


‘เอิบลาภ ศรีภิรมย์’ ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานเพชรบุรี
มองการท่องเที่ยว จ.เพชรบุรีหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย
ภาคการท่องเที่ยวมีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมา รายได้
ของการท่องเที่ยวถือได้ว่าเป็นรายได้ที่มีเม็ดเงินจำนวนไหลเข้าประเทศในแต่ละปีมากมายมหาศาล การบริการทางการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ โรงแรม ที่พัก อาหาร เครื่องดื่ม ธุรกิจการขนส่ง ฯลฯ ช่วยให้เกิดการจ้างงานภายในประเทศในวงกว้าง ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ เริ่มคลี่คลาย นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติเริ่มเดินทางท่องเที่ยวในทุกภูมิภาคของประเทศเรามากขึ้น จังหวัดเพชรบุรี ถือได้ว่าเป็นจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบ
สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มีบทบาทในการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ และประสานงานกับภาครัฐเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในจังหวัดเป็นไปในทิศทางที่สร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวที่จะย่างก้าวเข้ามาใช้บริการ
“เพชรภูมิ” ได้รับเกียรติจาก “ผอ.อู๋” น.ส.เอิบลาภ ศรีภิรมย์ ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานเพชรบุรี ตอบคำสัมภาษณ์ถึงบทบาทหน้าที่ของ ททท.ในห้วงสถานการณ์โควิดคลี่คลายและแผนการดำเนินการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในจังหวัดเพชรบุรี
: หลังสถานการณ์โควิด-๑๙ คลี่คลาย ททท.ได้วางแนวทางการท่องเที่ยวในภาพรวมอย่างไร ?
๑. ททท.ได้มุ่งกระตุ้นให้มีการเดินทางท่องเที่ยวเข้าสู่พื้นที่บ่อยมากขึ้น การขยายวันพักให้นานวันขึ้น รวมทั้งส่งเสริมให้มีการกระจายการเดินทางท่องเที่ยวในเพชรบุรีอย่างทั่วถึง หรือเชื่อมโยงกันในทุกอำเภอ และทำให้จังหวัดเพชรบุรีเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมอย่างยั่งยืน
๒. ชูจุดขายความเป็นเมือง ๒ ยูเนสโก ตามที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ประกาศให้จังหวัดเพชรบุรีเป็น เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์โลกด้านอาหาร (City of Gastronomy) และขึ้นทะเบียนให้ “กลุ่มป่าแก่งกระจาน” เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ ๓ ของประเทศไทยในปีที่ผ่านมา ใช้ความหลากหลายของอาหารในแต่ละพื้นที่และความสมบูรณ์ของธรรมชาติเป็นจุดขายเพื่อสร้าง Story telling ของพื้นที่ ปรับปรุงแบรนด์ของเพชรบุรีให้มีความแข็งแรง
๓. ส่งมอบประสบการณ์ท่องเที่ยวที่มีคุณค่าเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มีการแบ่งปันสู่พื้นที่ด้วยกิจกรรม “เที่ยวด้วย…ช่วยได้” หรือ Meaningful Travel และการสร้าง 365 days experiences
ให้เกิดขึ้น
๔. แสวงหาพันธมิตรเพิ่มแนวร่วม และพัฒนาขีดความสามารถทางการตลาดให้กับเครือข่าย
ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและชุมชนท่องเที่ยวที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อการยกระดับมาตรฐานในการรองรับหรือให้บริการท่องเที่ยวที่เป็นสากล โดยเฉพาะการรณรงค์รักษ์สิ่งแวดล้อมของผู้ประกอบการและชุมชนท่องเที่ยว รวมทั้งประสานหน่วยงานที่ดูแลการจัดการขยะ ไฟฟ้า ประปา เป็นต้น นอกจากนี้ จะส่งเสริมผู้ประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่คำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและช่วยเหลือ
ชุมชนในท้องถิ่น ซึ่งเป็นแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวยั่งยืนหรือ Sustainable tourism
: ช่วงนี้มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาไทยมาก อะไรคือเหตุจูงใจ ?
เกิดจากความต้องการเดินทางที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากที่การเดินทางท่องเที่ยวหยุดชะงัก
ลงจากเหตุการณ์โควิด-๑๙ หรือที่เรียกว่า Pent Up Demand โดยเฉพาะในช่วงโควิด-๑๙ นั้นพบว่า
ในหลายประเทศนักท่องเที่ยวมีเงินเก็บเพิ่มมากขึ้นจากการงดเว้นการเดินทาง และต้องการ
เดินทางมาท่องเที่ยวในที่ที่ชื่นชอบกับคนคุ้นเคย รวมทั้งต้องการใช้เงินที่เก็บสะสมไว้ด้วย
: แหล่งท่องเที่ยวใน จ.เพชรบุรี ในเชิงยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว มีความได้เปรียบกว่าแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดอื่นมากน้อยเพียงใด ?
จังหวัดเพชรบุรีมีความได้เปรียบด้านตำแหน่งที่ตั้งซึ่งอยู่ไม่ไกลจาก กทม. มีการเดินทาง
เข้าถึงได้โดยสะดวก เป็นที่รู้จักมานาน มีสถานที่พักให้เลือกหลายระดับราคาและหลายประเภทตามความต้องการที่แตกต่างกันของกลุ่มลูกค้า มีแหล่งท่องเที่ยวให้เลือกตามพฤติกรรมและความสนใจ อาทิ เที่ยวหาดทรายชายทะเล เที่ยวป่าเขา เที่ยวเมืองเก่า Sport event, Festival, Music เป็นต้น
: การที่องค์การ UNESCO ได้ขึ้นทะเบียนให้ จ.เพชรบุรี เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร (City of Gastronomy) และป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก จะส่งผลดีต่อการ
ท่องเที่ยวอย่างไร ?
