


นายอลงกรณ์(จ้อน) พลบุตร อดีต ส.ส.เพชรบุรี, อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์, อดีตเลขานุการส่วนตัว ฯพณฯ ชวน หลีกภัย สมัยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี, อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน) ให้สัมภาษณ์ “เพชรภูมิ” ในหลายประเด็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางการเมืองขณะนี้ รวมถึงประเด็นตัวแทนของพรรคประชาธิปัตย์ในสนามเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า กอง บก.เพชรภูมิ ขอขอบคุณนักการเมืองเลือดเมืองเพชร “อลงกรณ์ พลบุตร” มา ณ โอกาสนี้
: ขณะนี้มีความเคลื่อนไหวของนักการเมืองค่อนข้างคึกคัก มีทั้งเลือดไหลเข้า – ไหลออก มองแล้วเป็นเรื่องปกติเหมือนการเลือกตั้งครั้งที่ผ่าน ๆ มาหรือไม่ ?
เป็นเรื่องปกติที่เราจะเห็นการเคลื่อนไหวของนักการเมืองในการย้ายพรรคมากขึ้น รวมทั้งการตั้งพรรคการเมืองใหม่ การย้ายแบบยกกลุ่มและการควบรวมพรรค เช่นล่าสุด “พรรคกล้า” ไปควบรวมกับ “พรรคชาติพัฒนา” เป็นต้น
การยุบพรรค การควบรวมพรรค และการย้ายพรรคของนักการเมืองส่วนใหญ่ (ไม่ใช่ทั้งหมด) มักมีสาเหตุมาจากการแสวงหาโอกาสที่จะได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือหวังที่จะได้เข้าร่วมเป็นฝ่ายรัฐบาล และมักมีปัจจัยอื่นมาเป็นสิ่งล่อใจ เช่นการสนับสนุนทางการเงินและตำแหน่งทางการเมืองมากกว่าประเด็นด้านอุดมการณ์หรือนโยบาย
ในประเทศที่การเมืองพัฒนาแล้ว การย้ายพรรคมักจะไม่ปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งนักและสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของอุดมการณ์และแนวนโยบายการย้ายพรรคไม่เหมือนการซื้อนักฟุตบอลซึ่งเป็นธุรกิจกีฬา แต่การเมืองเป็นเรื่องของบ้านเมืองต้องมีอุดมการณ์ หากเมื่อไหร่เป็นเรื่องธุรกิจการเมือง เมื่อนั้นการพัฒนาประชาธิปไตยก็เป็นไปไม่ได้
เมื่อใช้เงินลงทุนมาก การถอนทุนคืนก็ตามมา เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นและกลายเป็นเงื่อนไขข้ออ้างการรัฐประหารวนเวียนเหมือนวงจรอุบาทว์ แล้วบ้านเมืองจะเดินหน้าไปได้อย่างไร เราเห็นมาตลอดจนถึงทุกวันนี้
: กติกาการเลือกตั้งครั้งหน้าที่ใช้บัตรเลือกตั้ง ๒ ใบ และใช้สูตรหาร ๑๐๐ จะมีผลต่อพรรคการเมืองขนาดใหญ่และขนาดเล็กอย่างไร ?
กติกาการเลือกตั้งใหม่ แตกต่างจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคมปี ๒๕๖๒ และมีผลกระทบต่อพรรคขนาดใหญ่ขนาดกลางไม่มาก แต่กระทบพรรคขนาดเล็กและพรรคที่ตั้งใหม่โดยเฉพาะการคำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วยสูตรหาร ๑๐๐ ทำให้การได้มาซึ่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ต้องมีคะแนน ๒ แสนกว่าถึง ๓ แสนกว่าคะแนน จากเดิม ๗ หมื่นกว่าคะแนนเท่านั้น ทำให้พรรคขนาดเล็กและพรรคที่ตั้งขึ้นใหม่มีโอกาสที่จะมีที่นั่งในสภาฯน้อยลง
เราจึงเห็นการเคลื่อนไหวในการยุบพรรค การควบรวมพรรค และการย้ายพรรคในพรรคขนาดเล็กและพรรคตั้งใหม่เริ่มมีมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีผลทำให้พรรคขนาดใหญ่และพรรคขนาดกลางให้ความสำคัญกับการส่งผู้สมัคร ส.ส.ในระบบเขตเลือกตั้งมากขึ้น ประกอบกับจำนวนส.ส.เขตเพิ่มขึ้นจาก ๓๕๐ คนเป็น ๔๐๐ คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อลดลงจาก ๑๕๐ คนเหลือ ๑๐๐ คน
สำหรับการเลือกตั้งแบบบัตรเลือกตั้ง ๒ ใบ ใบหนึ่งเลือก ส.ส.เขต และอีกใบหนึ่งเลือกพรรค เป็นระบบที่คุ้นเคยกันอยู่แล้วในอดีต คราวนี้กลับนำมาใช้ใหม่ ซึ่งจะมีผลทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีอิสระและโอกาสเลือก “คนที่ใช่และพรรคที่ชอบ” มากกว่าระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียว
: บางพรรคการเมืองวาดหวังว่าจะได้ ส.ส.ชนิดแลนด์สไลด์และสามารถครองเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งในสภา จะเป็นไปได้หรือไม่ ?
