ต้องยอมรับว่า ปัญหาในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี มีมากมายหลายปัญหาที่จะต้องเร่งแก้ไขพื้นที่ ต.ท่าราบ และ ต.คลองกระแชง ซึ่งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี เป็นชุมชนเก่าขนาดใหญ่และแออัด ขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ที่เต็มด้วยโบราณสถาน แหล่งศิลปวัฒนธรรม และมีแม่น้ำเพชรบุรีไหลผ่านกลางเมือง มีเสน่ห์ให้ผู้คนเดินทางมาสัมผัสและท่องเที่ยว



นายกิตติพงษ์ เทพพานิช นายกเทศมนตรีเมืองเพชรบุรี ได้กรุณาตอบคำสัมภาษณ์ “เพชรภูมิ”ถึงแนวทางพัฒนาและการแก้ไขปัญหาหลายเรื่องในเขตเทศบาลฯ กอง บก.เพชรภูมิ ขอขอบคุณ “นายกฯพงษ์” มา ณ โอกาสนี้
ฤดูฝนปีนี้คาดว่าจะมีปริมาณน้ำฝนจำนวนมาก เทศบาลเมืองเพชรบุรีได้มีการเตรียมการในการป้องกันปัญหาที่จะเกิดอย่างไรบ้าง ?
ปัญหาน้ำท่วมเป็นปัญหาใหญ่ สร้างความวิตกกังวลให้แก่พี่น้องชาวเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรีเสมอมา ในระยะหลัง ๆ ผมเองก็ทราบดี จึงได้ดำเนินการเรื่องนี้มาตั้งแต่แรก เรียกได้ว่าตั้งแต่ก่อนจะรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการด้วยซ้ำ ได้กำชับให้ทั้งกองช่างและกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมประสานความร่วมมือลงพื้นที่ลอกท่ออย่างต่อเนื่อง ตัวผมเอง คณะผู้บริหาร สมาชิกสภาฯ สมาชิกกลุ่มก้าวใหม่ใจเพชร ก็ได้ลงพื้นที่ด้วยตัวเองด้วย พบว่าท่อระบายน้ำของเราขาดการดูแลมานานมีเศษขยะ เศษดินทรายที่แข็งตัวอุดตันอยู่ภายในท่อจำนวนมาก บางแห่งพบรากไม้งอกโตปิดทางน้ำเกือบหมด ทำให้น้ำระบายไม่ค่อยไปหรือระบายได้ช้า ตลอดระยะเวลา ๑ ปีกว่า ๆ ที่ผ่านมา เราได้ดำเนินการลอกท่อมาโดยตลอด แต่การทำงานกว่าจะผ่านแต่ละท่อต้องใช้เวลาพอสมควร ปัจจุบันเราดำเนินการไปได้ประมาณ ๗๐ % ในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี การระบายน้ำก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ในขณะเดียวกันเราได้มีการจัดตั้ง “ศูนย์บริหารจัดการน้ำท่วม” ขึ้นมา เพื่อนำข้อมูลทุกส่วนมารวมไว้ที่จุดเดียวกัน ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้น การสั่งการหรือระบบที่ติดขัดล่าช้า เรานำมาบูรณาการร่วมกัน และสั่งการออกจากศูนย์เพียงที่เดียว โดยมีนายกเทศมนตรีเป็นผู้บัญชาการเอง เพราะในช่วงเวลาวิกฤติ การตัดสินใจที่รวดเร็ว จะช่วยแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้ทันท่วงที
การจัดทดลองเดินรถทางเดียว (วันเวย์) ที่ ถ.นอก และส่วนหนึ่งของ ถ.ดำเนินเกษมที่เริ่มจากวันที่ ๒๐ ก.ค. จะสิ้นสุดวันที่ ๑๗ ก.ย.นี้ ขณะนี้มีความคืบหน้าอย่างไร ? มีโครงการจะทดลองถนนวันเวย์เส้นไหนอีกหรือไม่ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตเทศบาลเมืองฯที่นับวันจะแออัดขึ้นเรื่อย ๆ ?
