ความปรารถนาของทุกคนคือการมีอาชีพที่มั่นคงและมีฐานะทางเศรษฐกิจดี การศึกษาเป็นมรรควิธีสำคัญที่จะทำให้สมปรารถดังกล่าว
พ่อแม่หลายคนจึงขวนขวายหาเงินทองเพื่อส่งเสียให้ลูกได้มีโอกาสได้รับการศึกษาให้มากที่สุด ดีที่สุด หวังว่าการลงทุนให้การศึกษาที่ดีที่สุดจะส่งผลให้ลูกได้มีอาชีพที่ดีและมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีดังที่กล่าวข้างต้น แต่การที่พ่อแม่คิดว่าการให้การศึกษาที่ดีที่สุดตามความคิดของพ่อแม่อาจไม่ใช่หนทางที่จะส่งผลให้ลูกมีอาชีพหรือมีฐานะทางเศรษฐกิจ
ที่ดีได้ โดยเฉพาะค่านิยมปริญญาที่มีอยู่อย่างกว้างขวาง และฝังลึกในสังคมไทย จึงส่งผลให้กรอบความคิดการศึกษาที่ดีที่สุดคือการจบการศึกษาที่ได้รับปริญญา และจะให้ดีขึ้นจะต้องจบจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง
หลายครอบครัวลงทุนให้การศึกษาที่คิดว่ายอดเยี่ยมสำหรับลูกตั้งแต่ระดับอนุบาล เรียนศิลปะ ดนตรี กีฬา ภาษาต่างประเทศ เรียนพิเศษ ตั้งแต่ประถมถึงมัธยม กว่าจะจบอุดมศึกษาก็หมดเงินไปเป็นล้าน สาขาที่จบ
อาจไม่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน หรือได้ทำงานที่ได้รับค่าตอบแทนน้อยเกินไป ก็เรียกได้ว่าไม่ประสบความสำเร็จในการลงทุน
ความจริงการศึกษากับอาชีพนั้นตัวแปรสำคัญคือตัวผู้เรียนเอง การอบรม
เลี้ยงดู และค่านิยมปริญญา ในด้านผู้เรียนเองคือทักษะพื้นฐานต่าง ๆ ที่จะทำให้ผู้เรียนเรียนรู้สาระวิชาการได้ ความถนัด ความสนใจ ความขยัน อดทนต่อความยากลำบาก ทักษะทางสังคม ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวเกิดจากการอบรมเลี้ยงดูของครอบครัวมากกว่าเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ โรงเรียนเป็นส่วนเสริมได้มากที่สุดคือทักษะทางด้านวิชาการ สำหรับการศึกษาในระดับมัธยมซึ่งเป็นการศึกษาที่ผู้เรียนต้องค้นพบตัวเองว่ามีความถนัด ความสนใจ ที่จะ
เป็นพื้นฐานในการตัดสินใจศึกษาในสาขาอาชีพที่ตนเองต้องการ แต่ส่วนใหญ่
โรงเรียนมัธยมก็ตอบสนองในเรื่องนี้น้อย ประกอบกับค่านิยมปริญญา
ในบ้านเรา ผู้เรียนก็ได้รับการส่งเสริมให้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาเพื่อรับปริญญาในสาขาอะไรก็ได้และสุดท้ายไม่มีงานทำ หรือทำงานที่ไม่ชอบ หรืองานที่ได้ค่าตอบแทนต่ำ
ในประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ เด็กที่จบมัธยมมักจะแสวงหาความพึงพอใจในอาชีพโดยไปทำงานสักปีสองปีแล้วจึงมาสมัครเรียนระดับอุดมศึกษาที่สอดคล้องกับอาชีพที่ต้องการ ซึ่งวิธีเข้าเรียนอุดมศึกษาไม่มีการสอบแข่งขัน แต่เขาจะพิจารณาจากผลการเรียนและกิจกรรมหรืองานที่ทำ หลายคนที่ไม่สนใจเรียนเพื่อรับปริญญาแต่เขาเรียนหลักสูตรสั้น ๆ
ที่ต้องการเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพหรือค่าตอบแทนที่ดีขึ้น มีบ้างเหมือนกันที่บางคนเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยแล้วคิดว่าไม่ใช่สาขาที่ตรงกับที่ตนเองต้องการ ก็เปลี่ยนสาขาไปเรื่อย ๆ พอหน่วยกิตครบพอจะให้ปริญญาได้หากประสงค์จะรับปริญญาเขาก็ให้ปริญญาทางศิลปศาสตร์
ปัจจุบันในบ้านเราก็เริ่มเปลี่ยนความคิดเรื่องการรับคนทำงาน โดยให้ความสำคัญของความสามารถในการทำงานมากกว่าการเรียนจบอะไรมา คือเรียนจบอะไรมาระดับไหนไม่สำคัญถ้าทำงานได้ตามที่ต้องการ