นักปกครองไฟแรงผู้มุ่งมั่นทำงานรับใช้แผ่นดินเมืองเพชร
ตั้งแฟนเพจเฟซบุ๊ค‘ลั่นฆ้องร้องทุกข์เมืองเพชร’ รับฟังปัญหา
นายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร รับราชการคลุกคลีตีโมงอยู่กับชาวจังหวัดเพชรบุรีมานานกว่า ๗ ปี ตั้งแต่ตำแหน่ง ปลัดจังหวัดเพชรบุรี (๒ ปี) ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี (๕ ปี) และล่าสุดได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้ขึ้นดำรงตำแหน่ง “ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี” สมกับที่ชาวจังหวัดเพชรบุรีส่งเสียงเชียร์ให้ขึ้นเป็นพ่อเมืองที่นี่
มาตั้งแต่ต้น เนื่องจาก “ท่านผู้ว่าฯณัฐวุฒิ” เป็นนักปกครองที่มีไฟในการทำงานตลอดเวลา แม่นยำในข้อราชการและมีความขยันในการลงพื้นที่เพื่อรับทราบปัญหาต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง
ห้วงเวลาในราชการของ “ท่านผู้ว่าฯณัฐวุฒิ” เหลืออยู่อีกประมาณ ๙ เดือนนับจากนี้ก่อนเกษียณอายุราชการ เชื่อมั่นว่าท่านจะสามารถนำพาจังหวัดเพชรบุรีให้สู่ความเป็นเลิศ
ในหลายด้านไม่แพ้จังหวัดชั้นนำแห่งอื่น
ท่านให้เกียรติตอบคำสัมภาษณ์ “เพชรภูมิ” ในหลากหลายประเด็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาจังหวัดเพชรบุรีอย่างน่าสนใจ กอง บก.เพชรภูมิ ขอกราบขอบพระคุณ
“ท่านผู้ว่าฯณัฐวุฒิ” มา ณ โอกาสนี้
: อยากทราบความรู้สึกในฐานะที่ท่านรับราชการอยู่ใน จ.เพชรบุรี มานาน
ต่อเนื่องหลายปี และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ?
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผมได้เรียนรู้ ได้ศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาของจังหวัดเพชรบุรี ผมเป็นปลัดจังหวัดเพชรบุรี ๒ ปี เป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี
๕ ปี เพราะฉะนั้น ๗ ปีที่ผ่านมาจึงพอจะเข้าใจปัญหาของจังหวัดนี้ได้บ้างในระดับหนึ่ง
การได้ทำงานต่อในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด ก็แค่ย้ายจากห้องรองผู้ว่าฯ มาอยู่ห้องผู้ว่าฯ
ถือว่าได้มีโอกาสมาทำงานต่อเนื่อง
ขอเรียนว่าผมอยู่ที่ไหน ก็มีจิตสำนึกว่าเราเป็นคนที่นั่น คิดเสมอว่าจะทำทุกอย่างเพื่อ
ผลประโยชน์ของจังหวัดเป็นหลัก เรื่องส่วนตัวมาทีหลัง ผมจึงมีพรรคมีพวก มีเครือข่าย
ทั้งหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารท้องถิ่น ประชาชนในพื้นที่ ผมเหมือนเป็นคนพื้นที่ที่เข้าใจสภาพปัญหา ไม่สร้างภาระ ไม่สร้างปัญหาให้ใคร มุ่งพัฒนาจังหวัดให้เดินไปข้างหน้า
: เมื่อได้สัมผัสคนเพชรบุรีมานานหลายปี รู้สึกอย่างไรกับคนจังหวัดนี้ ?
