สำนักศิลปากรที่ ๑ ราชบุรี กรมศิลปากรตั้งงบฉุกเฉิน

สร้างอุปกรณ์ค้ำยันเสริมความมั่นคงอุโบสถวัดไผ่ล้อม

ตามที่ชมรมวัดไผ่ล้อม ได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เรื่องการบูรณะผนังโบสถ์และพระพุทธรูป
วัดไผ่ล้อม ต.ท่าราบ อ.เมือง จ.เพชรบุรี ทางคณะกรรมาธิการฯ ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมหารือ เบื้องต้นทางสำนักศิลปากรที่ ๑
ราชบุรี กรมศิลปากรได้ดำเนินการสำรวจและจัดทำแบบค้ำยันเสริมความมั่นคงแข็งแรงอุโบสถวัดไผ่ล้อม
งบฉุกเฉินปีงบประมาณ ๒๕๖๖ งบประมาณ ๓๕๕,๐๐๐ บาท อยู่ในระหว่างอธิบดีกรมศิลปากรพิจารณาอนุมัติแบบและงบประมาณดำเนินการบูรณะซ่อมแซม คาดว่าจะดำเนินได้ซ่อมได้ในปี
พ.ศ. ๒๕๖๖

เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา
ณ ห้องประชุมกรรมาธิการ ชั้น ๔ อาคารรัฐสภา คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาด้านพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ๆ ในคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร
ได้พิจารณาศึกษาเรื่อง การของบประมาณสนับสนุนการบูรณะผนังอุโบสถและพระพุทธรูปในวัดไผ่ล้อม ตำบลท่าราบ อำเภอเมืองเพชรบุรี โดยได้เชิญหน่วยงานและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับความชำรุดเสียหายของผนังอุโบสถและพระพุทธรูปภายในวัดไผ่ล้อม รวมทั้งประมาณการงบประมาณเพื่อที่จะใช้ในการบูรณะซ่อมแซม โดยมีผู้แทนจากสำนักศิลปากรที่ ๑ ราชบุรี
กรมศิลปากร ร่วมประชุมชี้แจง

นายสัณฐาน ถิรมนัส
ที่ปรึกษาชมรมวัดไผ่ล้อมเพชรบุรี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านศิลปวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า วัดไผ่ล้อมเป็นโบราณสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดเพชรบุรีที่มีศิลปกรรมงดงาม และเป็นต้นทางของสกุลช่างเพชรบุรี รวมทั้งเป็นหลักฐานของ
คำที่กล่าวว่า เมืองเพชรเป็นอยุธยาที่มีชีวิต
ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองเพชรบุรี ถนนพระทรง (พระยาเสด็จ) ข้างเรือนจำกลางจังหวัดเพชรบุรี ซึ่ง น. ณ ปากน้ำ ได้ให้ความเห็นว่า สร้างขึ้น
ในสมัยพระเพทราชา ปี พ.ศ. ๒๒๓๑

“จากการที่ช่างได้ดำเนินการติดตั้งตาข่ายติดเพดานหลังคาคลุมโบสถ์ เพื่อกันนกเกาะและ
ถ่ายมูลลงมาสร้างความเสียหาย ให้กับพระพุทธรูปและตัวโบราณสถานเมื่อช่วงต้นปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา
ช่างได้รายงานว่าพบเห็นรอยร้าว และการแตกแยกของผนังโบสถ์ด้านทิศตะวันตก พร้อมกับช่างได้เตือนว่าจะเป็นอันตรายแก่ผู้เข้าชมหรือถ่ายรูป เพราะผนังโบสถ์อาจจะพังลงมาได้ในเวลาใดเวลาหนึ่ง เบื้องต้นช่างได้ทำการใช้ลวดผูกโยงเอาไว้ตรงช่วงยอดของผนังโบสถ์ ดังนั้นเพื่อป้องกันความเสียหายและอันตรายที่จะเกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องรีบแก้ไขปกป้อง ป้องกันโบราณสถานวัดไผ่ล้อมเป็นการด่วน ทั้งนี้ได้แจ้งไปยังสำนักศิลปากรที่ ๑ ราชบุรี แล้วเพราะเกรงว่าจะไม่ทันการ”
นายสัณฐาน กล่าว

