


สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่สู้รบกันยืดเยื้อมานานถึง ๔ เดือน บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก
และยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด แรงกระเพื่อมจากสงครามได้ก่อปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วโลก พลังงานน้ำมัน-ก๊าซธรรมชาติขาดแคลน เงินเฟ้อ ราคาสินค้าทุกชนิดพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ รวมถึงประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์นี้
อ.บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์ กรรมการชมรมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์อาวุโส สมาคม
นักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและประธาน
คณะอนุกรรมการกิจการระหว่างประเทศ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมัยที่ ๙ และเป็น
นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนในประเด็นด้านการต่างประเทศ ได้ให้เกียรติ “เพชรภูมิ” อีกครั้งในการวิเคราะห์สถานการณ์สงคราม รัสเซีย-ยูเครน ที่กำลังยืดเยื้ออยู่ในขณะนี้
“….คาดว่าสงครามคงจะยื้อเยื้อออกไป อาจจะถึงสิ้นปีนี้เป็นอย่างน้อย บางคน
มองย้อนไปในสมัยที่สหรัฐอเมริกานำทหารบุกอิรัก บุกอัฟกานิสถาน ซึ่งยืดเยื้อนานเป็นปี
แต่สงครามรัสเซีย-ยูเครนคราวนี้มีผู้เสนอทางออกเพื่อมิให้บานปลายขยายเป็นสงครามโลก
อย่างที่สื่อตะวันตกประโคม โดยขอให้ยูเครนยอมให้ ๒ รัฐ (ดอแนสก์และยูฮานสก์) ที่แยกตัวเป็นเอกราชและรัสเซียให้การรับรอง ขอให้แยกออกไปเป็นสาธารณรัฐเป็นเอกเทศ รวมถึง
แหลมไครเมีย หมายถึงยูเครนยอมเฉือน ๒ รัฐนี้ไปให้รัสเซียอย่างที่ต้องการ ก็จะไม่ทำให้ศึกครั้งนี้
ยืดเยื้อ และจะได้ไม่ต้องมีการสู้รบในพื้นที่อื่น
ฝ่ายตะวันตกพยายามประโคมข่าวว่านี่จะเป็นสงครามนิวเคลียร์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย
ต้องยอมรับว่าศึกรัสเซีย-ยูเครนคราวนี้ ฝ่ายสหรัฐฯและนาโต้เพลี่ยงพล้ำมาก เพราะสหรัฐฯ
ตั้งความหวังอย่างมากว่าจะขายอาวุธ หาประโยชน์จากเลือดเนื้อชาวยูเครนและรัสเซีย
แรงกระเพื่อมที่ปล่อยให้สงครามคราวนี้ยืดเยื้อ ได้ส่งผลถึงสหรัฐฯและยุโรป เป็นผลกระทบ
ต่อเนื่องที่ฝ่ายสหรัฐฯและนาโต้วางแผนผิดพลาดและคาดไม่ถึง คงคิดว่าวิธีการที่เคยใช้แบบเก่ามาตั้งแต่สมัยโบราณ คือยุทธการปิดล้อมด้านอาหาร บอยคอตด้านโน้นด้านนี้ และคิดว่าจะสามารถกดดันรัสเซียได้
แต่รัสเซียไม่โง่ เพราะเคยโดนแบบนี้มาแล้วหลายครั้งและหาวิธีโต้กลับ ต้องไม่ลืมว่ารัสเซียเป็นขุมพลังงานน้ำมันและก๊าซใหญ่แห่งหนึ่งของโลกเหมือนกัน ปัจจุบันโลกไร้พรมแดน
ประเทศที่ซื้อพลังงานจากจากสหรัฐฯหรือยุโรปไม่ได้ ก็หันมาซื้อจากแหล่งพลังงานในเอเชีย
จากรัสเซีย หรือจากจีน จะเห็นได้ว่าประชาชนหลายประเทศในยุโรปพากันออกมาประท้วงรัฐบาลที่เข้ากับสหรัฐฯและนาโต้จนทำให้พวกเขาต้องเดือดร้อน น้ำมัน, ก๊าซ ราคาพุ่งสูงขึ้น
อาหารก็เริ่มขาดแคลน
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน วางแผนผิดพลาดเพราะไม่นึกว่าศึกครั้งนี้จะไม่สามารถปิดล้อม