ผมมองว่าคนเพชรบุรีมีจิตสำนึกสูงในการมีส่วนร่วมการพัฒนาในเรื่องต่าง ๆ
เมื่อมีการออกเสียงประชามติครั้งล่าสุด คนเพชรบุรีได้ไปใช้สิทธิ์ออกเสียงประชามติมากที่สุดในภาคกลาง ล่าสุดเมื่อมีการเลือกตั้ง อบต. ก็มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์มากที่สุดในภาคกลางมากถึง
๘๒ % และมากเป็นอันดับ ๕ ของประเทศ เมื่อคนเพชรบุรีมีความตื่นตัวทางการเมืองสูง สะท้อนให้เห็นว่าคนเพชรบุรีมีความสนใจปัญหาบ้านเมือง เฝ้าดูการทำงานของทุกภาคส่วน ไม่ว่าฝ่ายราชการ ฝ่ายปกครอง ถ้าไม่ทำงานในทางตอบสนองให้ชาวบ้าน หรือไม่ยึดตามกรอบยุทธศาสตร์จังหวัด โอกาสที่มีปัญหาก็จะมีสูง เป็นทั้งพลังบวกและแรงกดดัน ถ้าทำงานไม่เข้ารูปเข้ารอย คนเพชรบุรีไม่เอาไว้แน่นอน
: อะไรเป็นความตั้งใจของท่านที่จะทำให้จังหวัดเพชรบุรีและต้องการทำให้สำเร็จ ?
สิ่งสำคัญสำหรับผมคือต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของจังหวัดเพชรบุรี
ซึ่งประสบอุปสรรคในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ ตลอดกว่า ๒ ปีที่ผ่านมา ตอนนี้ผมอยากจะขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดโดยใช้ฐานด้านศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นต้นทุน
อยู่แล้ว ต่อยอดจัดระเบียบให้มันดีขึ้น ดูว่าศิลปวัฒนธรรมแห่งไหนที่จะต้องเร่งรัดการดูแลรักษาและบูรณะให้เร็วที่สุด เช่น ศาลาการเปรียญวัดใหญ่, วัดมหาธาตุวรวิหาร, วัดชีว์ประเสริฐ
ฯลฯ เพราะเราเตรียมเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวทั้งจากในและต่างประเทศ ถ้าเรายังไม่พร้อมแต่มีนักท่องเที่ยวเข้ามามาก โอกาสที่แหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้จะทรุดโทรมเร็ว ก็จะมีมากขึ้น
นักท่องเที่ยวมาเที่ยว มาพัก มาหาอาหารอร่อย ๆ กินในจังหวัดเรา ซอฟเพาเวอร์
ด้านศิลปวัฒนธรรมจำเป็นต้องได้รับการบูรณะให้เป็นระบบ ต่อมาสิ่งที่ตั้งใจที่จะให้เกิดคือ
การพัฒนาลายผ้าประจำจังหวัดให้เป็นลายเอกลักษณ์จังหวัดเพชรบุรี ผมได้หารือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีและอีกหลายแห่ง ได้เห็นตัวอย่างจากร้านบ้านขนมนันทวัน ที่เขา
ทำเสื้อลายวัดใหญ่ขาย เมื่อก่อนนี้ผมจะตัดเสื้อลายผ้าไทย เขาก็บอกว่าลายแตงโม ลายไทยทรงดำ
ผมก็ซื้อมาใส่ ๓-๔ ตัว ก็รู้สึกว่า ๒ ลายนี้ยังไม่สะท้อนภาพของจังหวัดได้เต็มที่นัก ผมจึงได้
หารือไปยังมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี คิดว่าลายวัดใหญ่ก็น่าจะเป็นสากลที่คนรู้จักมาก ลองทำให้เป็นลายผ้าประจำจังหวัด เมื่อมีลายผ้า ต่อไปก็จะมีแหล่งผลิตในการทอของเราเอง
มีกองทุนพัฒนา เพื่อนำรายได้มาดูแลศิลปวัฒนธรรมควบคู่ไปกับงบประมาณแผ่นดิน จะมีกองทุนที่จัดตั้งขึ้นมาเองจากการทำลายผ้าเพชรบุรี ซึ่งลายผ้าที่แสดงถึงเอกลักษณ์เพชรบุรี
มีหลากหลายรูปแบบ
: ทราบว่าท่านมีดำริชักชวนให้แต่งกายด้วยผ้าไทยพื้นเมืองเพชรบุรี ?