      นอกจากเรื่องการชำรุดของผนังโบสถ์ ด้วยอายุของวัดไผ่ล้อมที่มีความเก่าแก่มากกว่า ๒๐๐ ปี
ประกอบกับนกพิราบถ่ายมูลไว้ทำให้พระพุทธรูปภายในโบสถ์วัดไผ่ล้อมอยู่ในสภาพเปื่อย ผิวปูนผุกร่อนทั้งสามองค์ สมควรที่จะได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์โดยด่วนเช่นกัน เพื่อให้เป็นอยุธยาที่มีชีวิตอย่างสมบูรณ์แบบ

ด้าน นายธานินทร์ ชื่นใจ ช่างเขียนลายรดน้ำ ครูช่างเมืองเพชรบุรี ผู้ควบคุมและออกแบบการติดตั้งตาข่ายลวดเพดานอุโบสถวัดไผ่ล้อม
กล่าวว่า ชมรมวัดไผ่ล้อมเพชรบุรีได้ดำเนินการติดตั้งลวดตาข่ายเพดานหลังคาคลุมอุโบสถวัดไผ่ล้อม ปกป้องโบราณสถานสมัยอยุธยาตอนปลาย พระพุทธรูป ประติมากรรมปูนปั้นไม่ให้เสียหายจากนกพิราบถ่ายมูลรด ซึ่งผ่าน
ความเห็นชอบจากสำนักศิลปากรที่ ๑ ราชบุรี กรมศิลปากร และเทศบาลเมืองเพชรบุรี โดยขณะที่ช่างได้ดำเนินการติดตั้งลวดตาข่ายเพดานโบสถ์ได้พบว่าผนังโบสถ์ด้านทิศตะวันตกส่วนด้านบนมีรอยร้าวและรอยแตกแยกของผนังโบสถ์ในลักษณะเอียงตัว หากปล่อยทิ้งว่าเกรงว่าผนังโบสถ์อาจจะพังถล่มลงมาได้รับความเสียหาย จึงได้แจ้งให้กับทางสำนักศิลปากรที่ ๑ ราชบุรี สังกัดกรมศิลปากร ได้รับทราบและดำเนินการบูรณะซ่อมแซมต่อไป

ด้าน น.ส.ศาริสา จินดาวงษ์ ผู้อำนวยการ
สำนักศิลปากรที่ ๑ ราชบุรี กล่าวว่า ได้รับรายงาน
เรื่องได้กล่าว พร้อมลงพื้นที่ไปตรวจสอบ
สภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผนังอุโบสถ
ด้านทิศตะวันตกของวัดไผ่ล้อม เบื้องต้นได้ติดตั้งป้ายแจ้งเตือนไม่อนุญาตให้บุคคลเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว ดำเนินการจัดทำแบบค้ำยันเสริมความมั่นคงแข็งแรงอุโบสถวัดไผ่ล้อม ใช้งบประมาณฉุกเฉินปี ๒๕๖๖ งบประมาณจำนวน ๓๕๕,๐๐๐ บาท ขณะอยู่ระหว่างอธิบดีกรมศิลปากรอนุมัติแบบก่อสร้างและอนุมัติงบประมาณในการบูรณะซ่อมแซม ซึ่งคาดการณ์ว่าจะดำเนินการบูรณะซ่อมแซมได้ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๖๖ ทั้งนี้สำนักศิลปากรที่ ๑ ราชบุรี มีโครงการที่จะบูรณะซ่อมแซมพระพุทธรูปภายในอุโบสถวัดไผ่ล้อมเป็นลำดับต่อไป

      สำหรับวัดไผ่ล้อม ปัจจุบันเป็นวัดร้าง ตั้งอยู่
ตำบลท่าราบ อำเภอเมืองเพชรบุรี กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานวัดไผ่ล้อม (ร้าง) ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๕ ตอนที่
๙๐ วันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๐๒ ต่อในวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๒๗ ได้อาศัยตามความในมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ
ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ กรมศิลปากรจึงกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน
วัดไผ่ล้อม (ร้าง) พื้นที่ประมาณ ๒ งาน ๗๑ ตารางวา.

นายสัณฐาน ถิรมนัส
นายธานินทร์ ชื่นใจ
error: ขอสงวนสิทธิ์ ในการคัดลอกบทความ !!