เกมการเมือง

เกมการเมือง”

            ระบอบประชาธิปไตยถือว่าเป็นระบอบการเมืองที่ได้รับการยอมรับจากนานาอารยประเทศ ความหมายของคำว่า “ประชาธิปไตย” คือการปกครองโดยประชาชนและตระหนักว่า “เสียง” ประชาชนมีความสำคัญในการกำหนดชะตากรรมของประเทศ โดยใช้กระบวนการการเลือกตั้งเป็นต้นทางเพื่อคัดกรอง “ตัวแทนประชาชน” ผ่านคะแนนเสียงไปทำหน้าที่ฝ่ายบริหารเป็นรัฐบาล และเป็นฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อออกกฎหมายเพื่อมาบังคับใช้แก่ประชาชน ซึ่งทั้งสองส่วนล้วนมีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ชาวบ้านธรรมดา ๆ ก็สามารถใช้เส้นทางประชาธิปไตยเพื่อเข้าสู่อำนาจทางการเมืองได้ 

            อย่างไรก็ตาม ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบไม่สามารถเกิดขึ้นในประเทศที่ประชาชนยังไม่มีความรู้ความเข้าใจต่อการปกครองในระบอบนี้ได้เพียงพอ แม้จะกำหนดให้มีการเลือกตั้งตัวแทนประชาชนเป็นวาระ ๔ ปีต่อ ๑ ครั้ง ไม่ว่าการเลือกตั้งในระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น หากผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งรู้เพียงว่าเทศกาลเลือกตั้งคือเทศกาลหารายได้จากเงินซื้อเสียง โดยไม่คำนึงถึงความรู้ความสามารถของผู้อาสาสเป็นตัวแทนประชาชน เลือกเพราะได้รับเงิน เลือกเพราะรู้จักกัน เลือกเพราะเคยช่วยเหลือกันมาก่อน หรือเลือกเพราะเขาพูดจาไพเราะให้ความหวัง ขณะที่บางคนเลือกเพราะหลงในนโยบายเพ้อฝันที่ไม่สามารถเป็นจริงได้

            ระบอบประชาธิปไตยในไทยล้มลุกคลุกคลานมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ถูกกำลังทหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนครั้งแล้วครั้งเล่าจนแทบจำไม่ได้ว่าครั้งล่าสุดเป็นครั้งที่เท่าไหร่ สาเหตุหนึ่งก็เพราะเราเลือกนักการเมืองที่ใจไม่ซื่อ มือไม่สะอาดเข้าไปกอบโกยโกงกิน จนแทบสรุปได้ว่าฝ่ายที่ถูกมองว่าดีคือฝ่ายที่ไม่สามารถเป็นรัฐบาลได้ ไม่มีโอกาสเข้าไปบริหารเงินภาษีอากรของประชาชน ฝ่ายที่ถูกมองว่าชั่วคือฝ่ายที่เป็นรัฐบาล การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งล้วนลากไส้ขบวนการทุจริตของฝ่ายรัฐบาลโดยมีหลักฐานประกอบชัดเจนบ้าง ไม่ชัดเจนบ้าง แต่ที่ผ่านมาบรรดานักการเมือง รัฐมนตรี ผู้บริหารท้องถิ่นที่มีพฤติกรรมฉ้อฉลถูกศาลพิพากษาจำคุก สร้างความเสื่อมเสีย และเกิดความไม่ไว้วางใจต่อผู้ได้รับเลือกตั้งตลอดมา

            ไม่อยากจะเชื่อว่าการเมืองในยุคปัจจุบัน บรรดา ส.ส.ซึ่งเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย จะเล่นเกมช่วงชิงผลประโยชน์กันถึงขนาดทำ “สภาล่ม” มาแล้วนับสิบครั้ง เพียงเพื่อเอาชนะและช่วงชิงผลประโยชน์เฉพาะตนและพวกพ้องโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของประชาชน บ่ายวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๕ ซึ่งเป็นกำหนดวันประชุมร่วมของสมาชิกรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในประเด็นหาร ๑๐๐ หาร ๕๐๐ มี ส.ส.จำนวนหนึ่งหนีประชุมสภาอย่างหน้าด้าน ๆ จนทำให้สภาล่ม เพื่อต้องการไม่ให้รัฐสภาสามารถพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าวเสร็จทัน ๑๘๐ วัน เป็นเกมการเมืองที่น่าอัปยศของ ส.ส. และ ส.ว.จำนวนหนึ่งในรัฐสภา คงคิดเพียงว่าสู้กันด้วยเสียงข้างมากในสภาเป็นเรื่องไม่จำเป็น ใช้วิธีหน้าด้านอาจชนะได้.  

error: ขอสงวนสิทธิ์ ในการคัดลอกบทความ !!