เรื่องนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
ทรงมีแนวพระราชดำริว่าต้องการให้คนไทย ข้าราชการไทย สวมใส่ผ้าไทยที่ทอจากฝีมือ
ชาวบ้านคนไทย เป็นการช่วยเหลืออาชีพของคนไทยชนบท ครม.ชุดปัจจุบันจึงมีนโยบายรณรงค์ให้คนไทยสวมใส่ผ้าไทยสัปดาห์ละวัน จะเป็นวันใดวันหนึ่งก็ได้ เช่นวันอังคารหรือวันศุกร์ เพชรบุรียังไม่มีลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ ก็ต้องพัฒนาลายผ้าเพชรบุรีที่เป็นเอกลักษณ์ขึ้นมาให้ได้ แล้วนำไปให้กลุ่มศิลปาชีพหรือกลุ่มแม่บ้านในตำบลหมู่บ้านต่าง ๆ ที่มีฝีมือ
ได้จัดทำเสื้อผ้าลายไทยเพชรบุรีเพื่อวางจำหน่าย จะทำให้มีรายได้ ขณะนี้คิดลายผ้าซึ่งเป็น
ลายวัดใหญ่แล้ว ผมและท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี จะเป็นผู้นำสวมใส่ในวันเปิดงานพระนครคีรีในเดือนกุมภาพันธ์นี้ จากนั้นเดือนมีนาคม เมษายน ก็คาดว่าคนเพชรบุรีจะมีผ้าลายไทยเพชรบุรีสวมใส่กันอย่างแพร่หลาย
: เมื่อปีที่ผ่านมาเพชรบุรีได้รับการประกาศจาก UNESCO ให้เป็นมรดกโลก
ถึง ๒ เรื่อง คือ ๑.การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของผืนป่าแก่งกระจาน
และ ๒.การถูกประกาศให้เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร
ท่านมีแนวทางในการขานรับและส่งเสริมให้ยั่งยืนอย่างไร ?
น่าดีใจแทนชาวจังหวัดเพชรบุรีที่ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) พิจารณาให้กลุ่มป่าแก่งกระจานซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ใน จ.เพชรบุรีได้รับการบรรจุเข้าเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ เมื่อปี ๒๕๖๔ และประกาศให้ จ.เพชรบุรี
เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร ประจำปี ๒๕๖๔ (City of Gastronomy) หรือ UNESCO
Creative Cities Network – UCCN ซึ่งเป็น ๑ ใน ๔๙ เมืองจากทั่วโลกที่ได้รับประกาศเป็นเครือข่าย
เมืองสร้างสรรค์ในปี ๒๕๖๔ ทั้ง ๒ อย่างที่เราได้รับ ถือเป็นโอกาสดีของชาวจังหวัดเพชรบุรีทำให้ชื่อเสียงของจังหวัดนี้ขจรขจายไปในระดับสากล สามารถที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวมายังจังหวัดเรา ขณะนี้นักท่องเที่ยว ๙๕ % เป็นนักท่องเที่ยวภายในประเทศ เมื่อเพชรบุรีมี ๒ สิ่งนี้เกิดขึ้นก็จะดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาท่องเที่ยวเพชรบุรีมากขึ้น แต่ก็ต้องย้อนกลับมาดูตัวเองก่อนว่าเรามีความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยวมากน้อยเพียงใด โครงสร้างพื้นฐานที่จะนำนักท่องเที่ยวไปยังผืนป่าแก่งกระจาน เรามีความพร้อมหรือยัง สถานที่พักพร้อมหรือยัง
การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารก็เช่นกัน เมื่อเราเตรียมรับนักท่องเที่ยว เรามี
