


เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ หรือ Creative Cities Network เป็นอีกหนึ่งโครงการของ องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ที่ดำเนินงานควบคู่กับการประกาศแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติและประวัติศาสตร์ โดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2547 เปิดรับคัดเลือกทุก ๆ 2 ปี เพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industries) สู่ความร่วมมือในระดับนานาชาติของภาคประชาคม ประชาชน เอกชน และสาธารณะ ซึ่ง UNESCO ได้ให้คำจำกัดความ Creative City ว่า คือการร่วมมือระหว่าง ชุมชนท้องถิ่นและภาครัฐ ในการสร้างสรรค์เมืองผ่านการพัฒนาสภาพแวดล้อม โครงสร้างทางสังคม ระบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และการนำสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ขนบธรรมเนียม ตลอดจนจารีตประเพณีของท้องถิ่นมาผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อนำไปสู่การเป็นเมืองที่มีบรรยากาศที่เอื้อต่อการสร้างธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์ (Creative Industry) โดยแบ่งเป็น 7 ประเภทเมืองสร้างสรรค์ ได้แก่ เมืองแห่งวรรณกรรม (City of Literature), เมืองแห่งภาพยนตร์ (City of Film), เมืองแห่งดนตรี (City of Music), เมืองแห่งหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (City of Crafts & Folk Arts), เมืองแห่งการออกแบบ (City of Design), เมืองแห่งศิลปะสื่อประชาสัมพันธ์ (City of Media art) และ เมืองแห่งการสร้างสรรค์ด้านอาหาร (City of Gastronomy)



น.ส.เอกรัตน์ นาคาคง รอง ผวจ.เพชรบุรี เปิดเผย “เพชรภูมิ” ว่าที่ผ่านมา จ.เพชรบุรี มีเป้าหมายต้องการสมัครเข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกในปี 2566 แต่เมื่อ นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผวจ.เพชรบุรี และเคยเป็น ผวจ.ภูเก็ต มาก่อน ซึ่งก่อนหน้านี้ จ.ภูเก็ต เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของ UNESCO เมื่อนายภัคพงศ์ ได้รับการแต่งตั้งมารับตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เมื่อปี 2563 ได้เล็งเห็นว่า จ.เพชรบุรี เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ มีความโดดเด่น และมีองค์ประกอบด้านอื่นที่รวมเป็นคุณสมบัติด้านอาหารที่สมบูรณ์ จึงมีแนวคิดเสนอให้ จ.เพชรบุรี เข้ารับการคัดเลือกสู่เมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของ UNESCO ในปี 2564 เพื่อเป็นการเตรียมพร้อม โดยมีแนวคิดหากพบว่า จ.เพชรบุรี มีจุดอ่อนด้านใดจะได้มีระยะเวลาในการปรับปรุงและพัฒนาสู่ความสมบูรณ์ เพื่อให้ได้รับการยอมรับว่าเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของ UNESCO ในระยะเวลาอันใกล้



ต่อมาเมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2564 กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการคัดเลือกเบื้องต้น ในฐานะคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ได้มีมติเสนอชื่อ จังหวัดเพชรบุรี ให้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้ารับสมัครเป็น เมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของยูเนสโก หรือ Creative City of Gastronomy by UNESCO ตามจุดเน้นที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ อาทิ นโยบายและความมุ่งมั่นของเมือง การมีกลไกและการบริหารจัดการเพื่อแสดงถึงการประสานงานที่มีประสิทธิภาพ เมืองเป็นที่รู้จักของนานาชาติ โครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งความพร้อมของการรับเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับนานาชาติ และสถาบันการศึกษาที่จะเชื่อมโยงในการสืบทอด
โดย UNESCO จะประกาศผลเมืองที่ได้รับการพิจารณาให้เข้าร่วมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ในเดือนพฤศจิกายน 2564