การจัดการทดลองเดินรถทางเดียว เป็นโครงการที่เทศบาลฯทำร่วมกับตำรวจและศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเพชรบุรี มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การจราจรในเส้นทางดังกล่าวคล่องตัวมากขึ้นอันจะส่งผลดีต่อหลาย ๆ ด้าน ทั้งการเดินทาง การท่องเที่ยว และเรื่องของเศรษฐกิจ เราได้สำรวจความคิดเห็น ทั้งก่อนทำและระหว่างทำ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน จากผลสำรวจที่จัดทำโดยศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเพชรบุรีในช่วงที่ผ่านมา มีผู้ที่เห็นด้วยราว ๖๓ % ผู้ไม่เห็นด้วย ๓๗ % การทดลองจะทำไปจนถึงวันที่ ๑๗ ก.ย.นี้ จากนั้นจะนำข้อมูลที่สำรวจได้มาประเมินกันอีกครั้ง ทั้งข้อดีข้อเสีย ผลกระทบ ข้อเสนอแนะต่าง ๆ ซึ่งเทศบาลฯยินดีรับฟังทุกความคิดเห็น ผมในฐานะนายกเทศมนตรี ขอขอบคุณพี่น้องชาวเพชรบุรีที่ให้ความร่วมมือ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก พยายามปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องไปกับการเปลี่ยนแปลง การจะพัฒนาหรือสร้างสิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดกับบ้านเมือง ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากพี่น้องทุกท่านครับ แรก ๆ อาจจะรู้สึกติดขัดบ้าง ไม่ชินบ้าง แต่ถ้าเราไม่เริ่มต้นทำอะไรเลย ก็คงไม่เกิดสิ่งใหม่ ๆ แก่บ้านเมืองของเรา
ส่วนเรื่องการจัดวันเวย์ในเส้นอื่น ๆ เราคงจะค่อย ๆ พิจารณากันไปนะครับ เพราะถนนและการสัญจรในแต่ละเส้นทางมีลักษณะเฉพาะของตัวเอง คงไม่มีแบบสำเร็จรูปที่นำไปใช้ได้ทุกที่ คงต้อง ค่อย ๆ พิจารณาความเป็นไปได้ ผลได้ผลเสีย และวิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสม
ปัญหาร้านค้าของพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยที่ยึดพื้นที่ทางเท้าหลายแห่งในเขตเทศบาลฯ ยืดเยื้อเรื้อรังมานาน เทศบาลฯมีแนวทางแก้ไขปัญหานี้อย่างไร ?
อย่างที่เรียนไปข้างต้นว่าเทศบาลฯเรารับทราบดีถึงปัญหาเรื่องนี้ และเห็นความสำคัญของการแก้ปัญหาเรื่องนี้ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นมานาน การจัดการเรื่องนี้เทศบาลฯคงต้องประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย เนื่องจากหากจะกล่าวถึงอำนาจหน้าที่แล้ว บนทางเท้าเป็นของเทศบาล ส่วนบนพื้นผิวถนนเป็นของตำรวจ ก็คงต้องร่วมมือทำงานไปด้วยกัน
เมืองเพชรบ้านเราเป็นเมืองเล็ก ๆ พื้นที่ตัวตลาดมีขนาดไม่ใหญ่ ทางเท้าก็ค่อนข้างเล็ก ที่ผ่านมาเทศบาลได้ดำเนินการตีเส้นเพื่อกันพื้นที่ไว้เป็นทางเดินแล้ว แต่บางจุดพื้นที่ก็เล็กมากจริง ๆ ก็เข้าใจทั้งคนเดินเท้าและคนค้าขาย พยายามหาทางออกที่ดีที่สุด การแก้ปัญหาโดยมุ่งใช้อำนาจเข้าปราบปรามนั้น ก็อาจจะสามารถทำได้ในระดับหนึ่ง แต่ส่วนตัวผมจะนึกถึงผลกระทบที่มีต่อทุกฝ่าย ทางพ่อค้าแม่ค้าเองก็น่าเห็นใจ ก็ได้รับผลกระทบมาเยอะแล้วตั้งแต่ช่วงโควิด การแก้ปัญหาของผมจึงพยายามหาทางออกให้แก่พวกเขาด้วย ไม่ว่าจะเป็นจัดหาที่ขายที่เหมาะสม การจัดระเบียบการเดินรถและการจอดรถ รวมไปถึงจัดหาที่จอดรถสำรองไว้ให้ เบื้องต้นคือที่วัดอุทัยโพธาราม และวัดธ่อเจริญธรรม ที่ได้ประสานขอที่จอดรถไว้เรียบร้อยแล้ว
ถนนสุรินทรฦๅไชย (ถนน ๑๘ เมตร) ช่วงตั้งแต่สี่แยกอนามัยถึงสามแยกวัดธ่อฯ ทุกวันจะมีรถยนต์จอดซ้อนคันและจอดแช่เป็นเวลานาน ผู้ใช้สัญจรไปมาได้รับความเดือดร้อนมาก จะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร ?