สถานที่รองรับนักท่องเที่ยวและอาหารเรามีพร้อมแล้ว ก็ต้องมองถึงการพัฒนาคุณภาพของอาหารที่มีอยู่ ว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้อาหารสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างมีคุณภาพและน่าเชื่อถือ ทั้งด้านรสชาติและสุขอนามัย นักท่องเที่ยวที่มาเพชรบุรีในช่วงหลัง ก็มักจะถามหาอาหารพื้นเมืองเพชรบุรีที่มีชื่อเสียง เช่น ยำหัวโหนด แกงหัวตาล แสดงให้เห็นว่าคนเริ่มให้ความสนใจ เราจะทำอย่างไรที่จะขับเคลื่อนให้ก้าวไปข้างหน้า ความยั่งยืนของคุณภาพอาหารต้องทำให้ได้ ต้องอร่อย สะอาด และปลอดภัย ต้องวางยุทธศาสตร์ในเรื่องนี้ว่าในช่วง ๕ ปีเราจะทำอะไรบ้าง เพื่อให้เกิดการยอมรับและไม่ถูกถอดออกจากยูเนสโก้ได้ง่าย ๆ ดังนั้นห้วง ๕ ปี
นับจากนี้เราก็จะมีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศชะอำ และจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เข้ามาเป็นทัพเสริมสร้างความรับรู้และพัฒนาให้ขยายออกไป
ในวงกว้าง ให้เป็นอินเตอร์มากขึ้น แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับบ้านเมืองอื่นให้มากขึ้น
ส่วนกรณีป่าแก่งกระจานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก จะต้องให้ดำรงอยู่อย่างมีมาตรฐานตามที่ยูเนสโก้วางกฎเกณฑ์ไว้ ป่าไม้และสัตว์ป่าต้องมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จังหวัดต้องสนับสนุนงบประมาณในการดูแล ที่ผ่านมาเราเอางบประมาณส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์จังหวัดฯ
ไปสนับสนุน เช่นการทำรั้วป้องกันการกระทบกระทั่งระหว่างคนกับช้าง หาแหล่งอาหารให้ช้าง หาห่วงโซ่อาหารให้สัตว์ป่า คนก็ต้องไม่ไปบุกรุกพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ต่างคนต่างอยู่ จังหวัดต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับคนที่บุกรุกทำลายป่า-ล่าสัตว์ป่า ต้องปลูกป่าเพิ่ม
: ศักยภาพของจังหวัดเพชรบุรีมีมากน้อยแค่ไหน หากเทียบกับจังหวัดอื่น ?
ผมมองว่าเพชรบุรีมีศักยภาพค่อนข้างสูงมาก อย่างโครงการ U2T (โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (๑ ตำบล ๑ มหาวิทยาลัย) ของมหาวิทยาลัย
ราชภัฏเพชรบุรี ที่ส่งบัณฑิตจบใหม่ไปลงสู่พื้นที่เพื่อเป็นแรงผลักดันพัฒนาในด้านต่าง ๆ ซึ่งจะ
ส่งผลต่อพื้นที่ในตำบลหมู่บ้านต่าง ๆ สามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นแหล่งวัฒนธรรมชุมชนและอื่น ๆ หน้าที่ของจังหวัดฯจะต้องหาแหล่งที่เป็นองค์ความรู้ เช่น ททท., มหาวิทยาลัย
ในพื้นที่ ฯลฯ เข้าไปช่วยจัดการและดำเนินการให้เป็นไปตามความมุ่งหมาย พื้นที่หลายแห่ง
ถ้ามีภาควิชาการเข้าไปเสริม ก็จะเดินหน้าการพัฒนาไปได้ด้วยดี
หลังจากโควิด-๑๙ คลี่คลายแล้ว คิดว่าจะทำอย่างไรให้เพชรบุรีซึ่งมีศักยภาพเป็นเมืองเกษตรกรได้หันมาปลูกพืชอื่น ๆ นอกจากข้าว เพื่อให้พืชผลที่ปลูกสร้างรองรับด้านอาหารให้แก่แหล่งท่องเที่ยวชะอำ-หัวหินได้ตามที่ภาคการท่องเที่ยวต้องการ ข้าวปลูกได้ปีละครั้ง น้ำท่าดี ๆ อย่างมากก็ ๒ ครั้ง แต่พืชผักบางชนิดสามารถปลูกหมุนเวียนได้ปีละหลายครั้ง เกษตรจังหวัดฯต้องไปสำรวจดูว่าภาคการโรงแรมต้องการพืชผักชนิดใดบ้าง ถามเชฟ ถามฝ่ายการทำอาหารว่าต้องการอะไร สิ่งไหนที่เคยสั่งมาจากจังหวัดอื่น เราปลูก เราผลิตเองได้หรือไม่ ก็ต้องสำรวจและดำเนินการทันที หากผลผลิตเหลือก็ยังสามารถส่งไปขายยังจังหวัดอื่นที่ต้องการได้อีก
: งานพระนครคีรี-เมืองเพชร ปีนี้มีความคืบหน้าอย่างไร ?
