อาจกล่าวได้ว่านับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นต้นมา การพัฒนาประเทศทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษาของไทยได้รับอิทธิพล
จากประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นอันมาก ด้านเศรษฐกิจก็เป็นแบบทุนนิยม
การคมนาคมก็เน้นการสร้างถนนไม่สร้างระบบรางเหมือนยุโรป ทางด้าน
การอุดมศึกษา สหรัฐก็ให้ทุนอาจารย์ในสถาบันผลิตครูที่ใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น
คือวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตรไปศึกษาในระดับปริญญาโท เอก
ที่มหาวิทยาลัยอินเดียน่าจำนวนมากซึ่งมีส่วนสำคัญให้การกำหนดหลักสูตรการศึกษาของไทยเกือบจะเป็นแบบสหรัฐอเมริกาตลอดมา
การสอนภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาต่างประเทศภาษาเดียวที่บังคับให้นักเรียนทุกคนต้องเรียน หลักสูตรปี ๒๕๐๓ กำหนดให้เริ่มเรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ หนังสือเรียนเล่มแรกคือ THE OXFORD ENGLISH COURSE FOR THAILAND เขียนโดย H. Coulthard Burrow เป็นลิขสิทธิ์ของ
Oxford University Press ประเทศอังกฤษ สำหรับประเทศไทย ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ ได้รับลิขสิทธิ์ให้พิมพ์ขายในประเทศไทยและลาว หนังสือชุดนี้
มี ๓ เล่ม สำหรับชั้น ป.๕ ถึง ป.๗ ที่น่าสังเกตคือหนังสือเรียนชุดนี้ เป็นแบบเรียน
แบบอังกฤษ โดยธรรมชาติคือภาษากับวัฒนธรรมจะกลมกลืนมาด้วยกัน คนอังกฤษเป็นพวกมีระเบียบแบบแผน ส่วนคนอเมริกันเป็นพวกทำตามสบาย หนังสือเรียนชุดนี้เป็นภาษาอังกฤษแบบอังกฤษ ตัวอย่างคำเช่นคำว่า
Colour อเมริกันใช้ Color หรือวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับเครื่องดื่มคนอังกฤษ
ดื่มชา แต่คนอเมริกันดื่มกาแฟ หนังสือเรียนชุดนี้ก็มีเนื้อหา ที่มีแต่การดื่มชา
และน้ำไม่มีการดื่มกาแฟ จึงนับว่าเป็นเรื่องที่แปลกใจว่าทำไมจึงไม่ใช้
แบบเรียนแบบอเมริกัน ได้ศึกษาการจัดทำหลักสูตรก่อนหน้านี้ทุกหลักสูตรกำหนดให้เรียนภาษาอังกฤษเป็นวิชาบังคับในระดับมัธยม และแบบเรียนก็เป็นแบบอังกฤษทั้งหมด เข้าใจว่าคณะกรรมการจัดทำหลักสูตรส่วนหนึ่งเป็นกรรมการชุดเดิมที่ใช้แบบเรียนแบบอังกฤษตลอดมา
ในการพิมพ์ครั้งที่ ๒๒ได้แนะแนวการสอนไว้ในคำนำที่อยู่ด้านในของ
ปกหลัง ว่า “ในการสอนแบบเรียนชุดนี้ ขั้นแรกครูควรเพ่งเล็งในด้านการฝึก
ฟัง พูด และการอ่านออกเสียง จนนักเรียนออกเสียงและสำเนียงได้ดี
การฝึกเขียนนั้นจะเป็นการคัดข้อความหรือประโยคจากบทเรียนก็ดี การทำ
แบบฝึกหัดในบทเรียนก็ดีหรือฝึกเขียนตามคำบอกก็ดี ฯลฯ จะช่วยย้ำให้นักเรียนสามารถจดจำ สิ่งที่ได้ฝึกฟัง พูด หรืออ่านออกเสียง ในชั้นต้นได้ดียิ่งขึ้น นักเรียนควรจะมีโอกาสได้ฝึกทั้งการฟัง พูด อ่าน และเขียนให้ครบทุกทักษะ” นอกจากนี้ก็เป็นการแนะนำโดยทั่วไป เช่น ให้นักเรียนได้ฝึกฝนทักษะตามความถนัดและความสนใจ ปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่อการเรียน
ภาษา เป็นต้น
เวลาผ่านมาไม่น้อยกว่า ๖๐ ปีแล้วนับจากหนังสือชุดนี้เริ่มใช้กับนักเรียนที่เรียนตามหลักสูตรปี ๒๕๐๓ รุ่นแรก หลายคนเรียนครู และเป็นครูที่ใช้แบบเรียนชุดนี้สอนนักเรียนจนถึงปี ๒๕๒๐ นับว่าเป็นแบบเรียนภาษาอังกฤษระดับประถมศึกษาที่ใช้สอนยาวนานที่สุด เมื่อย้อนกลับไปอ่าน
คำแนะนำในการสอนที่กล่าวว่า “ขั้นแรกครูควรเพ่งเล็งในด้านการฝึก ฟัง พูด และการอ่านออกเสียง จนนักเรียนออกเสียงและสำเนียงได้ดี”
และครูสามารถปฏิบัติการสอนเช่นนี้ได้ นักเรียนที่เรียนภาษาอังกฤษจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่หกในปัจจุบันคงสื่อสารกันด้วยภาษาอังกฤษได้แล้ว