


เปิดใจคณบดีป้ายแดง “ผศ.ดร.พัชรินทร์ สุริยวงค์” คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี
ตามที่ สภามหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๕ ได้ดำเนินการพิจารณาสรรหาและแต่งตั้งให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พัชรินทร์ สุริยวงค์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ดำรงตำแหน่ง คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี มีผลให้ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๖๕ เป็นต้นไป
ผศ.ดร.พัชรินทร์ สุริยวงค์ หรือ “อาจารย์ปลา” คณบดีป้ายแดง พื้นเพเป็นชาวอำเภอชะอำ จ.เพชรบุรี ศิษย์เก่าปริญญาตรีเอกภาษาไทย (เกียรตินิยมอันดับ ๒) มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ปริญญาโทการสอนภาษาไทย จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ปริญญาเอกหลักสูตรและการสอน มหาวิทยาลัยศิลปากร ประสบการณ์ด้านการบริหาร ดำรงตำแหน่งประธานสาขาภาษาไทย ประธานหลักสูตรครุศาสตร์บัณฑิต (ภาษาไทย) รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม (ฝ่ายบริการวิชาการ) และรองคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ (ฝ่ายวิชาการ)
ผศ.ดร.พัชรินทร์ กล่าวว่า ตนเองเป็นศิษย์เก่าจบเอกภาษาไทย สมัยที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีเป็นสถาบันราชภัฏเพชรบุรี เป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ทำงานถึงวันนี้เป็นปีที่ ๑๘ เมื่อตำแหน่งคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ว่างลงจึงเป็นโอกาสให้ได้ใช้ความรู้ประสบการณ์เข้ามาพัฒนาคณะมนุษยศาสตร์ฯ ภายใต้ความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงการศึกษา ยุคที่มหาวิทยาลัยไม่ได้มีหน้าที่ผลิตบัณฑิตเพียงอย่างเดียว ยังมีเรื่องงานวิจัย งานบริการวิชาการ งานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม เป็นงานที่ต้องอาศัยการทำงานร่วมกับประชาชน หน่วยงาน
อื่น ๆ ด้วยเหตุนี้ทีมงานและเพื่อนร่วมงานจึงมีส่วนสำคัญมากในการพัฒนา
ขับเคลื่อนคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี
ให้บรรลุเป้าหมายตามที่คาดหวังไว้
“คณะชั้นนำด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ด้วยการบูรณการสหศาสตร์ร่วมกับทรัพยากรท้องถิ่น เพื่อสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต สำหรับผู้เรียนทุกช่วงวัย” คือวิสัยทัศน์ที่ ผศ.ดร.พัชรินทร์ นำเสนอต่อ คณะกรรมการสรรหา ให้เหตุผลสำคัญว่า คณะมนุษยศาสตร์ฯ เป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้หลายศาสตร์ ประกอบกับการทำงานหรือการเรียนการสอนในยุคปัจจุบันจะใช้เพียงความรู้ใดความรู้หนึ่งไม่ได้ แต่ควรใช้หลายองค์ความรู้ในการทำงาน ยิ่งต้นทุนของเมืองเพชรบุรีมีภูมิปัญญาหลากหลาย มีทรัพยากรบุคคลที่ทุกสาขาในคณะมนุษยศาสตร์ฯ สามารถทำงานได้ร่วมกัน การนำทรัพยากรท้องถิ่นที่มีอยู่ เช่น ตัวบุคคล ความรู้ภูมิปัญญา ผนวกศาสตร์ของแต่ละสาขาวิชาในคณะมนุษยศาสตร์ สร้างกระบวนการเรียนรู้หรือออกแบบการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับคนทุกเพศทุกช่วงวัย
ด้านการจัดการเรียนการสอน ผศ.ดร.พัชรินทร์ มองเรื่องการปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรใหม่ ๆ ให้สอดคล้องกับสังคมยุคสมัยใหม่ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และความต้องการของตลาด โดยเฉพาะหลักสูตรที่มีแผนการรับนักศึกษาที่ไม่เป็นไปตามจำนวน กล่าวคือบางสาขารับนักศึกษาใหม่ได้เต็มจำนวนครบถ้วน แต่ขณะที่บางสาขามีนักศึกษาเข้าสมัครไม่เต็มจำนวนที่ตั้งไว้ จึงมองว่าบางสาขาที่มีจำนวนเด็กนักเรียนสมัครน้อยลง ต้องมีการทบทวนหรือปรับหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการของผู้เรียนและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมากขึ้น