ทุกครั้งที่จะมีการเลือกตั้งใหม่ พรรคการเมืองฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลมักพูดเกทับกันเหมือนนักมวยก่อนขึ้นชก เพื่อปลุกขวัญกำลังใจและข่มขวัญคู่แข่งซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดา
เพียงแต่คราวนี้แตกต่างออกไป ผมมองว่าเป็นยุทธศาสตร์การเลือกตั้งของ “พรรคเพื่อไทย” โดยใช้คำว่า “แลนด์สไลด์” (ชนะแบบฟ้าถล่มดินทลาย) เป็นกระแสหลักพร้อมกับการชูทายาทการเมืองคนใหม่เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ซึ่งโอกาสที่จะได้เป็นรัฐบาลจะต้องชนะในการเลือกตั้งแบบเด็ดขาดที่เรียกว่าแลนด์สไลด์เท่านั้น จึงจะมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภา ส่วนจะสามารถทำได้จริงหรือไม่ ยังประเมินยาก เพราะมีตัวแปรอื่นมาบั่นทอน เช่น สมาชิกพรรคระดับแกนนำจำนวนมากแยกตัวออกไปตั้งพรรคใหม่ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือ และยังมี “พรรคก้าวไกล” ซึ่งเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านเป็นคู่แข่งในสนามเลือกตั้งในกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งกลุ่มเป้าหมายเดียวกันอีกด้วยนอกเหนือจากพรรคการเมืองอื่น ๆ
: พรรคประชาธิปัตย์มีอดีต ส.ส. และนักการเมืองที่อยู่กันมายาวนานลาออกจากพรรคและไปสังกัดพรรคการเมืองใหม่ หรือไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ จะส่งผลต่อจำนวน ส.ส.ของพรรคที่จะได้รับการเลือกตั้งในครั้งหน้าหรือไม่ ?
เป็นห้วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งปี ๒๕๖๒ เราเป็นพรรคการเมืองหนึ่งที่มีสมาชิกและแกนนำพรรคย้ายออกไปอยู่กับพรรคการเมืองอื่นหรือไปตั้งพรรคใหม่มากที่สุดพรรคหนึ่งหลังการเลือกตั้งเดือนมีนาคมปี ๒๕๖๒ เป็นต้นมา ประกอบกับเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านผู้นำพรรคจากท่านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคมา ๑๓ ปี และต่อมาเป็นท่าน จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของพรรคประชาธิปัตย์
อย่างไรก็ตามก็เป็นโอกาสของคนรุ่นใหม่และการสร้างคนใหม่ ๆ ที่เข้ามาอยู่กับพรรคมากขึ้น ภายใต้แนวทาง “อุดมการณ์-ทันสมัย” และการเปลี่ยนสไตล์การทำงานแบบ “ทำได้ไว ทำได้จริง” รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรตอบโจทย์โลกสมัยใหม่มากขึ้น ตลอด ๓ ปีที่ผ่านมาที่ต้องตั้งหลักตั้งลำใหม่ ผมคิดว่ากระแสและความนิยมพรรคดีขึ้น วัดได้จากชัยชนะ ๓ ครั้งติดต่อกันในการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.สงขลา ชุมพร และ ราชบุรี รวมถึงผลสำรวจความนิยมของพรรคการเมืองก็มาเป็นที่ ๑ ในพรรคการเมืองซีกรัฐบาลอยู่หลายครั้ง
ส่วนตั้งเป้าจะได้ ส.ส.เท่าไหร่ในการเลือกตั้งครั้งหน้านั้น ท่านเลขาธิการพรรคฯ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน ประกาศแบบทุบหม้อข้าวตีเมืองจันท์ว่าถ้าได้ ส.ส.น้อยกว่าเดิมจะเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต
: ผลงานโดดเด่นของกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นเจ้ากระทรวง จะหนุนส่งต่อการหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ได้มากน้อยเพียงใด ?