ส่งผลต่อแบรนด์หรือภาพลักษณ์และความมีชื่อเสียงของจังหวัดเพชรบุรี สร้างความมี
ชื่อเสียงและความเป็นสากลให้แก่จังหวัดและทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติได้รู้จักเพชรบุรีมาก
ยิ่งขึ้นในแง่มุมด้านต่าง ๆ ที่อาจไม่เคยทราบ อาทิ อาหารและความสมบูรณ์ของธรรมชาติใน
ผืนป่า กระตุ้นความสนใจในการเดินทางมาท่องเที่ยวเพชรบุรีมากยิ่งขึ้น
: ระบบความปลอดภัย ระบบสาธารณสุข ระบบการบริหารจัดการแหล่ง
ท่องเที่ยว ททท.มีส่วนประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนักท่องเที่ยวมากน้อยเพียงใด ?
ททท.เป็นหน่วยงานด้านการทำตลาด การโฆษณาและประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการ
เดินทาง แต่ในขณะเดียวกันมีหน้าที่เป็นหน่วยงานที่สะท้อนความต้องการ และปัญหาที่ส่งผล
กระทบต่อนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นลูกค้าหลักของจังหวัดเพชรบุรี เพื่อเป็นหน่วยงานสนับสนุน
ด้านการให้ข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็น รวมทั้งร่วมในการจัดทำแผนงานอันเป็นการเอื้ออำนวยให้การพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่สามารถสนองตอบพฤติกรรมและความต้องการของนักท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
: ททท.สำนักงานเพชรบุรี ได้วางแผนการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในเชิงรุกอย่างไร ?
๑. ททท.จะใช้การทำตลาดดิจิทัลมาร์เกตติ้งและการเล่าเรื่องราว (Story telling) เป็น
เครื่องมือหลักในการสร้างแรงจูงใจและชักชวนให้มาท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบุรี
๒. ททท.จะออกแบบประสบการณ์ที่มีคุณค่าในทุกช่วงเวลาของ Customer Journey
ทั้งก่อนการเดินทาง ระหว่างการเดินทาง และหลังการเดินทาง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทาง
ซ้ำจากประสบการณ์เดินทางที่ดีและมีคุณค่า
๓. ททท.จะจัดทำแฟมทริปสื่อมวลชนสำรวจแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งสื่อในพื้นที่และสื่อภาพรวมทั้งออนไลน์และออฟไลน์
๔. ททท. จะดำเนินการขยายเครือข่ายและสร้างความร่วมมือกับสื่อมวลชน สถาบันการศึกษา
ชมรมต่าง ๆ รวมทั้งผู้ประกอบการที่พักและร้านอาหารและเครื่องดื่มในพื้นที่ เพื่อจัดทำแคมเปญกระตุ้นความสนใจเดินทาง รวมทั้งร่วมกับผู้ประกอบการนอกพื้นที่ที่ทำการเสนอขายให้มี
นักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวเมืองเพชร อาทิ บริษัทนำเที่ยว สมาคมท่องเที่ยว แอพลิเคชั่นท่องเที่ยว เช่น Tripniceday หรือโรบินฮูด รวมทั้งเพจท่องเที่ยวต่าง ๆ เป็นต้น
: นักท่องเที่ยวชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ นิยมมาแหล่ง
ท่องเที่ยวใน จ.เพชรบุรี แตกต่างกันหรือไม่ ?
ไม่แตกต่างกันมากนักในด้านเส้นทางท่องเที่ยวและความชอบในตัว Destination แต่
ชาวต่างชาติจะมีวันพักอยู่นานกว่าชาวไทย เพราะตั้งใจหนีความหนาวมาท่องเที่ยวในเมืองที่อุ่นกว่า ส่วนนักท่องเที่ยวชาวไทยจะมาได้บ่อยครั้งมากกว่าต่างชาติ (ที่อาจจะมาแค่ปีละครั้ง)
นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติจะนิยมชมชอบแหล่งธรรมชาติในป่าเขา เมืองเก่า และท้องทะเล
รวมทั้งการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์มากกว่าชาวไทย รวมทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติจะให้ความสำคัญต่อการคำนึงถึงการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการอนุรักษ์ความดั้งเดิมของสถาปัตยกรรมชุมชนท้องถิ่น และการแบ่งปันประสบการณ์ที่ดีให้กับนักท่องเที่ยว
: ททท.สำนักงานเพชรบุรี ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการ
ท่องเที่ยวในพื้นที่มากน้อยเพียงใด ?
ททท.ได้รับความร่วมมือด้วยดีในกลุ่มผู้ประกอบการที่มีความพร้อมและมีศักยภาพ
มีการให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ตลอดจนแจ้งความต้องการและปัญหาที่ช่วยทำให้
ททท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนการขับเคลื่อนด้านการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นได้รวดเร็วและตอบโจทย์ลูกค้า และคาดหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการท่องเที่ยวทุกกลุ่ม
ให้สามารถรวมตัวกันได้อย่างเข้มแข็ง เพื่อเป้าหมายจังหวัดเพชรบุรีจะเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวยอดนิยมและยั่งยืน.