละ๑ครั้งเท่านั้น

โดยความท้าทายอยู่ที่การปรับสภาพการเลี้ยงให้คล้ายคลึงกับระบบนิเวศในทะเลและต้องปรับพฤติกรรมปลาให้คุ้นเคยเนื่องจากปลาทูเป็นปลาที่ตื่นตกใจง่ายดังนั้นการจับปลาทูขึ้นมาฉีดฮอร์โมนจึงเป็นเรื่องที่ยากมากจึงนับเป็นอีกผลงานที่สะท้อนให้เห็นถึง
ความมุ่งมั่นของกรมประมงในการพัฒนาผลงานวิจัยด้านต่างๆเพื่อช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำให้เกิดความยั่งยืนสืบไป

ด้านนายประพัฒน์กอสวัสดิ์พัฒน์ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย
และพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเพชรบุรีเปิดเผยว่าศูนย์วิจัยฯได้รวบรวมพ่อแม่พันธุ์ปลาทูธรรมชาติจากโป๊ะในพื้นที่อ.บ้านแหลมมาขุนเลี้ยงในบ่อผ้าใบด้วยระบบน้ำหมุนเวียนในโรงเพาะให้เกิด
ความพร้อมในการสืบพันธุ์ด้วยอาหารที่ต่างกัน๒ชนิดได้แก่
อาหารเม็ดสำเร็จรูปและอาหารผสมสดเพื่อศึกษาและตรวจสอบ
ความสมบูรณ์เพศ

โดยเมื่อเริ่มต้นขุนเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาทูมีไข่และน้ำเชื้ออยู่ในระยะที่๒ภายในระยะเวลาการขุนเลี้ยง๓เดือนพ่อแม่พันธุ์มีน้ำหนักอยู่ในช่วง๑๓๔ – ๒๑๐กรัมความยาวอยู่ในช่วง๑๙- ๒๐เซนติเมตร
ไข่และน้ำเชื้อพัฒนาเป็นระยะที่๔ซึ่งเป็นระยะที่พร้อมจะฉีดฮอร์โมนจึงนำมาทดลองฉีดฮอร์โมนกระตุ้นให้ปลาวางไข่ที่ระดับความเข้มข้น
ต่างกัน๓ระดับในช่วงเดือนเมษายน-กรกฎาคมรวมทั้งสิ้น๖ครั้ง
ได้ไข่ทั้งหมดอยู่ในช่วง๑๕,๘๓๓ – ๙๕,๘๓๓ฟองเป็นไข่ดี
อยู่ในช่วง๑๔,๙๗๘-๘๕,๐๐๓ฟองได้ลูกปลาแรกฟักอยู่ในช่วง
๒,๒๕๐-๒๐,๐๐๐ตัวคิดเป็น๗.๐๔-๔๔.๙๔ % จากไข่ทั้งหมดและ๗.๙๔-๖๑.๕๔ % จากไข่ดี

ระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนอนุบาลลูกปลาพร้อมวางแผนพัฒนาสูตรอาหารที่เหมาะสมสำหรับการอนุบาลลูกพันธุ์ปลาทูให้มี
อัตราการรอดสูงที่สุดซึ่งความสำเร็จของการฉีดฮอร์โมนดังกล่าว
จะทำให้กำหนดและคำนวณระยะเวลาการวางไข่ของปลาทูได้
สนับสนุนให้เกิดการแพร่พันธุ์ตามธรรมชาติมากขึ้นเกิดการหมุนเวียน
ของปลาโตเต็มวัยและทำให้มีทรัพยากรปลาทูเพื่อบริโภคได้อย่างต่อเนื่อง

นับได้ว่าเป็นความสำเร็จครั้งแรกของโลกในการทดลองฉีดฮอร์โมนกระตุ้นการวางไข่ของปลาทูจากอดีตที่ปล่อยให้พ่อแม่พันธุ์ปลาทูผสมกันเองตามธรรมชาติซึ่งเป็นความหวังในการเพาะพันธุ์ปลาทูเพื่อปล่อยสู่ทะเลในเชิงอนุรักษ์หรือการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงปลาทูเชิงพาณิชย์ต่อไป

“นอกจากมาตรการที่ช่วยกันดูแลทรัพยากรปลาทูจากการทำ
การประมงแล้วทุกคนก็สามารถมีส่วนร่วมได้ในการอนุรักษ์ทรัพยากรปลาทูได้อย่างง่ายๆคือไม่บริโภคปลาที่มีไข่หรือปลาตัวเล็กๆ
ปล่อยให้ปลาเหล่านี้ได้เติบโตมาเป็นอาหารในช่วงเวลาที่เหมาะสม
และมีมูลค่าที่เศรษฐกิจดีกว่าหากทุกคนช่วยกันเชื่อมั่นว่าท้องทะเลทรัพยากรประมงจะกลับคืนความอุดมสมบูรณ์ได้อีกครั้งอย่างแน่นอน” อธิบดีกรมประมงกล่าว.

error: ขอสงวนสิทธิ์ ในการคัดลอกบทความ !!