สร้างสรรค์เครื่องปั้นดินเผาชุมชน ภายใต้แนวคิด “อาหารผสานศิลป์”

                “เพชรบุรี” เป็นจังหวัดขึ้นชื่อเรื่องอาหารคาวหวาน มีฝีมือชั้นเชิงในงานศิลปกรรม “สกุลช่างเมืองเพชร” เพื่อให้เกิดการผสมผสานระหว่างกันภายใต้แนวคิด “อาหารผสานศิลป์” Eat and Art Unlimited ทาง “มหาวิทยาลัยศิลปากร” จึงได้ร่วมกับ “จังหวัดเพชรบุรี” โดยการสนับสนุนจาก “สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ” จัดกิจกรรม อบรมเชิงปฏิบัติการเครื่องปั้นดินเผาชุมชน นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ประสพชัย พสุนนท์ หัวหน้าโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีฯ รองศาสตราจารย์สยุมพร กาษรสุวรรณ หัวหน้าภาควิชาเครื่องเคลือบดินเผา คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และคณาจารย์ทีมวิทยากร จัดกิจกรรมถ่ายทอดความรู้การทำเครื่องปั้นดินเผาให้กับชุมชนถนนคลองกระแชง โดยมี นางวันเพ็ญ มังศรี รอง ผวจ.เพชรบุรี เป็นประธานเปิดการอบรม เมื่อระหว่างวันที่ ๑๓ – ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๔ ณ ใต้ถุนศาลาการเปรียญวัดพลับพลาชัย ต.คลองกระแชง อ.เมือง จ.เพชรบุรี

  รองศาสตราจารย์ ดร.ประสพชัย พสุนนท์

                รองศาสตราจารย์ ดร.ประสพชัย พสุนนท์ กล่าวว่า กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการเครื่องปั้นดินเผาชุมชนในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งใน โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี เรื่อง การพัฒนาชุมชนต้นแบบด้วยการท่องเที่ยงเชิงสร้างสรรค์และยั่งยืนเพื่อยกระดับจังหวัดเพชรบุรีสู่เมืองสร้างสรรค์ โดยความร่วมมือจาก ๓ ฝ่าย ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี สำนักงานวิจัยแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในผลักดันให้จังหวัดเพชรบุรีก้าวสู่เมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก โดยได้รับความร่วมมือจาก รศ.สยุมพร กาษรสุวรรณ และทีมอาจารย์จากภาควิชาเครื่องเคลือบดินเผา คณะมัณฑนศิลป์ ดำเนินการถ่ายทอดความรู้การทำเครื่องปั้นดินเผาให้กับชาวชุมชนถนนคลองกระแชงจำนวน ๓๐ คน ออกแบบภาชนะใส่อาหารที่มีอัตลักษณ์ในความเป็นจังหวัดเพชรบุรี นำลวดลายพื้นถิ่นได้แก่ ลวดลายในงานศิลปะ ลวดลายธรรมชาติ นำมาสร้างสรรค์เป็นลวดลายบนภาชนะเครื่องปั้นดินเผา ภายใต้แนวความคิด “อาหารผสานศิลป์” Eat and Art Unlimited ผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชน

รศ.สยุมพร กาษรสุวรรณ

                รศ.สยุมพร กาษรสุวรรณ หัวหน้าภาควิชาเครื่องเคลือบดินเผา กล่าวว่า การจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการเครื่องปั้นดินเผาชุมชนทั้ง ๒ วันนี้ ทีมวิทยากรจากภาควิชาเครื่องเคลือบดินเผา ประกอบด้วย ผศ.เวนิช สุวรรณโมลี อ.ประทีป จันทราภิรมย์ อ.ไกรสร ลีสีทวน อ.ศิรัมภา จุลนวล พร้อมทีมงานและนักศึกษา ให้ความรู้แก่ผู้เข้ารับการอบรมตั้งแต่การขึ้นรูปผลิตเครื่องปั้นดินเผา อุปกรณ์การตกแต่งแรงบันดาลใจจากเมืองเพชรบุรีที่นำลวดลายงานศิลปกรรมงานสกุลช่างเมืองเพชรบุรี ลวดลายธรรมชาติ ใบตาล ดอกลั่นทม ลายดอกพุดตาน ลายขนมเปียกปูน ทำเป็นแม่พิมพ์นำมาสร้างลวดลายบนภาชนะเครื่องปั้นดินเผา ขั้นตอนวิธีการทำจะนำดินเหนียวมาขึ้นรูปจากกะลามะพร้าวให้ได้รูปทรงตามที่ต้องการ จากนั้นนำแม่พิมพ์ที่นำขึ้นเป็นรูปต่าง ๆ กดลงดินเหนียวให้เกิดลวดลายบนภาชนะ ก่อนที่จะนำเข้าเตาเผาซึ่งทางมหาวิทยาลัยศิลปากรได้จัดสร้างเตาเผาจำนวน ๒ เครื่อง มูลค่าเครื่องละ ๕๐,๐๐๐ บาท มอบให้ชุมชนคลองกระแชง และกลุ่มลูกหว้าเพชรบุรี เพื่อใช้สำหรับเผาชิ้นงานเครื่องปั้นดินเผา

