เปิดใจ ‘ณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร’ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี กับมุมมองเมืองเพชรในหลากหลายมิติก่อนเกษียณอายุราชการ

นายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี รับราชการคลุกคลีตีโมงอยู่กับชาวจังหวัดเพชรบุรีมานานต่อเนื่องถึง ๘ ปีเต็ม ตั้งแต่เป็นปลัดจังหวัดฯ, รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ และ ๑ ปีที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ใช้เวลาในตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดร่วมสร้างสรรค์และขับเคลื่อนในกิจกรรมอันเป็นประโยชน์มากมายหลายมิติ

วันที่ ๓๐ กันยายนที่จะถึงนี้ ถึงเวลาที่ “ท่านผู้ว่าฯณัฐวุฒิ” จะต้องเกษียณอายุจากงานราชการ “เพชรภูมิ” ได้รับเกียรติจากท่านเปิดใจให้สัมภาษณ์ถึงมุมมองต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดเพชรบุรี กอง บก.เพชรภูมิ ขอขอบพระคุณท่านผู้ว่าฯณัฐวุฒิ มา ณ โอกาสนี้

: ๑ ปีที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ท่านคิดว่าเป็นเวลาที่มีคุณค่าสำหรับตัวท่านแค่ไหนเพียงใด ?

ถือเป็นความโชคดีของผมที่ได้ทำงานอย่างต่อเนื่องในจังหวัดเพชรบุรี เริ่มจากตำแหน่งปลัดจังหวัด ๒ ปี ได้เรียนรู้งานในพื้นที่ในหน้าที่ของฝ่ายปกครองเป็นหลัก และเมื่อมีโอกาสเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัด ๕ ปี และตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดอีก ๑ ปี ก็ได้มองในมุมของผู้บริหารซึ่งมีโอกาสดูแลงานในด้านอื่น ๆ ที่ไม่ใช่งานปกครองอย่างเดียว เช่น งานสาธารณสุข,
งานท่องเที่ยว, งานพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์, งานด้านเศรษฐกิจ ทำให้เห็นว่าเพชรบุรีเป็นเมืองที่มีศักยภาพสูง มีต้นทุนทางวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีผืนป่า ทะเล ภูเขา ผลิตทางการเกษตร ปศุสัตว์ ประมง มีครบทุกอย่าง ผมคิดว่า ๗๗ งหวัดของประเทศไทย เพชรบุรีเป็นเมืองกะทัดรัดแต่มีความครบสมบูรณ์ในทุกมิติ เพราะฉะนั้น ทุกเรื่องน่าจะมีการต่อยอดในการพัฒนาให้ทันตามระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่มีเทคโนโลยีมารองรับความเจริญเติบโตของบ้านเมือง 

โดยเฉพาะช่วงเวลา ๑ ปีของการดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ ผมรู้ว่ามีเวลาจำกัดในการทำงาน
ก็ลุยงานทุกวันแทบไม่มีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เพราะงานบางอย่างที่เราคิดฝันว่าจะทำและเห็น
ช่องทาง ก็พยายามผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้ หลังโควิดคลี่คลาย เราประกาศเปิดเมืองท่องเที่ยว
ก็ร่วมกันวางแผนจัดกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย เช่น ดนตรี กีฬา ดนตรี ศิลปวัฒนธรรม ต้องยอมรับว่าในห้วง ๑ ปีที่ผ่านมาแม้อยูในช่วงสถานการณ์โควิด แต่เพชรบุรีเป็น ๑ ใน ๕ จังหวัดของประเทศที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวในประเทศสูงที่สุด

: อะไรเป็นความประทับใจของท่านที่มีต่อจังหวัดเพชรบุรี ?

สภาพภูมิรัฐศาสตร์ของจังหวัดเพชรบุรีได้เปรียบกว่าเมืองอื่น เพราะเป็นหัวเมืองสำคัญที่ใกล้กรุงเทพฯ เดิมเพชรบุรีเคยเป็นแหล่งอาหาร เป็นเสบียงในสมัยกรุงศรีอยุธยา คนที่นี่อยู่กันแบบสังคมเกษตร ซึ่งมีวิธีคิดไม่สลับซับซ้อน ตรงไปตรงมา ไม่คดโกงใคร การทำงานของผมในพื้นที่จึงง่าย เพราะมีอะไรก็พูดกันแบบเปิดใจ รู้ว่าถ้ามีปัญหาจะต้องไปหาใคร เช่น เรื่องศิลปวัฒนธรรมก็ต้องไปหา อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว, อาจารย์แสนประเสริฐ ปานเนียม, อาจารย์ทองร่วง เอมโอษฐ
เป็นต้น จะทำเรื่องผ้าลายอัตลักษณ์เพชรบุรี ผมก็นึกถึง มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เพราะที่นั่นมีงานวิจัยไว้แล้วมากมาย อย่างเช่นลายผ้าพื้นเมืองที่เราตั้งชื่อว่า “ลายสุวรรณวัชร์” ก็ได้แนวคิดมาจากนักวิชาการของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี นี่คือข้อได้เปรียบของจังหวัดนี้