รัสเซียได้ ขณะเดียวกันเมื่อรัสเซียผนึกกำลังกับจีน สหรัฐฯก็หันมาโจมตีจีนและพยายาม
บีบบังคับให้ประเทศต่าง ๆ ให้ร่วมกันปิดล้อมรัสเซีย โดยชี้นำไม่ให้ซื้อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย เป็นการขยายศัตรูแทนที่จะแก้ปัญหาให้ประชาชนที่กำลังเดือดร้อน
ช่วงเกิดข้อพิพาทรัสเซีย-ยูเครนใหม่ ๆ สหรัฐฯประกาศว่าประเทศกลุ่มนาโต้ ยุโรป และประเทศทั่วโลกไม่ต้องห่วงเรื่องการขาดแคลนน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ อ้างว่าได้คุยกับประเทศที่มีพลังงานทั่วโลกแล้ว สามารถหาน้ำมันและก๊าซมาให้ได้ แต่ถึงเวลาก็ไม่สามารถทำได้ดังที่คุยไว้
ขณะเดียวกันรัสเซียก็มีเงื่อนไข ใครจะซื้อน้ำมันรัสเซียต้องใช้สกุลเงินรูเบิลของรัสเซียเท่านั้น
จริง ๆ แล้วสหรัฐอเมริกาเองก็มีน้ำมันที่ขุดได้จากใต้ดิน เป็นน้ำมันฟอสซิลที่ต้องเอา
มากลั่นเหมือนในตะวันออกกลาง แต่ราคาน้ำมันของสหรัฐฯแพงขึ้นมาก สหรัฐฯคิดจะไปกดดันประเทศในตะวันออกกลางให้มาช่วยกันผลิตน้ำมันโดยคิดว่าจะสามารถลดราคาน้ำที่แพง
ลงได้ แต่ซาอุดิอารเบียซึ่งมีแหล่งน้ำมันใหญ่ก็ไม่ร่วมมือด้วย สหรัฐฯต้องตวัดลิ้นตัวเองหันไปหาประเทศเวเนซุเอลาที่ตัวเองปิดล้อมประเทศเขามานานนับสิบปี บอกว่าเปิดโอกาสให้เวเนซุเอลาขายน้ำมันได้แล้ว แต่ก็ไม่เป็นผล
สหรัฐอเมริกาวางแผนในวิกฤติครั้งนี้ผิดพลาดหมด ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติทั่วโลก
พุ่งสูงขึ้นไม่หยุด เมื่อแก้อะไรไม่ตก ทุกประเทศกำลังมีปัญหาด้านพลังงาน ไม่ยอมทำตามสหรัฐฯที่บอกว่าให้ช่วยกันประณามและร่วมกันปิดล้อมรัสเซีย ก็มีคำถามกลับมาว่าทำอย่างนั้นแล้วได้อะไร สหรัฐฯคิดยุทธศาสตร์แบบเก่าเหมือนเมื่อ ๓๐ – ๔๐ ปีก่อน แต่ใช้ไม่ได้ในปัจจุบัน
ก่อนที่รัสเซียจะตัดสินใจบุกยูเครนโดยไม่สนใจเสียงขู่คำรามของสหรัฐฯและกลุ่มนาโต้
เชื่อว่าได้มีการวางแผนรอบคอบและคาดการณ์ล่วงหน้าแล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้นหลังจากเล่นงานยูเครน วางแผนรับมือไว้หมดแล้ว แต่ในช่วงพิพาทกับยูเครนใหม่ ๆ บรรดาสื่อตะวันตกที่รับแผนโฆษณาชวนเชื่อจากสหรัฐฯและนาโต้พยายามออกข่าวในลักษณะเฟกนิวส์ทุกวันว่ามีทหารรัสเซียล้มตายกันวันละเป็นพันเป็นหมื่น นายพลกองทัพรัสเซียตายนับสิบคน ประธานธิบดีปูตินป่วยหนักใกล้ตาย แต่แผนเฟกนิวส์ทำนองนี้ไม่สามารถใช้ในยุคโซเชียลมิเดียได้ ไม่เหมือนกับในยุคสงครามโลกครั้งที่สองที่การสื่อสารไม่ทันสมัยและสามารถควบคุมได้
นอกจากนี้คนเสพสื่อยังเปรียบเทียบได้ว่ารัสเซียบุกยูเครนไม่ถูกต้อง แต่ทำไมในอดีตสหรัฐอเมริกาได้เคยนำทหารไปบุกยึดอิรัก บุกยึดอัฟกานิสถาน นาน ๑๐ – ๒๐ ปีและเพิ่งถอนตัวออกมาเมื่อไม่นานนี้ จึงไม่มองตัวเองบ้าง ดังนั้น เมื่อคนมีช่องทางในการเสพสื่อหลาย
ช่องทางมากขึ้น และรู้ว่าสหรัฐฯพยายามจะขายอาวุธเพื่อใช้ยิงเข้าไปในดินแดนรัสเซีย
หลายคนถามว่าสงครามครั้งนี้รัสเซียหรือยูเครน ฝ่ายไหนสูญเสียมากกว่ากัน แต่จริง ๆ แล้วเป็นความสูญเสียของคนทั้งโลก รัสเซียกับยูเครนจะสูญเสียก็ด้านอาวุธ กำลังพล และพื้นที่ที่กำลังพิพาท แต่ผลกระทบจากสงครามครั้งนี้ที่ส่งแรงกระเพื่อมที่ค่อนข้างรุนแรงต่อชีวิต