หากเป็นเรื่องการทำผิดกฎจราจร ในส่วนนี้หลัก ๆ ก็คงเป็นหน้าที่ของตำรวจจราจรจะ เข้ามาดูแล แต่เราก็ได้ประสานกันอยู่ตลอด ผมได้คุยกับตำรวจ สภ.เมืองเพชรบุรีแล้ว ตำรวจเองก็ไม่ได้อยากจับหรือปรับใคร แต่หากเป็นการกระทำผิดจริง โดยเฉพาะที่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่น เจ้าหน้าที่เองก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ตรงนี้ก็ต้องขอความเห็นใจให้เจ้าหน้าที่ด้วย หากพวกเราทุกคนปฏิบัติตามกฎจราจร ก็ไม่มีใครสามารถมาเอาผิดได้
ทราบว่าเทศบาลฯจะแผนมีแผนจัดสร้างสะพาน(คนเดิน)ข้ามจากฝั่งวัดพลับพลาชัย ไปยังตลาดทรัพย์สินฯด้านริมแม่น้ำเพชร รูปแบบของสะพานเป็นอย่างไร ? ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนใด ? และจะดำเนินการได้เมื่อใด ?
สะพานข้ามฝั่งจากบริเวณลานสุนทรภู่ ท่าน้ำวัดพลับพลาชัย (ฝั่งคลองกระแชง) มายังฝั่งตลาดทรัพย์สินฯ(ฝั่งท่าราบ) เป็นสะพานคนเดินที่เราตั้งใจให้เกิดการเชื่อมต่อกันระหว่างพื้นที่เพราะพื้นที่ทั้ง ๒ ฝั่ง ล้วนมีสถานที่สำคัญอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยว วัดวาอาราม แหล่งศิลปวัฒนธรรม บ้านเรือนเก่า สถานที่จับจ่ายใช้สอย ทั้งของกินของใช้ หากเรามีสะพานเป็นสื่อกลางการเชื่อมต่อให้ชุมชนที่เข้มแข็งทั้งสองฝั่งแม่น้ำเข้าด้วยกัน ก็น่าจะทำให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ส่วนคนในพื้นที่ก็เดินทางได้สะดวกมากยิ่งขึ้น อาจจะช่วยแบ่งเบาเรื่องที่จอดรถฝั่งท่าราบได้อีกส่วนหนึ่งด้วย
การออกแบบสะพานเราก็ได้ใส่ศิลปะและประวัติศาสตร์ลงไป โดยการดึงเอาจุดเด่นของสะพานจอมเกล้ามาใช้ นำความงดงามของสถาปัตยกรรมสำคัญ ๆ ของเพชรบุรีมาผสานไม่ว่าจะเป็นพระนครคีรีหรือพระรามราชนิเวศน์(วังบ้านปืน) รวมถึงรายละเอียดต่าง ๆ ก็จะนำศิลปะของช่างเมืองเพชรมาโชว์ที่สะพานนี้ด้วย แต่ทั้งนี้สิ่งที่ผมให้ความสำคัญคือสะพานนี้จะต้องรบกวนเมืองของเราให้น้อยที่สุด จะเห็นได้ว่าเราออกแบบสะพานมาแบบค่อนข้างเรียบง่าย เพื่อให้ดูสอดคล้องไปกับสิ่งแวดล้อมและประวัติศาสตร์บริเวณนั้น ผมมองว่าโครงการนี้เราจะไม่ได้แค่สะพานข้ามแม่น้ำ แต่ที่แห่งนี้จะเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ให้กับเมือง ต่อไปจะมีหลากหลายกิจกรรมเกิดขึ้นที่นี่ เช่นอาจจะมีคนมารอใส่บาตรพระบนสะพาน ต่อด้วยหาอาหารเช้ารับประทานต่อในตัวตลาดเมืองเพชร ลานสุนทรภู่อาจจะเป็นลานกิจกรรมอันสำคัญ และอื่น ๆ อีกมากมายที่จะต่อยอดการท่องเที่ยวต่อไปได้ ส่วนในขั้นตอนการดำเนินการนั้น ก่อนหน้านี้เราได้มีการทำประชาพิจารณ์มาแล้วการออกแบบก็ปรับกันมาเรื่อย ๆ โดยรับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ ศิลปินและประชาชนทั่วไปมาโดยตลอด รวมทั้งหารือกับสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ จนได้แบบที่ลงตัวอย่างในปัจจุบัน ขณะนี้อยู่ในช่วงการหาผู้ออกแบบ เมื่อได้ผู้ออกแบบแล้ว การก่อสร้างน่าจะอยู่ในช่วงประมาณ ๑๐ – ๑๒ เดือนจึงจะแล้วเสร็จ
ทราบว่าเทศบาลฯมีโครงการปรับปรุงคลองบัว ที่ ถ.ราชดำเนิน ตลอดทั้งสายรูปแบบเป็นอย่างไร ? และจะเริ่มดำเนินการได้เมื่อใด ?