นอกจากนี้หลังจากที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานลานอนุสาวรีย์รัชกาลที่
๔ ก็ได้มีการขึ้นทะเบียนเรียบร้อยในสมัยผม เมื่อขึ้นทะเบียนได้ก็สามารถตั้งงบประมาณในการซ่อมบำรุงต่าง ๆ ได้ รวมถึงการขุดลอกแม่น้ำเพชรบุรีซึ่งเดิมมีปัญหาน้ำท่วมตัวเมืองเพชรบุรีต่อเนื่อง
ไปยังเขต อ.บ้านแหลม หลังจากที่ผมในสมัยเป็นรองผู้ว่าฯรับผิดชอบงาน ปภ. ได้ประสานไปยัง กรมการทหารช่างราชบุรี และของบประมาณจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี
มาดำเนินการขุดลอก ปัจจุบันสามารถรองรับน้ำได้ ๑๘๐ ลบ.ม./วินาที นั่นคือเหตุผลว่าทำไม
ปี ๒๕๖๓ และ ๒๕๖๔ ที่ผ่านมาน้ำจึงไม่ท่วมตัวเมืองเพชรบุรีและพื้นที่ อ.บ้านแหลม เหมือนในอดีต
เชื่อว่าหลังจากนี้โอกาสที่น้ำจะท่วมจังหวัดเพชรบุรีเหมือนในอดีตคงเกิดขึ้นยาก

: งานใดที่ท่านพยายามผลักดัน แต่ยังไม่แล้วเสร็จในสมัยท่านและอยากให้มีการสานต่อ ?

เรื่องที่ยังทำไม่สำเร็จ คือการแก้ไขปัญหาผู้เสียชีวิตจากอุบัติภัยทางถนน แก้ไม่ตกจริง ๆ เรียนตรง ๆ ว่าผมอยู่เพชรบุรีมา ๘ ปีพยายามแก้ปัญหานี้มาตลอด คุยกับ ปภ.ออกมาตรการต่าง ๆ
เพื่อป้องกันอุบัติภัย แต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตก็ยังมีสูง ๑๑๔ ราย เฉลี่ยเดือนละ ๑๔ รายเหมือนเดิม
เกี่ยวกับวิศวกรรมการจราจรซึ่งพยายามแก้ไขจนเกือบหมดแล้ว ต่อมาคือสภาพเครื่องยนต์ของรถยนต์
จักรยานยนต์ แต่โดยนิสัยของผู้ขับขี่เอง ออกจากบ้านไม่ชอบสวมหมวกนิรภัย หรือคาดเข็มขัดนิรภัย หลายคนชอบขับขี่สวนทางโดยใช้ความเร็วสูงโดยเฉพาะในเขตนอกเมือง ในช่วงที่มี
ฝนตกมักจะเกิดเหตุบาดเจ็บล้มตาย ที่สำคัญคือพวกที่เมาแล้วขับ สร้างความเดือดร้อนให้ตัวเองและบุคคลอื่น ถ้ามีการเสริมสร้างวินัยจราจรให้มากขึ้น ก็จะช่วยลดปัญหาได้มาก และจำเป็นต้องปลูกฝังเยาวชนให้รู้จักวินัยการจราจรตั้งแต่เด็ก

เมื่อจังหวัดเพชรบุรีได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของยูเนสโก้ ทั้งป่าแก่งกระจาน
ทั้งการเป็นเมืองอาหารโลก (Phetchaburi City of Gastronomy) ผู้ประกอบการทุกภาคส่วนก็สามารถมองทิศทางและเป้าหมายในการขานรับได้ดีขึ้น เชื่อว่าต่อไปรายได้จากการท่องเที่ยวจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะเดินทางมายังพื้นที่เพชรบุรีเพิ่มมากขึ้น น่าดีใจที่ปัญหาน้ำกัดเซาะชายฝั่ง หรือบุกรุกทำลายป่ามีน้อยมากกว่าที่อื่น ถือว่าเป็นมนต์เสน่ห์อย่างหนึ่งซึ่ง
นักท่องเที่ยวชอบบรรยากาศแบบนี้ ชาวสแกนดิเนเวียนิยมมาเที่ยวชะอำ-หัวหิน ก็เพราะเขาชอบธรรมชาติที่นี่ ถ้าธรรมชาติสูญเสียไป เขาจะไม่เสียเงินบินมาให้เสียเวลา  

: ตลอดห้วงรับราชการในจังหวัดเพชรบุรี ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ-ภาคเอกชนมากน้อยแค่ไหน ?