ความเป็นอยู่ของนานาประเทศ
ยูเครนโทษรัสเซียว่าส่งออกข้าวสาลีไม่ได้ แทบทุกประเทศราคาน้ำมันพุ่ง เศรษฐกิจโลกปั่นป่วน เกิดภาวะเงินเฟ้อเงินฝืด ปัญหาสังคม ปัญหาการเมือง สถานะรัฐบาลอังกฤษกับฝรั่งเศสขณะนี้อยู่ในสภาวะง่อนแง่นมาก คนในประเทศกำลังระส่ำเพราะพิษเศรษฐกิจ
ดังนั้น เมื่อพูดถึงความสูญเสีย จึงไม่อาจกล่าวเฉพาะรัสเซียกับยูเครน แต่เสียหาย
ไปทั้งโลก การเสพสื่อในเวลานี้ต้องระวังในเรื่องของการโฆษณาชวนเชื่อของแต่ละฝ่ายที่ใช้
โซเชียลมิเดียให้เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายตนให้มากที่สุด
สถานการณ์ในเวลานี้ ยูเครนอยู่ในภาวะที่ไม่สู้ดีนัก เพราะผู้นำยูเครนไปหลงเชื่อนาโต้
ที่ยุให้ซื้ออาวุธมาสู้กับรัสเซีย คิดว่าสมัครเป็นสมาชิกนาโต้แล้วจะได้รับการช่วยเหลือ คนที่คิดผิดมากขณะนี้คือ เซเลนสกี้ ประธานาธิบดียูเครน เพราะเชื่อว่านาโต้จะช่วยรบกับรัสเซีย แต่นาโต้
มีข้อจำกัดในการช่วยเหลือ แม้กระทั่งยูเครนที่บอกว่าสมัครเป็นสมาชิกนาโต้ จริง ๆ แล้วนาโต้เพียงรับใบสมัครแต่ยังไม่มีการพิจารณา เพราะกลุ่มประเทศนาโต้ที่คัดค้านการเข้ามาของยูเครนก็มี เช่น นอร์เวย์ สวีเดน แม้ว่าจะอยู่ห่างไกล แต่ประเทศเขาได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจและราคาน้ำมัน-ก๊าซและมีปัญหาสังคมตามมาติด ๆ จากสงครามครั้งนี้
ชาวยูเครนก็รักชาติบ้านเมืองของเขา ถูกรุกรานจากรัสเซียย่อมไม่พอใจ หลายคนได้แสดงออกในการต่อต้านรัสเซียอย่างออกหน้า แต่เชื่อว่าคนยูเครนกำลังมองไปที่ผู้นำของเขาว่าเป็นผู้ที่ชักศึกเข้าบ้าน อ่านเกมหน้าไพ่ไม่แตก ทางเดียวที่พอจะเป็นทางออกและคลี่คลายได้
คืออาจจะบีบให้มีการเปลี่ยนผู้นำ เช่นกดดันให้มีการยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ หรือบีบให้
เซเลนสกี้ลาออกจากตำแหน่ง แต่ขณะนี้อาจจะยังไม่ใช่เวลาเปลี่ยนม้ากลางศึก
ประเทศไทยวางตัวในสถานการณ์นี้ได้ดีมาก คือวางตัวเป็นกลาง ไม่เข้าฝ่ายใด
ยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาที่พยายามจะต่อต้านจีน ขยายการครอบงำมาทางเอเชียแปซิฟิค
จะเห็นได้ว่าทีท่าสหรัฐฯต่อไทยในขณะนี้เปลี่ยนไป จากที่เคยไม่พอใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
มาจากการยึดอำนาจ กำลังจะชวนไทยให้เป็นหุ้นส่วนทางความมั่นคง พยายามดึงไทยให้เป็นหนึ่งในแนวต้านจีน แต่เราไม่เล่นด้วย
โชคดีที่ไทยเป็นประเทศที่ผลิตอาหารเองได้ ประเทศเราจึงไม่เจอวิกฤติอาหาร ถือว่า
ไทยยังมีเสถียรภาพค่อนข้างดี เดินแนวทางการต่างประเทศถูกต้อง ไม่ถูกใครดึง ขณะนี้
ซาอุดิอารเบียก็กำลังหันมาฟื้นความสัมพันธ์กับไทย ตัวมกุฎราชกุมารของซาอุฯก็กำลังจะเสด็จฯมาเยือนประเทศไทย ส่งผลบวกด้านการท่องเที่ยวและส่งแรงงานไทยไปทำงานที่นั่น ถือว่าไทยในขณะนี้มีโอกาสดีกว่าประเทศอื่นหลายประเทศ ขอให้ร่วมด้วยช่วยกัน อย่าให้การเมืองภายในประเทศของไทยมีแรงกระเพื่อมจนเกิดปัญหาก็แล้วกัน….”