ผมเชื่อว่าคงมีผลต่อการสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์มากขึ้น ไม่มีอะไรที่ดีต่อระบอบประชาธิปไตยมากไปกว่าการที่ประชาชนตอบแทนผลงานด้วยรางวัลในการเลือกตั้ง ๓ ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่ทำงานด้วยความยากลำบากในท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ และสงครามรัสเซีย-ยูเครนเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจรุนแรงไปทั่วโลกมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์รวมทั้งประเทศไทย
แต่ถึงกระนั้น ด้วยการทำงานอย่างใกล้ชิดระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์โดยทำงานเชิงรุกแบบบูรณาการทุกภาคส่วน สามารถสร้างรายได้จากการส่งออกกว่า ๘ ล้านล้านบาท ด้วยอัตราการเติบโตถึง ๑๗ % ในปี ๒๕๖๔ ที่ผ่านมามากกว่าที่คาดการณ์ถึง ๔ เท่าตัว ประการสำคัญคือ สินค้าที่ส่งออกได้มากที่สุดในลำดับต้น ๆ คือหมวดสินค้าเกษตรและอาหารทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารอันดับ ๑๓ ของโลกจากกว่า ๒๐๐ ประเทศ และรายได้กระจายลงสู่เกษตรกรซึ่งเป็นฐานรากทางเศรษฐกิจ
เราสร้างสถิติใหม่ด้วยการส่งออกทุเรียนสดทะลุ ๑ แสนล้านเป็นครั้งแรก ทำให้ประเทศไทยขึ้นแท่นประเทศผู้ส่งออกผลไม้เมืองร้อนเป็นอันดับหนึ่งของโลกเช่นเดียวกับการทวงแชมป์ข้าวที่ดีที่สุดในโลกกลับคืนมาติดต่อกัน ๒ ปีซ้อน และปีนี้กลับมาส่งออกข้าวแซงเวียดนามขึ้นเป็นอันดับ ๒ ของโลกได้สำเร็จ ยางพาราก็ครองแชมป์โลกการส่งออก นโยบายประกันรายได้เกษตรกรทำให้มีเงินหลายแสนล้านส่งตรงถึงครอบครัวเกษตรกรหลายล้านครอบครัว และเรายังริเริ่มเดินหน้านโยบายอาหารแห่งอนาคต เป็นโอกาสใหม่ ๆ ให้เกษตรกรของเราภายใต้ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต
: คุณอลงกรณ์ได้กำหนดตัวเองในสนามเลือกตั้งครั้งหน้าอย่างไร ? พร้อมจะเปิดตัวผู้จะลงสมัคร ส.ส.เพชรบุรี ของพรรคประชาธิปัตย์ ทั้ง ๓ เขต เมื่อใด ?
พรรคประชาธิปัตย์จะเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.เพชรบุรีทั้ง ๓ เขตในเดือนตุลาคมนี้ สำหรับผมในช่วงที่ผ่านมาได้ลงมาช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดเพชรบุรีเชิงรุกด้วยแนวทาง “เพชรบุรีโมเดล” กับทุกภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐภาคเอกชนภาควิชาการและภาคเกษตรกรพร้อมกับช่วยฟื้นฟูและพัฒนาพรรคประชาธิปัตย์ในจังหวัดเพชรบุรี และผมตั้งใจที่จะนำทีมจังหวัดเพชรบุรีในการเลือกตั้งปีหน้า
: พอจะประเมินได้หรือไม่ว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าการซื้อเสียงจะรุนแรงมากน้อยแค่ไหน ?
คาดว่าจะรุนแรงมากขึ้น และหวังว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะกำกับดูแลให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตยุติธรรม ในมุมมองของผมเห็นว่าการเลือกตั้งที่จะมาถึงจะเป็นสงครามครั้งสุดท้าย (The last battle and the last war) ของ ๒ ขั้วอำนาจ เป็นเกมอำนาจซึ่งไม่อยากให้ประชาชนต้องตกอยู่ในสมรภูมิแบบนี้อีกต่อไป เรารบรากันมานานมากแล้วจนประเทศสูญเสียโอกาสที่จะก้าวเดินไปข้างหน้า ถึงเวลาหรือยังที่ประชาชนเจ้าของประเทศจะบอกว่า พอได้แล้ว จบได้แล้ว จะสู้รบปรบมือกันไปถึงไหนเพื่อใครกันหรือ เราควรเริ่มต้นวันใหม่ให้กับประเทศได้หรือยัง ช่วยกันทำการเมืองที่สร้างสรรค์และสุจริตทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ยุคใหม่พร้อมแล้วที่จะสร้างจุดเปลี่ยนให้กับการเมืองไทยและเพชรบุรีของเราครับ
: คาดว่าจะมีการยุบสภาก่อนครบวาระของสภาชุดนี้หรือไม่ ?
ไม่คิดว่าจะมีการยุบสภาภายในปีนี้ ส่วนจะเกิดขึ้นก่อนสภาผู้แทนราษฎรครบวาระในต้นปีหน้าหรือไม่อาจเป็นไปได้ด้วยเหตุผลทางการเมืองและนายกรัฐมนตรีเท่านั้นที่จะเป็นคนตัดสินใจในเรื่องนี้.