


อ่านข่าวไทยโพสต์ วันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ เขียนพาดหัวว่า “วิษณุ’ เห็นลิ้นไก่คนเสนอยกเลิกเลขไทย แนะอย่าเสียเวลาไปเถียง ยันต้องรักษาเอกลักษณ์ไว้”
เนื่องจากเว็บไซต์ Change.org เรียกร้องให้ใช้เลขอารบิกแทนเลขไทย รวมถึงสนับสนุนให้ยกเลิกการใช้ พุทธศักราช (พ.ศ.)
เปลี่ยนมาใช้ คริสต์ศักราช (ค.ศ.) ในเอกสารราชการของไทย
อ้างว่าเพื่อความพัฒนาในด้านดิจิทัล
มีทั้งคนสนับสนุนและคนคัดค้าน ด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานา
แต่ส่วนตัวกลับคิดว่าหากใช้เลขไทยหรือเลขอารบิกในเอกสารทางราชการก็น่าจะใช้ได้ทั้ง ๒ แบบ เพียงแต่อย่าใช้สลับเลขไทยบ้าง
อารบิกบ้างก็พอ คนไทยเองก็คุ้นเคยกับเลขไทยอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ส่วนคนใช้ก็ขึ้นอยู่กับความนิยมส่วนบุคคล ใครถนัดเลขไทยก็ใช้ไป ส่วนคนที่ไม่ถนัดจะใช้เลขอารบิกก็ไม่ติด
แต่พอเอาเรื่องความสำคัญของตัวเลขไทยจากหลักฐาน
ทางประวัติศาสตร์ มาเชื่อมโยงกับเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของชาติมันก็ยิ่งถูกมองให้เป็นเรื่องใหญ่เข้าไปอีก ทำให้เห็นความจำเป็น
เห็นคุณค่าว่าทำไมต้องใช้เลขไทย
พอเกิดข้อเรียกร้องขึ้นมาก็เลยกลายมาเป็นประเด็นให้ฝ่ายที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงต้องออกมาให้คำตอบว่าจะเอาอย่างไรต่อไปดี ซึ่งก็ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน แต่หลายฝ่ายก็พยายามไม่ให้โยงเรื่องนี้กับการเมือง แม้ว่าจะมีพรรคการเมืองที่มีหัวคิดก้าวหน้าพยายามที่จะปลุกกระแสให้คนสลัดความเป็นไทย เพราะมีทัศนะว่าความเป็นไทยคือความล้าหลังที่ถ่วงต่อความเจริญของชาติ
ที่ท่านรองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เห็นลิ้นไก่ คงหมายถึงสำนวน อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ สำนวนนี้มีความหมายคล้ายกับสำนวน
พอแย้มปากก็เห็นไรฟัน มีความหมายว่า รู้เท่าทันถึงเจตนาของคนพูด
ลิ้น คือ อวัยวะที่อยู่ในช่องปาก มีหน้าที่ ๑. กลั้วอาหารให้เข้ากันแล้วส่งลงในลำคอ ๒. ช่วยในการออกเสียง ๓. ให้รู้รส
หรืออาจหมายถึงส่วนของสิ่งต่าง ๆ มีรูปแบน ยาว หรือกลมที่อยู่ภายใน เช่น ลิ้นปี่ ลิ้นกบ ลิ้นกระดาน ลิ้นกระบือ (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔) หรืออาจทำคล้ายกล่องไม่มีฝาปิดสอดอยู่หน้าตู้ หน้าโต๊ะชักเข้าชักออกได้ที่เรียกว่า ลิ้นชัก
ลิ้นไก่ ในบริบทนี้
ไม่ได้หมายถึงลิ้นของไก่ แต่เรียกอวัยวะส่วนหนึ่งภายในร่างกายซึ่งเป็นติ่งติดอยู่กับเพดานอ่อนที่ยื่นลงมาใน
ช่องปาก คนคิดสำนวน อ้าปาก
ก็เห็นลิ้นไก่ นี้หลักแหลมมากยกสิ่งที่นำมาเปรียบได้อย่างเห็นภาพชัดเจน เพียงแค่อ้าปาก
จะพูดเท่านั้นก็รู้ทันทีว่าต้องการอะไร เพราะเห็นลิ้นไก่อยู่ไวไวนั่นเอง
แม้ว่าปรกติจะมองอย่างไรก็มองไม่เห็น เว้นแต่จะมองลอดเข้าไปในช่องปาก
ได้ลองสืบค้นดูพบว่าสำนวน อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ ไม่พบว่ามีใช้ในวรรณคดีเรื่องใด แต่สำนวน พอแย้มปากก็เห็นไรฟัน ปรากฏอยู่ในวรรณคดีหลายเรื่อง เช่น
นิทานคำกลอน เรื่องพระอภัยมณี
นางฟังความหวามไหวฤทัยหวั่น ให้อ้นอั้นอายเอกเขนกเฉย
บาทหลวงว่าข้าคิดไม่ผิดเลย แต่พอเอ่ยออกก็เป็นเห็นไรฟัน
เรื่อง ปาจิตกุมาร
ษมาโทษใครเล่าโกรธจะมาขอ ช่างยกยอเยาะเย้าแย้มขยาย
เห็นไรฟันอยู่เป็นทางพี่ช่างกราย เป็นเจ้านายตามแต่ว่าเล่นท่าเดียว
…
ครั้นเถิงใจพระก็ไพล่ว่าหยอกเย้า ไม่รู้เท่าพระก็ถีบหัวให้หัน
เห็นมีแผลพระยิ่งแหย่ให้เจ็บคัน เห็นไรฟันอยู่อย่างนี้พระพี่ชาย
นิทานคำกลอน เรื่องโคบุตร
อันคุณพ่อเจ้าหรือกระสือแป้ง ไม่เคยแต่งอยู่แต่ป่าพนาสัณฑ์
นี่หรือรูปจะมิงามอร่ามครัน เห็นไรฟันเสียสิ้นทุกสิ่งไป
นิราศตังเกี๋ย
กับเหน็บแนมแย้มเย้าเปนเค้าเงื่อน ดูเหมือนเตือนให้อาไลยชื่นใจฉัน
ยิ่งตรองตรึกนึกไปเห็นไรฟัน เวลาวันโลมสั่งกำลังครวญ
แย้มปากก็เห็นไรฟัน ก็เช่นเดียวกันแค่จะออกปากพูดคนฟังก็รู้เท่าทันเสียแล้ว
จากข่าวที่นำเสนอข้างต้นผมติดใจอยู่หน่อยเดียวคือ เดาไม่ออกว่าที่ท่านรองวิษณุ เครืองาม พูดนั้นไม่รู้ว่าหมายถึง ลิ้นไก่ของใครก็เท่านั้นเอง