งานพระนครคีรี-เมืองเพชรสำหรับปีนี้ได้กำหนดไว้แล้ว จะมีขึ้นระหว่างวันที่ ๑๘-๒๗ กุมภาพันธ์นี้ ๑๐ วัน ๑๐ คืน แต่จะมีการปรับจากรูปแบบเดิมเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ที่มีการระบาดของเชื้อโควิด-๑๙ คือจะไม่มีขบวนแห่ ๗ – ๘ ขบวนในวันเปิดงาน เพราะถ้ามี
ขบวนแห่ก็จะทำให้มีการรวมตัวกันมาก ๆ งบส่วนนี้ก็จะนำไปสนับสนุนการจัดทำร้านอาหารอร่อย ๆ ทั้ง ๘ อำเภอ สนับสนุนแนวทางเพชรบุรีเมืองสร้างสรรค์อาหารโลก จัดที่ลานอุทยาน ร.๔ สนามหน้าเขาวัง ให้นักท่องเที่ยวได้ชม ช้อป ชิม และซื้อกลับไปรับประทาน
งานพระนครคีรีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาจากจังหวัดใกล้เคียง เช่น
ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ประจวบคีรีขันธ์ นครปฐม และกรุงเทพฯ มากันมากทุกปี
คนเหล่านี้จะมาจับจ่ายใช้สอย มาพักโรงแรมในพื้นที่ แม้แต่งานมหกรรมมอเตอร์โชว์ที่จัด
โดยหอการค้าจังหวัดเพชรบุรีในช่วงงานที่สนามฝั่งตรงข้ามโรงเรียนเบญจมเทพอุทิศฯ ก็มียอดขายสูง มีผู้ให้ความสนใจมาก ก็เลยมองว่าถ้าเศรษฐกิจแบบนี้จังหวัดต้องมีส่วนสนับสนุน
งานพระนครคีรีปีนี้ก็ยังแบ่งเป็น ๓ โซนเหมือนเดิม คือบนพระนครคีรี(เขาวัง),
ลานอุทยาน ร.๔ และสนามฝั่งตรงข้ามโรงเรียนเบญจมเทพอุทิศฯ ซึ่งเป็นที่ดินของคุณป้าสาลี่ คุณวิริยะ ทุกแห่งจะมีการคัดกรองคนเข้างานป้องกันโควิด-๑๙ ตามมาตรการของสาธารณสุขผมยังเชื่อมั่นในทีมงานของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี ที่มีความเข้มแข็ง ทั้งทีมแพทย์-พยาบาล, บุคลากรทางการแพทย์, อสม. สถานพยาบาลทุกแห่ง และทุกส่วนองค์กรชุมชนที่ร่วมด้วยช่วยกันตั้งแต่ต้นมาจนทุกวันนี้และประสบผลสำเร็จตลอดมา น่าดีใจ
ที่ขณะนี้คนเพชรบุรีได้รับการฉีดวัคซีนเข็ม ๑, ๒, ๓ ตามเป้าหมาย อัตราการป่วยการตาย
ก็ลดน้อยลงมาก
: มีกระแสข่าวว่า จ.เพชรบุรี จะเป็นหนึ่งในหลายจังหวัดที่จะให้มีการจัดตั้ง “บ่อนกาสิโน” เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพการท่องเที่ยว สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมได้ ท่านมีความเห็นอย่างไร ?
