หรีดในสังคมไทย

      “หรีด” ซึ่งเราใช้ในงานศพทั่วไปในสังคมไทย
ไม่ใช่วัฒนธรรมดั้งเดิมของไทย หรือของเอเชียเรื่องนี้พิสูจน์ได้จากที่ไม่เคยมีหลักฐานการใช้หรีดในที่ใดเลยตลอดประวัติศาสตร์ไทยสมัยสุโขทัย อยุธยา ตลอดมาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ คำว่า “หรีด” มาจากภาษาอังกฤษที่สะกดว่า wreath โดยออกเสียงว่า “รีธ” ซึ่งต้องลงท้ายคำโดยใช้ลิ้นแตะฟันหน้าบนด้วย

      ลักษณะของหรีด โดยทั่วไปจะประกอบด้วยใบไม้ ดอกไม้ ก้าน เถา นำมาพันขดเป็นวงกลมหรือเป็นรูปเกือกม้า ก่อนใช้งาน หรีดในสังคมฝรั่ง มีทั้งที่ใช้สวมบนศีรษะ ใช้ประดับบนหมวกหรือมงกุฎ ใช้สวมคอ และใช้แขวนประดับประดาเพื่อความสวยงาม เช่น ในงานคริสต์มาส เป็นต้น ส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการตายนั้นคือ การนำหรีดไปวางที่หลุมศพ หรืออนุสาวรีย์ (ภาษาไทยเพราะ ๆ มักใช้ว่า วางพวงมาลา) เพื่อแสดงความระลึกถึง แสดงความเคารพ

      ธรรมเนียมการใช้หรีด เริ่มในสังคมกรีกตั้งแต่กว่า ๕๐๐ ปีก่อนคริสตกาล มีหลักฐานว่า
ในยุคนั้นทุก ๆ ๔ ปี พวกกรีกแข่งขันกีฬาโอลิมปิกกันโดยที่รางวัลคือหรีดใบมะกอกสำหรับสวมศีรษะ แต่หรีดที่จะเป็นรางวัลนั้น ใช้กิ่งก้านและใบมะกอกอันขึ้นอยู่รอบ ๆ เทวสถานของเทพซูส
เก็บโดยเด็กชายที่มีคุณสมบัติพิเศษต่าง ๆ (เช่น พ่อแม่ยังอยู่พร้อมหน้า ฯลฯ) แล้วเอามาทำหรีดวางไว้ที่แท่นของเทพเจ้า

      การใช้หรีดในพิธีศพ มีมาตั้งแต่สมัยกรีกด้วยเช่นกัน โดยสมัยนั้นถือว่า หรีดที่เป็นวงหมายถึงวงชีวิตอันเป็นอมตะ

      หันกลับมาดูในสังคมไทย ไม่ทราบว่ามีการเริ่มใช้หรีดเมื่อไรแน่ แต่เราก็เห็นชัดว่า หรีดในประเทศไทย ใช้ในพิธีกรรมที่รำลึกถึงผู้วายชนม์ไปแล้วเท่านั้น ไม่มีการใช้หรีดเพื่อเป็นเกียรติยศแก่นักกีฬา หรือผู้ประสบความสำเร็จใด ๆ เราใช้
หรีดที่เป็นดอกไม้ประดับประดาเป็นทรงกลม รวมทั้งรูปทรงอื่น ๆ มาช้านาน โดยมีชื่อเจ้าของหรีดเขียนให้เห็นเด่นชัดบนหรีดด้วย ที่เห็นได้ถึงความตั้งใจทำอย่างดีอย่างงามของ “หรีด” แบบที่
กล่าวถึงนี้ก็เช่น ในงานวางพวงมาลาวันปิยมหาราช
๒๓ ตุลาคม ซึ่งมีมาตั้งแต่ก่อน พ.ศ. ๒๕๑๐
คนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ยุคนั้นคงจะจำได้ถึงบรรยากาศ
น่ารื่นรมย์ของการไปชมพวงมาลาอันงดงาม ของหน่วยงานต่างๆ ในตอนค่ำ ของวันที่
๒๓ ตุลาคม ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า

      สำหรับประชาชนทั่วไป มีการทำหรีด
เป็นช่อดอกไม้ขนาดใหญ่ ที่ถือว่าเป็นแบบมาตรฐานคือแบบดอกไม้สด จัดเป็นวงกลม ๆ วางบน
ขาตั้งบ้าง และมีที่เป็นแบบแขวนอีกมากมาย ส่วนที่ราคาไม่แพงนักคือหรีดที่ใช้วิธีปักดอกไม้บนแผ่นโฟม แล้วเอาไปแขวน

ต่อมาในยุคหลัง (น่าจะเริ่มราว ๒๕๒๐) ก็มี
หรีดเป็นผ้าเช็ดตัวผืนใหญ่ ๆ ประดับด้วยช่อดอกไม้

      ด้วยเหตุผลว่า เพื่อให้หรีด สามารถเอาไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้ – ดีกว่าจะเป็นดอกไม้และวัสดุโครงวงกลมที่จะต้องทิ้งเป็นขยะไปเปล่า ๆ
มากมาย ถัดจากนั้นมาไม่กี่ปี ได้มีการประยุกต์ความคิดนี้ต่อไปอีก โดยพัฒนาไปจากการใช้ผ้าเช็ดตัว เป็นใช้ของอื่นที่ใช้ประโยชน์ได้
เช่น เก้าอี้ พัดลม ฯลฯ ประดับด้วยดอกไม้ บางครั้ง
ก็เป็นต้นไม้ทั้งกระถาง

      ส่วนหรีดดอกไม้ใบไม้ที่เอาไปวาง ตามบ้านคนหรือตามหน่วยงาน ในสังคมไทยนั้น ไม่ได้หมายความว่ายกย่องให้เกียรติ หรือระลึกถึง แบบตะวันตก แต่ถือเป็นการสาปแช่งให้ตายให้พินาศ! – ซึ่งเป็นเรื่องตรงกันข้าม

      เมื่อถึงตอนนี้ จะเห็นได้ว่า เรื่องของหรีดในสังคมไทย ก้าวไปในแบบที่ทิ้งรูปเดิมของหรีดดอกไม้ใบไม้ประดับศีรษะหรือสวมคอเป็นเกียรติได้ กับใช้วางแสดงความอาลัย – เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้วายชนม์ หากแต่เป็นเก้าอี้ เป็นพัดลม …
ที่เอาไปวางบนหัว หรือแขวนคอไม่ได้

      เป็นอันว่า … ถ้าใครจะมาวางหรีดหน้าบ้านหรือหน้าสำนักงานของเรา เพื่อสาปแช่ง ขอให้เขาเอาหรีดแบบที่เป็นเก้าอี้ พัดลม หรือเป็นเตาไมโครเวฟ ทีวี ตู้เย็นที่แพง ๆ ก็แล้วกันนะ

      เขาจะสาปจะแช่งเราบ้าง เราก็จะไม่ว่า
อะไรเลย.

error: ขอสงวนสิทธิ์ ในการคัดลอกบทความ !!