                นายชัชวาลย์ สหัสพาศน์ ช่างปูนปั้นเมืองเพชร หนึ่งในผู้เข้าร่วมการอบรมครั้งนี้ กล่าวว่า เทคนิคการทำเครื่องปั้นดินเผาและการเคลือบสี แตกต่างจากงานปูนปั้นที่ใช้ทักษะการปั้นปูนเป็นลวดลายต่าง ๆ เมื่อปั้นเสร็จแล้วก็ปล่อยให้เนื้อปูนแข็งตัว แต่เครื่องปั้นดินเผาจะต้องผ่านการเผาชิ้นงานด้วยความร้อนและการเคลือบสี เป็นกระบวนการทำงานที่มีขั้นตอนมากกว่างานปูนปั้น สามารถสร้างสรรค์เป็นเครื่องประดับตกแต่ง รวมถึงภาชนะจานชามใส่อาหาร เป็นการผสานกันระหว่างงานศิลปะและสุนทรี จากความหวังไปสู่ความสุขที่ได้เห็นผลงานหลังจากเปิดเตาเผา จึงอยากให้ทางชุมชนและช่างเมืองเพชรได้ร่วมมือกันในการผสานองค์ความรู้เข้าด้วยกัน เช่น การเขียนลวดลายจิตรกรรมไทยลงบนชิ้นงาน หรืองานลงรักปิดทอง งานประดับกระจก งานแกะสลักไม้ ให้ได้ชิ้นงานเครื่องปั้นดินเผาหรืองานเซรามิกที่มีอัตลักษณ์แสดงถึงความเป็นงานสกุลช่างเมืองเพชรบุรีร่วมด้วย

                นายปภังกร จรรยงค์ ประธานศูนย์บริการจัดการการท่องเที่ยวชุมชนสร้างสรรค์ กล่าวว่า ในอดีตมีการปั้น “หม้อตาล” ภาชนะดินเผาสำหรับใส่น้ำตาลโตนด ทางชุมชนกำลังฟื้นฟูภูมิปัญญาการปั้นหม้อตาล การที่อาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากรอบรมให้ความรู้เรื่องการทำเครื่องปั้นดินเผานับว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ชุมชนต้องการและจะได้นำความรู้ที่ได้ไปขยายผลถ่ายทอดให้กับกลุ่มเด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษา รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวที่สนใจได้มาศึกษาเรียนรู้ รวมถึงนำมาออกแบบสร้างสรรค์เป็นภาชนะใส่อาหาร และจัดทำเป็นสินค้าของที่ระลึกจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว หลังจากนี้จะประสานกับครูช่างเมืองเพชร ครูศิลปะ และอาจารย์มหาวิทยาลัยมาร่วมกันพัฒนาออกแบบภาชนะใส่อาหารที่มีความเหมาะสมกับชุมชนถนนคลองกระแชงต่อไป

นางวันเพ็ญ มังศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี

                นางวันเพ็ญ มังศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า ขณะนี้จังหวัดเพชรบุรีกำลังสมัครเป็นสมาชิกเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกด้านอาหาร Creative city of Gastronomy นอกจากรสชาติความอร่อยของเมนูอาหารที่หลากหลาย ขณะเดียวกันควรที่จะมีภาชนะใส่อาหารที่แสดงถึงอัตลักษณ์ในความเป็นจังหวัดเพชรบุรี จึงได้เชิญทางอาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากรมาช่วยกันคิดออกแบบภาชนะใส่อาหารในแบบเพชรบุรีจะมีหน้าตาอย่างไร เป็นที่มาของการจัดกิจกรรมในวันนี้ ซึ่งเป็นชิ้นงานแห่งความภาคภูมิใจของชาวชุมชน ผู้ที่เข้าร่วมการอบรมจะได้ทั้งอาหารตา อาหารใจ และอาหารปาก เพราะเป้าหมายเราต้องการให้ชุมชนต่อยอดเรื่องเมืองสร้างสรรค์ ไม่ใช่แค่เพียงเมนูอาหารอย่างเดียวที่จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ การปรับรูปแบบบรรจุภัณฑ์ รวมถึงภาชนะที่ใส่อาหารจะช่วยให้เพิ่มมูลค่าสินค้า และเป็นการสร้างแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวได้สนับสนุนสินค้าของชุมชนเพิ่มมากขึ้นด้วย

Art Life

error: ขอสงวนสิทธิ์ ในการคัดลอกบทความ !!