ด้านงานวิจัย ปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบงานวิจัยในลักษณะชุดโครงการวิจัย รวมถึงเป็นงานวิจัยที่ไม่ต้องการชุดความรู้เพียงด้านใดด้านหนึ่ง แต่เป็นการนำบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในหลากหลายด้านเข้ามาทำงานร่วมกันเป็นชุดโครงการวิจัย ด้านงานบริการวิชาการ ในยุคปัจจุบันทำอยู่บนพื้นฐานความต้องการของชุมชน คนในชุมชนมีส่วนร่วม คณะมนุษยศาสตร์ฯ มีหน้าที่เข้าไปทำงานร่วมกับชุมชนให้เกิดดอกผลตามความต้องการ การสร้างรายได้ในชุมชนเพิ่มขึ้น คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนดีขึ้น ได้รับประโยชน์มีความสุขเพิ่มขึ้น ด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมทางคณะมนุษยศาสตร์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะคณะมนุษยศาสตร์ฯ มีศาสตร์องค์ความรู้หลากหลายสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรมของเมืองเพชร ด้วยเหตุนี้จึงดึงตัว “ผู้ช่วยศาสตราจารย์แสนประเสริฐ ปานเนียม” อาจารย์สาขาวิชาภาษาไทย ผู้คร่ำหวอดด้านศิลปวัฒนธรรมเมืองเพชรบุรีทำหน้าที่ในตำแหน่งรองคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เข้ามามีส่วนช่วยขับเคลื่อนสถาบันช่างเมืองเพชรและศิลปะร่วมสมัย ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านภูมิปัญญาสกุลช่างเมืองเพชรบุรี
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เป็นคณะหนึ่งที่ผลิตบัณฑิตสายครูผู้สอน ในทัศนะของ ผศ.ดร.พัชรินทร์ มองว่า แม้ว่าขณะนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีจะมุ่งเน้นขับเคลื่อนในเรื่องมิติการท่องเที่ยวและด้านอาหาร แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่ทิ้งการพัฒนานักศึกษาโดยเฉพาะนักศึกษาสายครูผู้สอน เนื่องจากเป็นจุดเริ่มต้นของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ในเรื่องนี้ “ผศ.ดร.เสนาะ กลิ่นงาม” อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ปรารภไว้ว่า คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เป็นคณะผลิตบัณฑิตผู้ทำหน้าที่ครูผู้สอน ขอให้รักษาและพัฒนามาตรฐานหลักสูตรนักศึกษาสายครูให้เข้มข้น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้พยายามพัฒนาศักยภาพนักศึกษาสายครูมาโดยตลอด ทั้งทักษะองค์ความรู้ ประสบการณ์การสอน รวมถึงการปลูกฝังจิตวิญญาณของความเป็นครูให้กับนักศึกษา
“การพัฒนาคนที่จะเป็นครูในอนาคต ให้มีความรับผิดชอบ มีจิตอาสา
มีองค์ความรู้เฉพาะศาสตร์ของตนเอง มีจิตวิญญาณของความเป็นครู ก้าวออกไปทำหน้าที่สร้างเยาวชนสร้างพลเมืองที่ดีในรุ่นต่อ ๆ ไปได้ ด้วยเหตุนี้ทางคณะมนุษยศาสตร์ฯ มีความพยายามเสริมสร้างให้นักศึกษาสายครูมีรูปแบบกระบวนการเรียนการสอน Active Learning ให้ได้ฝึกกระบวนการคิด ฝึกปฏิบัติ ฝึกประสบการณ์ สร้างความรู้ความพร้อมที่จะนำไปใช้ในโรงเรียน”
ผศ.ดร.พัชรินทร์ วางแนวทางในการบริหารงานในคณะไว้ว่า ตลอดระยะเวลาการทำงานที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เห็นภาพการทำงานร่วมมือร่วมใจของคณาอาจารย์แต่ละสาขาวิชา หลังจากนี้ต้องสื่อสารสร้างความเข้าใจว่าแต่ละสาขาวิชามีภารกิจความรับผิดชอบร่วมกันอย่างไรให้เห็นภาพที่ชัดขึ้น เพื่อที่จะกำหนดเป้าหมายในพัฒนาคณะมนุษยศาสตร์ฯ ไปในทิศทางเดียวกัน
“อาจารย์ในคณะบางท่านเป็นอาจารย์สอนมาตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรี บางท่านเป็นรุ่นพี่ หลายท่านเป็นเพื่อนที่ทำงานร่วมกัน บางท่านเป็นรุ่นน้อง การที่เข้ามาทำหน้าที่คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ฯ ไม่ได้มีเจตนาว่าจะเป็นผู้นำใคร หรือเหนือกว่าใคร คณบดีเป็นกลไกตรงกลางที่เชื่อมส่วนที่เป็นนโยบายสู่การปฏิบัติ ขณะเดียวกันก็สะท้อนผลการปฏิบัติหรือความคิดเห็นของผู้ปฏิบัติไปสู่คณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ดังนั้นขอทำหน้าที่เป็นสื่อกลางและขับเคลื่อนคณะมนุษย-
ศาสตร์ฯ ร่วมกับคณาจารย์ทุกคนทุกสาขาไปสู่เป้าหมายที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน” ผศ.ดร.พัชรินทร์ สุริยวงค์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี กล่าวในท้ายที่สุด.