โดยความเห็นส่วนตัว ผมเห็นว่าในยุคเศรษฐกิจสมัยใหม่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์มีความสำคัญ หลายประเทศรอบ ๆ บ้านเราทั้งกัมพูชา ลาว สิงคโปร์ มาเลเซีย
และมาเก๊าที่ฮ่องกงทุกประเทศมีบ่อนกาสิโนมีเอ็นเตอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์กันทุกประเทศแล้ว
เพราะคนที่จะเข้าไปยังสถานที่เหล่านี้ได้จะต้องผ่านการตรวจสอบฐานะ ประวัติการเสียภาษีสกรีนกันอย่างละเอียด ไม่ใช่ใครจะเข้าไปเล่นการพนันก็ได้ การเกิดบ่อนกาสิโนจะไม่ส่งผล
ไปถึงคนระดับรากหญ้าอย่างแน่นอน จากการไปศึกษาดูงานที่ต่างประเทศก็พบว่าบ่อนกาสิโน
หรือเอ็นเตอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์สามารถนำรายได้มาเป็นสวัสดิการสังคมได้ดีมาก
เช่น ช่วยเหลือคนพิการ คนสูงอายุ คนด้อยโอกาสในสังคม กลุ่มเปราะบางต่าง ๆ ซึ่งรัฐบาลมีหน้าที่ต้องบริหารจัดการภาษีและรายได้จากบ่อนตามข้อตกลงส่งกลับเข้าพื้นที่ ถ้าเรามีเงิน
มาช่วยเหลือด้านสวัสดิการให้แก่กลุ่มคนต่าง ๆ เหล่านี้ ก็จะช่วยเหลือประเทศได้มาก
ผมยังมองว่าพื้นที่ภาคตะวันตกหลายจังหวัด คือ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี กาญจนบุรี
ผมมองว่าเพชรบุรีมีความเหมาะสมในการจัดตั้งบ่อนกาสิโนและเอ็นเตอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์มากที่สุด เพราะเป็นเซ็นเตอร์ของภาคตะวันตก มีแหล่งท่องเที่ยวครบวงจร
พาครอบครัวมาประชุมหรือมาท่องเที่ยวที่เพชรบุรี ก็สามารถไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ
หลากหลายรูปแบบ ที่นี่มีทั้งทะเล ป่า ภูเขา แหล่งศิลปวัฒนธรรม พระราชวังเก่าแก่ และไปเที่ยว
เอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ได้ด้วย ผมจึงอยากให้จังหวัดเพชรบุรีเสนอตัวในเรื่องนี้
แต่จะเป็นอำเภอไหนก็ต้องดูถึงความเหมาะสมและความสะดวก เช่นเส้นทางคมนาคมสะดวกมีสนามบิน มองแล้วว่าสะดวกที่สุดก็คือ อ.ชะอำ เพราะสามารถไปเที่ยวยังแหล่งท่องเที่ยวหัวหินที่อยู่ใกล้เคียงได้ด้วย่
: ขณะนี้มีโครงการใหญ่อะไรบ้างที่กำลังจะเกิดขึ้นใน จ.เพชรบุรี และอยากบอกให้แก่ชาวเมืองเพชรได้รับทราบ ?
หลังสถานการณ์โควิด-๑๙ คลี่คลายลงตั้งแต่ปลายปี ๒๕๖๔ ปรากฏว่าสถานที่ท่องเที่ยวใน จ.เพชรบุรี โดยเฉพาะย่านหาดทรายชายทะเล โรงแรม-บ้านพัก มีผู้จองเต็มตลอดโดยเฉพาะช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์และวันนักขัตฤกษ์ จังหวัดพยายามจัดงานอีเวนต์บ่อย ๆ เพื่อส่งเสริม
การท่องเที่ยวเช่นเทศกาลอาหารที่ชะอำเมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา เดือน ม.ค.ก็จะมีปั่นจักรยานชมเมือง
เดือน ก.พ.ก็จะมีงานวิ่งที่แก่งกระจาน ตามด้วยงานพระนครคีรี ให้ภาพข่าวแพร่ออกไปบ่อย ๆ
ให้คนรู้ว่ามาเมืองเพชรน่าเที่ยว ปลอดภัย ผู้คนมีอัธยาศัยไมตรี เป็นจังหวัดที่น่ามาเยือน
: ในสถานการณ์การระบาดของโควิด-๑๙ ยังไม่นิ่ง อยากบอกหรืออยากเตือนอะไรให้แก่ชาวจังหวัดเพชรบุรีได้ระวังหรือร่วมด้วยช่วยกันให้
ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ ?
