กู้เงินเรียนก็คือ คนเรียนกู้เงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษามาใช้จ่ายในการเล่าเรียนด้วยตนเองโดยให้พ่อแม่เป็นผู้ค้ำประกัน ก่อนที่จะมีกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ่อแม่ที่มีรายได้ไม่เพียงพอที่จะให้ลูกได้เรียนหนังสืออย่างที่ต้องการก็ต้องกู้เงินมาส่งลูกเรียน พ่อแม่ที่เป็นครูก็ได้อาศัยสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเป็นที่พึ่งในยามที่ลูกเรียนในระดับอุดมศึกษา ชาวไร่ชาวนาก็กู้ธนาคารเกษตรและสหกรณ์ ที่ลำบากกว่านั้นก็ใช้ที่ดินที่ทำมาหากินอยู่ไปจำนอง หรือค้ำประกันเงินกู้ พ่อแม่ที่กู้เงินมาส่งลูกเรียนก็คาดหวังว่าเมื่อลูกเรียนจบมีงานทำก็มีรายได้มาช่วยครอบครัวชำระหนี้สินหลายครอบครัวก็ประสบความสำเร็จมีความสุข แต่หลายครอบครัวก็มีปัญหาลูกมีปัญหาการเรียน เรียนไม่จบ เรียนจบไม่มีงานทำ มีงานทำแต่ไม่รับผิดชอบช่วยพ่อแม่ใช้หนี้
แนวคิดเรื่องให้ผู้เรียนมีความรับผิดชอบตนเองในการศึกษาเล่าเรียน รัฐบาลจึงให้มีหน่วยงานที่มีลักษณะเป็นกองทุนให้ผู้เรียนกู้ยืมเงินมาใช้จ่ายในการเรียน โดยนำตัวอย่างมาจากต่างประเทศ หลายประเทศมาปรับให้เหมาะสมกับบริบทของไทย
กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๙ ให้เริ่มดำเนินการกองทุนในลักษณะเงินทุนหมุนเวียน ตามนัยมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. ๒๔๙๑ ต่อมารัฐบาลได้พิจารณาเห็นความสำคัญของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษามากขึ้น จึงได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๑ มีผลให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา
มีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยอยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงการคลังมีวัตถุประสงค์ให้กู้ยืมเงินแก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพระหว่างศึกษา
ปัจจุบัน พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๐ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๖๐ และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๐ มีผลให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาอยู่ในการกำกับดูแลของรัฐมนตรี และมีฐานะเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น เนื่องจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๑ และกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคตตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการบริหารกองทุนเพื่อการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๙ ที่ออกตามพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. ๒๔๙๑ มีการบริหารจัดการและการดำเนินการที่มีข้อจำกัด และไม่สอดคล้องกับนโยบายการผลิตกำลังคนและการพัฒนาประเทศสมควรบูรณาการการบริหารจัดการและการดำเนินการของกองทุน กยศ. และกองทุน กรอ. ให้เป็นเอกภาพอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน และเพิ่มมาตรการในการบริหารจัดการกองทุนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สถิติเมื่อ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๕ มีผู้กู้อยู่ระหว่างชำระหนี้ สามล้านกว่าคนคิดเป็น ๕๖% ปลอดหนี้ล้านคนเศษคิดเป็น ๑๗% ชำระหนี้เสร็จ ล้านหกแสนกว่าคน คิดเป็น ๒๖% เสียชีวิตหรือทุพพลภาพ หกหมื่นคน
คือ ๑%
มีลูกหนี้กองทุนนี้กลุ่มหนึ่งไม่รับผิดชอบชำระหนี้เรียกร้องให้กองทุนยกเลิกหนี้ให้ทั้งหมด กองทุนได้ออกมาชี้แจงว่า จะทำให้รุ่นน้องเสียโอกาส และเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีที่คนรุ่นนี้ขาดความรับผิดชอบ และได้ออกมาตรการประนอมหนี้ คือ ลดดอกเบี้ยหนี้ที่เหลือจาก ๑% เหลือ ๐.๐๑% ลดเงินต้นให้ ๕% ลดเบี้ยปรับ ๑๐๐% ถ้าชำระหนี้เสร็จ ลดเบี้ยปรับ ๘๐% ถ้าชำระหนี้ที่เหลือต่อ ลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ ๐.๕% ต่อปี
ไม่น่าเชื่อว่ามีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปัจจุบันบางคนไม่ยอมชำระหนี้ ใช้วิธีผ่อนส่งให้น้อยที่สุดทั้งที่มีรายได้เป็นแสนต่อเดือน
หวังว่าน้อง ๆ คงไม่เอาเป็นตัวอย่าง คนรุ่นใหม่จริง ๆ ต้องมีความรับผิดชอบ เป็นหนี้ต้องใช้หนี้