เลือกตั้ง อบต.ทั่วประเทศในสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม-เงินปัจจัยเบี่ยงเบนการลงคะแนนเสียง!!

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้มีการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)พร้อมทั่วประเทศในวันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายนนี้ หลังจากว่างเว้นการเลือกตั้ง อบต.มานานกว่า 7 – 8 ปี บรรยากาศการเลือกตั้งระดับฐานรากได้กลับมาคึกคักอีกครั้งในท่ามกลางการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังไม่เบาบาง

            “นายกฯหมี”นายธีรศักดิ์ พานิชวิทย์นายก อบต.บ้านหม้อ ในฐานะประธานชมรม อบต.จังหวัดเพชรบุรี ให้เกียรติตอบคำสัมภาษณ์ “เพชรภูมิ” แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้ง อบต.ครั้งนี้ในทุกแง่มุม กอง บก.เพชรภูมิ ขอขอบคุณ “นายกฯหมี” มา ณ โอกาสนี้

:กกต.เคาะวันเลือกตั้ง อบต.ออกมาแล้ว คือวันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน ปลายปีนี้ คิดว่าเป็นระยะเวลาเหมาะสมหรือไม่ ?

            ในความเห็นผม คิดว่ายังเป็นห้วงเวลาที่ไม่เหมาะสม เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเวลานี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีแนวโน้มดีขึ้น 100 % เพียงแค่ขณะนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อมันลดลง คาดเดาไม่ได้ว่าในอนาคตอันใกล้นี้การติดเชื้อจะเพิ่มมากขึ้นหรือเบาบางลง เพราะกลายพันธุ์มาหลายครั้ง โดยเฉพาะช่วงหลังเป็นเชื้อที่แรงขึ้น ติดง่ายขึ้นรัฐบาลเองก็มีนโยบายป้องกันการติดเชื้อโควิดโดยไม่ต้องการให้ประชาชนเคลื่อนตัวไปใกล้ชิดกันในห้วงเวลาที่กำลังระบาดนี้ แต่เมื่อกำหนดให้มีการเลือกตั้ง อบต.ในอีก 2 เดือนข้างหน้านี้ ผมมองว่ามันสวนทางกับนโยบายของ ศบค.ที่ยังเน้นให้ประชาชนเว้นระยะห่างกัน การใกล้ชิดกันอาจเกิดการระบาดเพิ่มมากขึ้นอีก

: คิดว่าการเลือกตั้ง อบต.เที่ยวนี้จะแข่งขันกันสูงหรือไม่ ?

            เลือกตั้ง อบต.ทั้งประเทศประมาณ 5,300 กว่าแห่ง ก็ 5 พันกว่าตำบล ดังนั้นการเลือกตั้งสนามการเมืองท้องถิ่นขนาดเล็กจะมีการแข่งขันสูง ใครมีญาติพี่น้องอยู่ต่างอำเภอหรืออยู่ต่างจังหวัด ก็จะติดต่อขอให้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งกันให้มาก ๆ เพื่อผลแพ้ชนะ การเคลื่อนตัวของผู้ใช้สิทธิ์ที่จะเดินทางมาพบกันมาใกล้ชิดกันก็จะมีมากในช่วงใกล้วันและในวันเลือกตั้ง โอกาสติดเชื้อโควิดก็จะมีมากตามไปด้วย คนจะแห่กลับบ้านเหมือนช่วงสงกรานต์

            ประการต่อมา หากวันเลือกตั้งเป็นไปตามที่ กกต.กำหนด ผู้สมัครจะเริ่มรณรงค์หาเสียงในพื้นที่ตั้งแต่ตอนนี้คือตั้งแต่กลางเดือนกันยายนไปจนถึงเดือน ต.ค. และ พ.ย. ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน ทราบว่าปีนี้จะมีฝนตกมากกว่าปกติ หลายจังหวัดขณะนี้ก็เกิดอุทกภัยแล้ว ปัญหาฝนตกก็เป็นอีกอุปสรรคหนึ่งในการหาเสียง บวกกับการระบาดของโควิด-19เมื่อนักการเมืองลงพื้นที่พบประชาชนได้น้อย สิ่งที่จะติดตามมาคือจะมีการใช้ปัจจัย(เงิน)หว่านซื้อเสียง

            ในความเห็นของผม คิดว่าช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเลือกตั้ง อบต.ทั่วประเทศน่าจะเป็นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า(2565) ตอนนั้นคนไทยทั้งประเทศน่าจะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เกินกว่า 70 % แล้ว ถึงเวลานั้นรัฐบาลก็จะคลายล็อกให้ประชาชนไปมาหาสู่กันได้ เปิดประเทศให้ค้าขาย ท่องเที่ยว เลือกตั้ง อบต.ในห้วงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าจึงน่าจะเป็นเวลาที่เหมาะกว่าเดือนพฤศจิกายน 2564

: ถ้าใกล้วันเลือกตั้ง การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังอยู่ในสถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจ อาจจะมีผู้ไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนกันไม่มาก เป็นไปได้หรือไม่ ?

            ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่มีอายุเกินกว่า 60 ปี รวมถึงบุคคลที่อยู่ใน 7 กลุ่มเสี่ยงโรค โอกาสที่จะออกไปใช้สิทธิ์น่าจะน้อยกว่าปกติ เพราะบางคนยังเชื่อว่าฉีดวัคซีนไปแล้ว 2 เข็มก็ยังเอาไม่อยู่ จึงไม่กล้าออกไปนอกบ้านง่าย ๆที่น่าเป็นห่วงคือสนามไหนที่มีการแข่งขันกันสูง ก็อาจจะไปวิงวอนขอร้องให้คนแก่ คนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือเข็นเอาผู้ป่วยติดเตียงไปลงคะแนน กลุ่มบุคคลเหล่านี้ถ้าออกนอกบ้านแล้วไปติดเชื้อก็มีโอกาสเสียชีวิตได้ง่าย ขณะเดียวกันผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งแม้จะฉีดวัคซีนแล้วหรือสามารถออกไปเลือกตั้งได้อย่างสะดวก แต่ถ้ากลัวติดเชื้อโควิด เขาก็อาจจะไม่ออกจากบ้านไปใช้สิทธิ์ก็เป็นไปได้เช่นกัน

: เสถียรภาพของรัฐบาลขณะนี้ค่อนข้างง่อนแง่น หาความแน่นอนอะไรไม่ได้ จะส่งผลต่อการเลือกตั้งสนามการเมืองท้องถิ่นมากน้อยเพียงใด ?

น่าจะไม่เกี่ยวกับเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาล เพราะหากรัฐบาลไม่อยู่ไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม ก็ยังต้องมีรัฐบาลรักษาการ ทุกอย่างยังเดินหน้าไปได้อย่างไรก็ตามก็เป็นไปได้ที่ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งเพราะอยากจะหล่อเลี้ยงระบบหัวคะแนนของเขาให้คงอยู่ในห้วงที่มีอำนาจ

: การเลือกตั้ง อบต. เชื่อมโยงกับพรรคการเมืองในระดับชาติมากน้อยเพียงใด ?

            มันยังเป็นลูกโซ่โดยระบบของมัน แต่ไม่ 100 %เป็นแค่บางพื้นที่ ผมยกตัวอย่าง สมมติว่าเขตที่จะมีการเลือกตั้ง ส.ส.ในอดีตแข่งขันกันรุนแรงและมีการแพ้ชนะกันไม่มากระหว่างคนที่ได้กับคนไม่ได้ คนเหล่านี้จะลงมาเชื่อมโยงกับการเมืองท้องถิ่นเยอะ เพราะมันเหมือนกับแย่งชิงหัวคะแนนของพื้นที่ไว้ อันนี้จะยุ่ง แต่ถ้าสมมติว่าชนะ ส.ส.แบบขาดลอย โดยไม่ต้องพึ่งพานักการเมืองท้องถิ่นมาก เขาก็จะไม่ลงมายุ่ง แต่เพชรบุรีบอกได้เลยว่าไม่มีค่อยมีความเชื่อมโยงกับสนามใหญ่มาก ไม่ค่อยมีข้างบนกดดันลงมาข้างล่างมากนัก

: การเลือกตั้งทั้งสนาม ส.ส. และ อบจ.ที่ผ่านมา คิดว่า กกต.จะเป็นองค์กรอิสระที่สกัดคนกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งได้หรือไม่ ?

            ต้องถามว่าวันนี้ผู้สมัครกลัว กกต.หรือไม่ ในความเห็นผมคิดว่าผู้สมัครปัจจุบันไม่กลัว กกต. เพราะการเลือกตั้งท้องถิ่นทั้งประเทศที่ผ่านมาเมื่อไม่นานมานี้ เราพบการกระทำผิดต่อการเลือกตั้งสูงมาก โดยเฉพาะเรื่องของการใช้ปัจจัย(เงิน)เป็นตัวเบี่ยงเบนการเลือกตั้ง ถามว่า กกต.รู้มั้ยว่ามีอะไรเกิดขึ้น ผมคิดว่ารู้  ประชาชนก็รู้  แล้วทำไมคนที่เป็นกรรมการมีหน้าที่ดูแลควบคุมการเลือกตั้งโดยตรงกลับบอกว่าไม่มี ไม่เห็น มองได้ว่า กกต.ทำงานแบบตั้งรับมากกว่าทำงานในเชิงรุก ทำงานเป็นสเต็ปแบบราชการ ไม่แอ็คชั่นในเชิงรุก มีการตั้งเครือข่ายประชาชนเพื่อตรวจสอบการเลือกตั้งมานานแล้ว แต่ไม่เคยสัมฤทธิ์ผลในทางปฏิบัติเลย