ก็ต้องขอความร่วมมือในเรื่องการฉีดวัคซีน ท่านที่ยังไม่ฉีดก็อย่าลังเล ขณะนี้มีวัคซีนให้เลือกทั้งแอสตร้าเซนเนก้า, ไฟเซอร์, โมเดอร์น่า เปิดจุดบริการฉีดวัคซีนหลายแห่ง
เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี, โรงพยาบาลพระจอมเกล้า, มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี, โรงพยาบาลประจำอำเภอทุกอำเภอ และ รพ.สต. พูดได้ว่ามีจุดฉีดทั้งจังหวัด
สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ รพ.สต. หรือสำนักงานสาธารณสุข หรือองค์กรปกครองท้องถิ่น
ว่ามีฉีดที่ไหน-วันไหน ถ้าเรามีภูมิคุ้มกันในร่างกาย ก็จะสามารถจะป้องกันโควิดได้
เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ก็จะทำให้รอดไปด้วยกัน ขณะนี้สถานที่เสี่ยงใน จ.เพชรบุรีไม่มีเลย
เราพยายามไม่เปิดโอกาสให้มีแหล่งที่จะไปรวมตัวกันมาก ๆ
: ทราบว่าท่านมีโครงการ “ลั่นฆ้องร้องทุกข์เมืองเพชร” เพื่อรับเรื่องราว
ร้องทุกข์จากประชาชน ?
ใช่ครับ เพราะที่ผ่านมาเวลาประชาชนมีความเดือดเนื้อร้อนใจ แต่ไม่ทราบว่าจะไปร้องทุกข์
ในช่องทางไหน รู้เพียงว่าถ้าเป็นเหตุด่วนเหตุร้ายก็โทรแจ้ง ๑๙๑ หรือเจ็บป่วยฉุกเฉินก็โทรแจ้ง ๑๖๖๙ แต่กรณีไฟฟ้าดับ ประปาไม่ไหล ประปารั่ว ข้างบ้านส่งเสียงดัง ยิงปืนขึ้นฟ้า
อะไรเหล่านี้ ผมคิดว่าต้องเปิดช่องทางร้องทุกข์ให้มีมากขึ้น ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเพชรบุรีจึงได้ตั้งแฟนเพจเฟซบุ๊ก “ลั่นฆ้องร้องทุกข์เมืองเพชร” และโทรศัพท์สายด่วน ๑๕๖๗
คอยรับเรื่องตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางให้ประชาชนแจ้งเข้ามาโดยตรง
มีแอดมินคอยรับเรื่อง คอยตอบคำถาม คอยช่วยเหลือ ช่วงนี้ที่มีแจ้งเข้ามาเยอะคือน้ำประปาไม่ไหล น้ำประปารั่วที่นั่นที่นี่ ผมเองก็รับเรื่องและโทรแจ้งให้ผู้จัดการประปาไปดูแลแก้ไขจะมีเจ้าหน้าที่น้อง ๆ ศูนย์ดำรงธรรมคอยประสานผมและติดต่อหน่วยงานไปช่วยเหลือ
เพื่อให้ช่องทางนี้ประสบผลเป็นรูปธรรม อย่างปีใหม่ที่ผ่านมาก็มีคนแจ้งว่ามีการยิงปืนขึ้นฟ้า ผมก็แจ้งไปยังท่านผู้บังคับการตำรวจฯ ท่านก็แจ้งไปยัง สภ.เพื่อไปยังที่เกิดเหตุทันที ทราบว่ารู้ตัวและออกหมายจับผู้ก่อเหตุแล้ว.
———————————-
“….ผมมองว่าคนเพชรบุรีมีจิตสำนึกสูงในการมีส่วนร่วมการพัฒนาในเรื่องต่าง ๆ เมื่อมีการออกเสียงประชามติครั้งล่าสุด คนเพชรบุรีได้ไปใช้สิทธิ์ออกเสียงประชามติมากที่สุดในภาคกลาง ล่าสุดเมื่อมีการเลือกตั้ง อบต. ก็มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์มากที่สุดในภาคกลางมากถึง ๘๒ % และมากเป็นอันดับ ๕ ของประเทศ เมื่อคนเพชรบุรีมีความตื่นตัวทางการเมืองสูง สะท้อนให้เห็นว่าคนเพชรบุรีมีความสนใจปัญหาบ้านเมือง เฝ้าดูการทำงานของทุกภาคส่วน…”