“การสมัครครั้งนี้ จ.เพชรบุรี ชูจุดเด่นความพร้อมด้านอาหารในทุกส่วน ทั้งด้านแหล่งผลิตวัตถุดิบประกอบอาหารครบเครื่องเมือง 3 รส ที่มีทั้ง “เกลือทะเล” ที่ให้รสเค็ม “มะนาวแป้น” ที่ให้รสเปรี้ยว และ “น้ำตาลโตนด” ที่ให้รสหวาน ที่มีพื้นที่ที่ผลิตวัตถุดิบดังกล่าวทั้ง 3 ประเภทที่มากที่สุดในประเทศ นอกจากนี้ยังมีรสเผ็ดจาก “พริกกะเหรี่ยง” จังหวัดเพชรบุรีมีความพรั่งพร้อมไปด้วยวัตถุดิบ สด สะอาด มากมาย อาทิ พืชผักผลไม้ อาหารทะเล และสัตว์เศรษฐกิจต่าง ๆ มีตลาดกลางการเกษตรของเกษตรกร ฯลฯ”
จังหวัดเพชรบุรีเป็นเมืองเก่าที่มีเอกลักษณ์วัฒนธรรมด้านอาหารที่หลากหลาย มีอัตลักษณ์เมนูอาหารพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง ตลอดจนเมนูอาหารดั้งเดิมที่สืบทอดจากเมนูชาววังที่หลากหลาย และมีพ่อครัว แม่ครัว กุ๊ก เชฟ ที่มีฝีมือทำอาหารที่อร่อยครบเครื่อง ฯลฯ และยังมีความพร้อมด้านสถานที่พัก โรงแรมที่สะอาด สวยงาม มีมาตรฐาน พรั่งพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก สามารถรองรับการประชุมสัมมนาขนาดใหญ่ รองรับกลุ่มสัมมนาและนักท่องเที่ยวได้รวมกว่า 5,000 ห้องพักมีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามหลากหลายทั้ง วัด วัง โครงการพระราชดำริ ผืนป่าแก่งกระจานมรดกโลก หาดทรายชายทะเลสวยงาม สนามกอล์ฟ และสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ รวมถึงความโดดเด่นด้านศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ความหลากหลายของชาติพันธุ์ งานประจำปี งานพระนครคีรีเมืองเพชร ประเพณีแข่งขันวัวเทียมเกวียน ฯลฯ และที่สำคัญชาวเพชรบุรีมีความเป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี



รอง ผวจ.เพชรบุรี กล่าวต่อไปว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้ UNESCO พิจารณาให้ จ.เพชรบุรี เข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ คือการรับรู้
ของประชาชนว่าพื้นที่ จ.เพชรบุรี กำลังเข้าสู่การคัดเลือกเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร ของ UNESCO ดังนั้นนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา จ.เพชรบุรี ได้กระตุ้นการสื่อสารและเพิ่มการมีส่วนร่วมให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน โดยจัดโครงการประกวดมาสคอตการท่องเที่ยว และโลโก้เมืองสร้างสรรค์ของจังหวัดเพชรบุรี ระดับนานาชาติ 2564 และได้มาสคอตชื่อ “น้องโตนด” และได้ “โลโก้เมืองสร้างสรรค์” เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรมด้านอาหาร การสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมอาหาร การพัฒนาคุณภาพด้านการผลิตอาหาร การแปรรูป การพัฒนาเมนูอาหารใหม่ ฯลฯ การทำสื่อประชาสัมพันธ์ และกิจกรรมสร้างการรับรู้และเพิ่มการมีส่วนร่วมสู่ประชาชน อาทิ การจัดประกวดถ่ายภาพอาหาร ประกวดคลิป VDO ประกวดโปสเตอร์ออนไลน์ และกิจกรรมอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงสร้างสัมพันธ์แลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจกับเมืองเครือข่ายด้านอาหารทั้งในและระหว่างประเทศ



“หากจังหวัดเพชรบุรีได้รับการพิจารณาให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของ UNESCO จะส่งผลดีในการสร้างภาพลักษณ์ของจังหวัด เป็นการประชาสัมพันธ์อาหาร ของดี และแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดเพชรบุรีให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เกิดการดึงดูดด้านการท่องเที่ยว และจะเกิดการเพิ่มงานสร้างรายได้แบบลูกโซ่ให้แก่วงจรธุรกิจด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การเกษตร การประมง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบ การค้าขาย โรงแรมที่พัก ร้านอาหาร ร้านของฝากของที่ระลึก การคมนาคมขนส่ง สินค้าชุมชน ฯลฯ รวมทั้งยกระดับสินค้าและการส่งออก ซึ่งจะเป็นการกระจายการสร้างรายได้มหาศาลให้คนในท้องถิ่นต่อไป และที่สำคัญจะเป็นแนวทางในการยกระดับ จ.เพชรบุรี ไปสู่ Health City หรือเมืองทางด้านสุขภาพ ซึ่งจะยกระดับด้านเศรษฐกิจและเชื่อมโยงประโยชน์ไปยังประชาชนด้านต่าง ๆ ต่อไปด้วย ” น.ส.เอกรัตน์ กล่าว หน่วยงาน องค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน โรงแรม แหล่งท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไป สามารถร่วมนำมาสคอต “น้องโตนด” และ “โลโก้เมืองสร้างสรรค์ฯ” ไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้แก่ประชาชน และเชิญชวนติด #phetchaburicreativecity ในสื่อโซเชียลเกี่ยวกับอาหาร หรือวัตถุดิบต่าง ๆ ที่น่ารับประทาน และติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ https://www.phetchaburicreativecity.com/