


เกิดและเติบโตตามธรรมชาติจริง ๆ ไม่ใช่จากฟาร์มเลี้ยง แต่เป็นหอยสดที่หามาจากคลองชายทะเล ตัวเต็มสวย รสเยี่ยม คือหอยนางรมเพชรบุรี
ออกจะเหลือเชื่อว่า เพชรบุรีเป็นแหล่งหอยนางรม
ซึ่งน่าสนใจยิ่ง ทั้ง ๆ ที่ไม่มีฟาร์มหอยนางรมเลย
จะว่าไปแล้ว ก็ด้วยเหตุที่ไม่มีฟาร์มหอยนางรม หรือคอกหอยนางรม นี่แหละ จึงทำให้หอยนางรมที่นี่
มีแต่ที่เกิดและโตในสิ่งแวดล้อมปกติ ทำให้อร่อยจริง ๆ
เราต้องยอมรับว่า ของกินอะไรก็ตาม ที่มาจากระบบฟาร์มเพาะเลี้ยง ถึงอย่างไรก็ไม่ได้รสอย่างของธรรมชาติ ของเพาะเลี้ยงนั้น แม้จะดีที่มักทำให้ได้ตัวโต ผลผลิตปริมาณมาก แต่ความเอร็ดอร่อย สำหรับนักชิมนักกิน ย่อมไม่อาจเหนือกว่าของ
ที่เกิดและโตขึ้นมาเองตามธรรมชาติได้ ดูตัวอย่าง
จากรสของเนื้อไก่จากฟาร์มกับเนื้อไก่บ้านเถอะครับท่าน … ต่างกันเยอะ
คำถามย่อมมีอยู่ว่า เมื่อไม่มีฟาร์มหอยหรือคอกหอยสำหรับเลี้ยงหอยนางรม แล้วหอยนางรมเพชรบุรีมาจากไหน ?
คำตอบนั้นยาวหน่อย และดีด้วยครับ
(ที่มาของเรื่องนี้ได้จากการสัมภาษณ์ถามไถ่
คนที่หาหอยนางรมอยู่ในเพชรบุรีจริง ๆ จึงควรเชื่อได้)
เรื่องของเรื่องต้องย้อนหลังไปเมื่อหลายสิบปี
เต็มที สมัยที่พยายามบุกเบิกแหลมหลวง ท่านที่
อยู่จังหวัดอื่นอาจไม่ทราบว่า เพชรบุรีมีแหลมยื่นไปทางตะวันออก พุ่งลงไปในอ่าวไทย ซึ่งดูจากแผนที่ประเทศก็เห็น แหลมนี้ชื่อแหลมหลวง ความพิเศษของแหลมนี้คือ คุยได้ว่า เป็นจุดตั้งต้นของทรายเม็ดแรก เนื่องจากว่าเหนือแหลมนี้ขึ้นไปตลอดชายทะเลอำเภอบ้านแหลมของเพชรบุรี ชายทะเลสมุทรสงคราม สมุทรสาคร จนถึงชายทะเลกรุงเทพฯและสมุทรปราการ ล้วนเป็นหาดโคลนอันปกติจะเต็มไปด้วยป่าชายเลน ซึ่งประโยชน์สำคัญคือเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และอนุบาลตัวอ่อนสัตว์ทะเลในธรรมชาติ ส่วนใต้แหลมหลวงลงไป คือ หาดเจ้าสำราญ หาดชะอำ หัวหิน ตลอดไปถึงประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ฯลฯ ส่วนใหญ่เป็นหาดทราย เหมาะสำหรับการลงเล่นน้ำ ว่ายน้ำในทะเล ท่องเที่ยวแบบเล่นกีฬาทางน้ำ ฯลฯ
เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว มีการสร้างพระตำหนัก
ที่แหลมหลวง เพื่อจะถวายพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์หนึ่ง และปรากฏว่าพระตำหนักนั้นสร้างจนแล้วเสร็จจริง แต่ถึง พ.ศ. ๒๕๖๕ นี้ไม่เหลืออะไรอีก คือพังถล่มทลายไปเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม ระหว่างการสร้างพระตำหนักครั้งกระนั้น มีคนงานก่อสร้างจากภาคอีสานมาทำงานกันอยู่หลายคน คนงานกลุ่มนี้ทราบว่า สมเด็จพระเทพฯ (ชาวบ้าน
เรียกตามพระอิสริยยศขณะนั้น) ได้เอาพ่อพันธุ์
แม่พันธุ์หอยนางรม มาหว่านตามคลองช่วงที่จะออก
ทะเลในเพชรบุรี ซึ่งคลองลักษณะเช่นนี้มีอยู่หลายคลองมาก ตั้งแต่ชายทะเลบ้านแหลมไปจนถึงชะอำ ครั้นงานก่อสร้างพระตำหนักเสร็จสิ้นลง คนงานกลุ่มนี้ก็ไม่ได้กลับท้องถิ่นเดิม แต่หางานทำบ้าง ค้าขายของกินบ้าง อยู่ตามชายหาดเพชรบุรีเรื่อยมา
ขณะที่หอยนางรมพระราชทาน ก็เติบโตแพร่พันธุ์มากขึ้นเรื่อย ๆ ในเพชรบุรี
ด้วยความรู้ที่ว่า มีหอยนางรมพระราชทาน แพร่พันธุ์อยู่ในคลองต่าง ๆ ของเพชรบุรีย่านที่ใกล้ ๆ
จะออกทะเล เมื่อเวลาผ่านไปพอสมควร ชาวอีสานกลุ่มนี้ จึงลงหา และพบว่ามีหอยนางรมเกาะติดอยู่ตามก้อนหินและรากไม้ในคลองชายทะเล ดูเผิน ๆ
เหมือนก้อนหิน เมื่อพบตัวโต ๆ จึงใช้ค้อนเล็ก ๆ
ไปตอกบ้าง ใช้ไขควงแคะบ้าง เอามาแกะเนื้อขาย
เป็นอาชีพเสริมที่ทำเงินได้มากทีเดียว นักหาหอยเหล่านี้ (ส่วนใหญ่เป็นชาวยโสธรโดยกำเนิด) บอกว่า
นักเลงหอยนางรมจริง ๆ ที่ได้รับประทาน ยืนยันตรงกันว่าหอยธรรมชาติอย่างนี้ รสดีมาก อร่อยกว่า
หอยนางรมซึ่งขายตามตลาดทั่วไป ผู้เขียนเอง ก็ได้ลองลิ้มชิมรสมาสองรอบแล้ว จึงขอยืนยันเรื่องรสชาตินี้ด้วยอีกเสียงหนึ่ง
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ โดยแท้
ที่ได้ทรงงานเรื่องหอยนางรมนี้ไว้ในเพชรบุรีตั้งแต่หลายสิบปีก่อน (โดยคนเพชรบุรียังไม่เคยมีใครพูดถึงเลย) … จึงเกิดเป็นอาชีพทำให้ประชาชน
อีกกลุ่มใหญ่มีรายได้ และสร้างชื่อเสียงให้จังหวัดนี้
อีกด้านหนึ่งด้วย
ขอจงทรงพระเจริญ.