อพท. ร่วมกับเพชรบุรีเดินหน้าจัดทำโรดแมป เมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของยูเนสโก

อพท. ผนึกกำลังร่วมกับจังหวัดเพชรบุรี จัดระดมความคิดเห็นการจัดทำหมุดหมายสำหรับประกอบการจัดทำแผนที่นำทาง (Roadmap) เมืองเพชรบุรีสู่เมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ด้าน Gastronomy ระยะ 5 ปี ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ภาคเอกชนและภาครัฐ

         องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) มอบหมายให้ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้ดำเนินโครงการภายใต้ กิจกรรมขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ของจังหวัดเพชรบุรี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการจาก อพท. ได้ร่วมกับจังหวัดเพชรบุรีจัดระดมความคิดเห็นการจัดทำหมุดหมายสำหรับประกอบการจัดทำแผนที่นำทาง (Roadmap) เมืองเพชรบุรีสู่เมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ด้าน Gastronomy ระยะ 5 ปี ครั้งที่ 1 ภาคเอกชน เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 70 คน และครั้งที่ 2 ภาครัฐ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 60 คน โดยการระดมความคิดเห็นในรูปแบบ Online ผ่านระบบ Zoom นำโดย นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี  นางสาวเอกรัตน์  นาคาคง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการ อพท. รองศาสตราจารย์ ดร.ธีระวัฒน์ จันทึก อาจารย์ประจำคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะหัวหน้าโครงการ และคณะหัวหน้าส่วนราชการ ภาคเอกชน อาทิ หอการค้า อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ SMEs ร่วมประชุมระดมความคิดเห็น ประกอบการจัดทำแผนที่นำทาง (Roadmap) เมืองเพชรบุรี สู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก “การปั้นเมืองและความยั่งยืนของการเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร” จากการจัดระดมความคิดเห็นการจัดทำหมุดหมาย สำหรับประกอบการจัดทำแผนที่นำทาง (Roadmap) ทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

               รองศาสตราจารย์ ดร.ธีระวัฒน์ จันทึก หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า หลังจากจังหวัดเพชรบุรีได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทย เพื่อรับรองการเข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารขององค์การยูเนสโก ซึ่งขณะนี้ทางยูเนสโกได้ประกาศให้เมืองเพชรบุรีเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโกด้านอาหาร ประจำปี 2564 ซึ่งที่ผ่านมา จังหวัดเพชรบุรีเร่งสร้างการสื่อสาร และการจัดทำสื่อสร้างการรับรู้ทางโซเชียลมีเดียทุกช่องทางเร่งขับเคลื่อนการปั้นเมือง โดยใช้หลักคิด มีการวางแผนภารกิจงานแต่ละฝ่าย ในการปั้นเมืองที่มีความหลากหลาย การจัดทำแผนที่นำทาง (Roadmap) ให้เห็นภาพชัดเจน ยกระดับเต็มรูปแบบ พร้อมเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

         สำหรับการจัดทำแผนที่นำทาง (Roadmap) จะนำความคิดเห็นของทุกภาคส่วนภาครัฐ ภาคประชาชน สถาบันการศึกษา ฯลฯ ไปหาข้อสรุป ซึ่งส่วนหนึ่งคือการสร้างการรับรู้ของชาวบ้านในพื้นที่ มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของประชาชนหลากหลายกลุ่มกระจายในพื้นที่ทั้ง 8 อำเภอ โดยคาดว่าเมื่อทางยูเนสโกได้ตรวจสอบ ครบตามหลักเกณฑ์ จะได้ทราบการประกาศผล การรับรองจากยูเนสโก สำนักงานใหญ่ ณ กรุงปารีส  ประเทศฝรั่งเศส ในระยะเวลาอันใกล้นี้ ขณะที่ นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ได้กล่าวถึงโอกาสที่จะตามมาหากเพชรบุรีเป็นเมืองสร้างสรรค์ ไม่เพียงมีเครือข่ายหลายสิบประเทศทั่วโลก แต่ภายใต้ชีวิตวิถีใหม่ ที่เน้นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว เข้าเมืองเพชรบุรี ไม่เพียงพ้นความยากจน แต่ส่งผลถึงความผาสุก กินดี อยู่ดี ของพี่น้องเพชรบุรี ขณะที่ ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่าการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เป็นนโยบายพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มรายได้ และกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนท้องถิ่น การพัฒนา และยกระดับสู่มาตรฐานสากลในพื้นที่พิเศษเพชรบุรี เพื่อสู่เมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกด้าน Gastronomy

         รองศาสตราจารย์ ดร.ธีระวัฒน์ จันทึก กล่าวเสริมอีกว่า การจัดทำแผนที่นำทาง (Roadmap) ด้วยการระดมความคิดเห็น เพื่อขับเคลื่อนเมืองเพชรบุรีสู่เมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ด้านอาหาร หรือ (Gastronomy) จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนความร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่าย เพื่อรวมพลังในการขับเคลื่อนร่วมกัน  ซึ่งจะทำให้เห็นถึงความเข้มแข็งของเมือง พร้อมที่จะดำเนินการกิจกรรมอื่น ๆ ตามมา และสามารถปรับตัวต่อสถานการณ์ภายใต้โควิด-19 ได้เป็นอย่างดีจังหวัดเพชรบุรีมีจุดแข็งในหลาย ๆ ด้าน ทั้งที่ตั้งของเมืองเพชรอยู่ในชัยภูมิที่ดี  มีวัตถุดิบเครื่องปรุงรสต่าง ๆ ที่ถือเป็นเมือง 3 รส ล้วนเป็นต้นทุนทั้งสิ้น ที่ส่งผลให้ได้รับคัดเลือกเป็นเมืองสร้างสรรค์ทางด้านอาหารของยูเนสโก แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคือความร่วมมือของทุกคน ที่จะเป็นจิกซอว์ในการต่อยอดที่จะช่วยสร้างกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ให้เป็นเมืองที่แสดงออกของความคิดสร้างสรรค์ อันจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของจังหวัดเพชรบุรีอย่างถาวร.

error: ขอสงวนสิทธิ์ ในการคัดลอกบทความ !!