            กกต.ระดับจังหวัดก็ยกเลิกไปแล้ว จะมีก็แต่ “ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” ซึ่งทำงานเฉพาะกิจในห้วงที่มีการเลือกตั้งเท่านั้น ที่เป็นหลักคือสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัด ซึ่งมองแล้วดูเหมือนทำหน้าที่เพียงกำหนดและจัดการการเลือกตั้งให้เสร็จสิ้นเท่านั้น จัดให้มีหน่วยเลือกตั้ง มี ผอ.หน่วย มีกรรมการประจำหน่วย มีหีบบัตร มีรายชื่อผู้มีสิทธิ์ แต่สิ่งที่ประชาชนต้องการและอยากเห็นคือมาตรการเชิงรุกในการเอาผิดกับผู้สมัครที่ละเมิดกฎหมายเลือกตั้งหรือซื้อสิทธิ์ซื้อเสียงกลับไม่ดำเนินการให้เห็นเป็นรูปธรรม เรื่องนี้โทษ กกต.พื้นที่ไม่ได้ แต่ กกต.ระดับบนจะต้องปรับวิธีการจัดการเลือกตั้งให้เข็มแข็งจริงจังกว่านี้

: มองได้มั้ยว่าสถานการณ์โควิด-19 เป็นโอกาสที่เปิดทางให้ผู้จะอาสาเป็นตัวแทนท้องถิ่นได้แสดงบทบาทหาเสียงได้เต็มที่ ?

            แน่นอนครับ นายก อบต.บางคนให้ความสำคัญเรื่องปัญหาการระบาดของโควิด เอารถไปรับชาวบ้านพาไปฉีดวัคซีน ช่วยการจองรายชื่อในระบบหมอพร้อม ชาวบ้านได้เห็นการแสดงบทบาทนี้ทั้งจากผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือแม้แต่ผู้ที่ประกาศตัวจะลงสมัคร แต่ก็มีผู้ที่จะลงเลือกตั้งบางคนไม่แสดงบทบาทช่วยเหลือชาวบ้าน อ้างว่าท้องถิ่นมี อสม.แล้ว มี รพ.สต.แล้ว ไม่สนใจที่จะช่วยเหลือ สถานการณ์โควิดจึงเป็นโอกาสสำหรับนักการเมืองท้องถิ่นที่จะช่วยเหลือชาวบ้านเพื่อเก็บเกี่ยวคะแนนเสียง เช่น ซื้อหน้ากากอนามัย-เจลแอลกอฮอล์แจก แค่นี้ก็ได้ใจชาวบ้านแล้ว

:ในฐานะประธานชมรม อบต.จังหวัดเพชรบุรี มีอะไรฝากถึงผู้ที่จะลงสมัคร และผู้จะใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เพื่อเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งปลายปีนี้ ?

            ผมมองว่าการปกครองท้องถิ่นวันนี้มันเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการดูแลและใกล้ชิดประชาชน เราจะเห็นได้เลยว่าการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นมาเกือบ 2 ปี องค์กรท้องถิ่นมีบทบาทเข้าไปช่วยรัฐบาลในการบริการประชาชนตั้งแต่การคัดกรองผู้ติดเชื้อ รวมถึงการจัดหาสถานที่เพื่อการดูแลรักษาด้วย เพราะฉะนั้นการปกครองครองถิ่นอย่าไปมองว่ามันไม่ดี แต่การปกครองท้องถิ่นจะต้องค่อย ๆ พัฒนาการไป วันนี้สามารถพัฒนาไปได้ไกลแล้ว 

คนที่ลงสมัครเป็นสมาชิกหรือผู้บริหาร อบต. จะต้องเข้าใจว่าได้ตัดสินใจอาสาเข้ามาทำหน้าที่เพื่อพัฒนาท้องถิ่นของตัวเอง ไม่ใช่ลงสมัครเพื่อชื่อเสียงของตัวเอง ส่วนคนใช้สิทธิ์เลือกตั้งก็ต้องไม่หวั่นไหวต่ออามิสสินจ้างที่เขาเอามาให้เพื่อแลกเปลี่ยนให้ไปลงคะแนน การได้มาซึ่งอามิสสินจ้างมันเป็นการทำลายพื้นที่ของท่านเอง เพราะจะไม่ได้คนเก่งหรือคนดีมาทำงาน ไม่เช่นนั้นคนที่มีเงินมากก็จะใช้เงินหว่านซื้อเพื่อเข้ามาเป็นผู้บริหารท้องถิ่น หลายคนอยากลงสมัครเพราะอยากดังก็มี ประชาชนจะต้องเลือกตัวแทนท้องถิ่นที่เป็นนักประสานสิบทิศ เพื่อดึงงบมาลงพัฒนาในพื้นที่.

error: ขอสงวนสิทธิ์ ในการคัดลอกบทความ !!