มาถึงวันนี้กล่าวได้ว่าการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยเข้าขั้นวิกฤติแล้วด้วยยอดผู้ติดเชื้อวันละเกินกว่า 15,000 คน ยอดผู้เสียชีวิต เกิน 100 คนต่อวัน และผู้ป่วยวิกฤตินอนรอความตายอีกหลายพันคน เกินที่ระบบสาธารณสุขของไทยจะรับได้แล้ว !!



การให้สัมภาษณ์ของผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุขกับสื่อมวลชนไทยว่าอาจจะมีการนำเอา “อู่ฮั่นโมเดล” มาใช้ในไทย จึงเป็นเรื่องที่ควรจะทำความเข้าใจกับคำว่า “อู่ฮั่นโมเดล” ซึ่งในจีนพัฒนามาเป็น “กวางเจาโมเดล” เมื่อไม่กี่วันมานี้
ซึ่งหลัก ๆ หมายถึงการล็อกดาวน์เมืองอย่างเบ็ดเสร็จ จีนทำได้สำเร็จ แต่เมื่อนำมาใช้กับไทยไม่ได้หมายความว่าเราจะทำได้สำเร็จเหมือนเขา เพราะเบื้องหลังแห่งความสำเร็จมีหลักคิดที่จะต้องศึกษาและปรับปรุงว่าทำได้หรือไม่ เพราะการปิดเมืองหรือล็อกดาวน์เมือง จะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมากมายมหาศาล
ดังนั้นผลลัพธ์ที่จะสร้างความเดือดร้อนแสนเข็ญกับประชาชน จึงจำเป็นต้องเตรียมการในหลาย ๆ เรื่องให้ดี อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยกล่าวว่า “มีแต่คนบ้าเท่านั้นที่ทำสิ่งเดิมซ้ำ ๆ แต่กลับหวังผลลัพธ์ที่แตกต่าง” (Insanity is doing the same thing over and over again and expecting different results)
“อู่ฮั่นโมเดล” เกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นปี 2563 เมื่อเกิดไวรัสโควิดระบาดอย่างหนักขึ้นที่เมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นเมืองเอกของมณฑลหูเป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน มีการประกาศล็อกดาวน์ทั้งเมืองก่อนวันตรุษจีน 2 วัน (25 มกราคม 2563) สิ้นสุดราวกลางเดือนเมษายน 2563 (ราว 3 เดือน) อู่ฮั่นมีประชากร 11 ล้านคน เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์(การคมนาคมขนส่ง) ใหญ่ของจีน
การปิดเมืองอู่ฮั่นครั้งนั้นกระทบเมืองรอบข้างอีกเกือบ 200 เมือง ผลกระทบทางเศรษฐกิจไม่ต้องพูดถึงเรียกได้ว่ามหาศาล เมื่อพิจารณายุทธศาสตร์ 7 ข้อของเขาแล้วน่าทึ่ง คือ
1. การตัดสินใจอย่างเฉียบพลันของผู้นำ เมื่อเกิดเรื่องนายกรัฐมนตรีจีนเดินทางไปหน้างานทันที สั่งการปิดเมือง ทั้ง ๆ ที่เป็นช่วงเทศกาลตรุษจีน ประชาชนกำลังจะกลับบ้าน รัฐบาลทำความเข้าใจสื่อสารทางเดียวชัดเจน ประชาชนให้ความร่วมมือ
2. การเร่งตรวจเชื้อเชิงรุกเพื่อสกัดการแพร่ระบาดได้กระทำทันที ทั้งวันทั้งคืน เพราะขณะนั้นยังไม่มีวัคซีน
3. การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดไม่มียกเว้น แม้แต่ข้าราชการที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งก็ถูกลงโทษ ครอบครัวหนึ่งจะมีผู้ออกไปซื้อสินค้าบริโภคอุปโภคได้เพียง 1 คนต่อ 3 วัน
4. การจัดตั้งหน่วยสนับสนุนในการส่งอาหาร การรับผู้ป่วย ซึ่งต่อมาเมื่อเกิดโรคระบาดที่กวางเจา มีการจัดตั้งหน่วยสาธารณสุขคล้าย ๆ อสม.ของไทย โดยคัดเลือกจากผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วเท่านั้น
5.ระดมฉีดยา จ่ายยา ทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณของจีนครอบคลุมประชากรทั้งหมดโดยเร็ว เมื่อเกิดกรณีกวางเจาเป็นการระดมฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันอย่างเข้มข้น
6. ใช้เทคโนโลยี AI จัดระบบข้อมูล พัฒนาชุดตรวจ ทำแผนการสื่อสารขอความช่วยเหลือ ทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง กรณีกวางเจาจีนสามารถประกาศโซนแดง เหลือง เขียว แต่ละบ้านเลขที่ได้เลย (ไม่ใช่ประกาศเป็นเขตพื้นที่)
7. การวางแผนเผชิญเหตุ มีการสร้างแบบจำลองเหตุการณ์และเตรียมแผนรับเหตุอย่างเป็นระบบ หากเปรียบเทียบกับไทยเอาเฉพาะแผนการเก็บศพผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ดูเหมือนจะยกหน้าที่ให้เป็นของเอกชน พอจำนวนมากขึ้นทำไม่ทันจึงกลายเป็นเรื่องที่น่าเศร้าเพราะคนเสียชีวิตกลางถนนกว่าจะเก็บได้ก็กินเวลานาน
จากนี้ไปหากจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องใช้มาตรการเข้มข้นเหมือนจีน ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่จะทำแบบเดิม ๆ คงไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากโรคนี้ติดกันทั้งโลก จึงควรจะศึกษาจากประเทศที่เขาทำแล้วประสบความสำเร็จ ระดมพลังทุกภาคส่วน ภาคเอกชนขณะนี้ก็ระดมกันข้ามาช่วยมาก แต่ขาดการวางแผนประสานกันให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน การสื่อสารกับประชาชนต้องเร็วและเป็นหนึ่งเดียว ต้องเร่งกู้ขวัญและกำลังใจของประชาชน ซึ่งขณะนี้ขาดความเชื่อมั่นในรัฐบาลมากขึ้นให้กลับมาโดยเร็ว เร่งฉีดวัคซีน แม้ความเชื่อมั่นกับวัคซีนจีนจะไม่ค่อยดี ต้องเร่งสร้างขวัญด้วยการนำเอาวัคซีน mRNA เช่น ไฟเซอร์, โมเดอร์นา เข้ามาเสริมก่อนโดยไว และหาเหตุผลทางวิชาการมาสนับสนุนวัคซีนจีนให้เกิดความเชื่อมั่น เพราะการกลายพันธุ์ทำให้วัคซีนทุกชนิดมีผลต่อการป้องกันน้อยลง
การปิดเมืองสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาลแน่นอน คนจะขาดรายได้ ไม่มีงานทำ ผลกระทบเยอะ ต้องระดมความคิด ทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยกัน เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนแนวการปฏิบัติให้หลากหลายมากขึ้น
ประการสำคัญถ้าขวัญกำลังใจคนในประเทศกระเจิง ประเทศไทยลำบากแน่ !!