ผมได้รับความร่วมมือสูงมากครับ ทั้งหอการค้า, สภาอุตสาหกรรม, หน่วยงานการท่องเที่ยว
ต่าง ๆ รวมถึงผู้ประกอบการในท้องถิ่น ที่ช่วยกันขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดให้เดินไปข้างหน้า ภาคเอกชนในพื้นที่สามารถดึงกิจกรรมใหญ่ ๆ มาลงในพื้นที่ โดยจังหวัดให้งบประมาณส่วนหนึ่งช่วยสนับสนุนเท่านั้น อย่างเช่นงาน เทศกาลอาหาร CHA-AM Food Festival ครั้งที่ ๑ เมื่อปลายปี ๒๕๖๔ สำเร็จได้ก็เพราะประธานหอการค้าฯและคณะกรรมการมีส่วนสำคัญในการผลักดัน

: ได้วางเป้าหมายหลังเกษียณอายุราชการไว้อย่างไร ?

ผมได้ลงหลักปักฐานมีภูมิลำเนาถาวรอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรีเรียบร้อยแล้ว มีความตั้งใจช่วยงาน มูลนิธิโรงพยาบาลพระจอมเกล้า, สมาคมชาวเพชรบุรี ช่วยเป็นแรงความคิดและหาทุนสนับสนุนกิจกรรมขององค์กรต่าง ๆ ที่สร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่ชาวจังหวัดเพชรบุรี เดือนธันวาคมนี้สมาคมชาวเพชรบุรีก็จะมีงานวิ่งมาราธอน ครั้งที่ ๑ ผมก็ยินดีจะมาช่วย งานเพื่อ
ส่วนรวมของเพชรบุรีถ้ามีโอกาสก็ยินดีมาช่วยทุกงานเหมือนเดิมครับ ขณะนี้งานที่ติดต่อให้ผมไปร่วมกิจกรรมมีถึงเดือนมกราคมปีหน้าแล้วครับ อะไรที่เป็นประโยชน์ให้แก่ชาวจังหวัดเพชรบุรีก็ยินดีทำให้อย่างเต็มใจแม้จะไม่อยู่ในส่วนของราชการแล้ว

ตอนเป็นปลัดจังหวัดเพชรบุรี ผมไปออกพื้นที่บ่อย ไปเจอที่ดินอยู่แปลงหนึ่งค่อนข้างสวยและใกล้กับเมืองชะอำ อากาศดี มีความเป็นธรรมชาติสูง อยู่ในพื้นที่ ต.ดอนขุนห้วย อ.ชะอำ
รู้สึกชื่นชอบและตัดสินใจซื้อไว้ เนื้อที่ประมาณ ๒ ไร่เศษ ขณะนี้ปลูกบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว หลังเกษียณอายุราชการสิ้นเดือนกันยายนนี้สามารถย้ายเข้าไปอยู่ในบ้านได้เลยครับ 

: หลังเกษียณอายุราชการ สนใจลงสนามการเมืองบ้างหรือไม่ ?

เรื่องการเมืองผมไม่ถนัดครับ ถนัดแต่การทำงานขับเคลื่อนให้รัฐบาล ถ้าให้เป็น
คณะทำงานก็ยินดี แต่จะให้ลงสมัครรับการเลือกตั้งในทางการเมืองคงจะไม่เอา เป็นผึ้งงานหรือเป็นวัวงานให้กับชาวบ้านสบายใจกว่า

ชีวิตราชการใน จ.เพชรบุรี ๘ ปี ก็สะสมข้อมูลในพื้นที่มากมาย รวมถึงทิศทางในการพัฒนาจังหวัด ถ้าเชิญผมไปเป็นวิทยากรบรรยายให้แก่กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน หรือองค์กรท้องถิ่น
ก็ยินดีครับ เพราะไม่ต้องศึกษาอะไรมาก ๘ ปีที่เพชรบุรี รู้พื้นที่แทบทะลุปรุโปร่ง อะไรช่วยได้
ก็ยินดีครับ ผมอยากขับเคลื่อนสนามบินบ่อฝ้ายที่อยู่ในเขตรอยต่อชะอำ-หัวหิน ให้เป็นสนามบิน
นานาชาติ เพราะสนามบินแห่งนี้จะสามารถรองรับนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติที่
เดินทางมาท่องเที่ยวในพื้นที่ได้จำนวนมาก

: อยากให้ท่านกล่าวส่งท้ายต่อชาวจังหวัดเพชรบุรีในโอกาสเกษียณอายุราชการที่จะถึงนี้ ?

 ต้องขอบคุณทุกความร่วมมือที่คนเพชรบุรีมีให้ผมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงสื่อมวลชน ทัศนคติของคนต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง หลังยุคโควิดระบาดสังคมโลกเปลี่ยนแปลงไม่เหมือนเดิม ต้องช่วยกันคิดว่าจากนี้ไปเราจะอยู่กันอย่างไร ช่วยกันออกแบบ
เมืองให้ได้ประโยชน์มากที่สุดเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลง เพชรบุรีเป็นเมืองที่น่าอยู่มาก ผมตัดสินใจตั้งรกรากอยู่ที่นี่เพระมั่นใจว่าเพชรบุรีเป็นเมืองที่มีศักยภาพสูง
มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีอะไรให้ช่วยเหลือก็ยินดีรับใช้ครับ.

error: ขอสงวนสิทธิ์ ในการคัดลอกบทความ !!