สำหรับคลองบัวนั้นเป็นอีกสถานที่สำคัญที่ควรต้องรีบเข้าไปดูแล จากการเข้าไปสำรวจพบว่ามีจุดที่ชำรุดอยู่จำนวนมาก เทศบาลฯจะตั้งงบประมาณเพื่อเข้าไปปรับปรุงให้เรียบร้อย ตัวผมเองก็ได้หารือกับศิลปินช่างปูนปั้นไว้บ้างแล้ว เกี่ยวกับแนวทางในการทำนุบำรุง เนื่องจากศิลปะปูนปั้นในคลองบัวนั้น เป็นสถาปัตยกรรมที่สวยงาม เป็นเอกลักษณ์ของเมืองเพชร อยากทำให้คลองบัวนี้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง น้ำต้องใสสะอาด มีน้ำพุที่สวยงาม จัดไฟให้สว่าง มีราวกันตกเพื่อความปลอดภัยอาจจะมีการปลูกบัวให้สวยงามสมกับคำว่า “คลองบัว” ให้ชาวเทศบาลเมืองเพชรบุรี รวมถึงทุก ๆ คนจะได้มาใช้ประโยชน์ พักผ่อนหย่อนใจ
บางท่านแนะนำให้ถมคลองทำเป็นถนน แต่ผมเองยังมองเห็นประโยชน์ในการช่วยรับน้ำหรือยามเกิดเหตุฉุกเฉินเพลิงไหม้ จุดนี้ก็ยังเป็นจุดเก็บน้ำสำคัญที่พร้อมนำออกมาใช้ หากยังคงไว้และปรับปรุงให้มีชีวิตขึ้นมา น่าจะได้ประโยชน์มากกว่า
มีโครงการหรือแผนงานอะไรบ้างที่เทศบาลเมืองฯจะทำให้แก่ประชาชนฯชาวเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี ?
ขณะนี้หลังจากสถานการณ์โควิดผ่อนคลายลงแล้ว ก็คงจะได้จัดกิจกรรมอะไรต่าง ๆ มากขึ้นเพื่อดูแลเรื่องเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว โดยเฉพาะปากท้องความเป็นอยู่ของประชาชน อย่างที่ทราบกันดีว่าเศรษฐกิจตกต่ำมายาวนาน ผู้คนต่างลำบากในการหาเลี้ยงชีพ เทศบาลจะพยายามหาแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น รวมไปถึงโครงการอื่นๆที่จะสร้างความสุข สุขภาพที่ดีทั้งกายใจให้แก่ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกีฬา ล่าสุดก็เพิ่งรื้อฟื้นเอา “พระปรางค์คัพ” กลับมาจัดใหม่อีกครั้ง โดยเพิ่มชนิดกีฬาเข้าไป งานประเพณีต่าง ๆ อันจะเป็นทั้งความสุข ความบันเทิง และรักษาวัฒนธรรม
ส่วนงานพื้นฐานเราก็ไม่ทิ้ง งานสาธารณูปโภคต่างๆก็ยังคงทำอย่างต่อเนื่อง เรายังมีโครงการปรับปรุงถนนอีกหลายเส้น, ปรับเปลี่ยนไฟ LED ในเมือง, ติดตั้งกล้องวงจรปิดทั่วเมือง, อินเตอร์เน็ตไวไฟฟรี, ปรับภูมิทัศน์ทั่วเมือง, งานก่อสร้างซุ้มทางเข้าเมือง, โครงการก่อสร้างสนามกีฬาเทศบาลเมืองฯ และอีกมากมายหลายโครงการที่ครอบคลุมความเป็นอยู่ทุกด้านของพี่น้องประชาชน ตามนโยบายที่ได้ให้เอาไว้.