“โล้ปราสาท” ประเพณีปลงศพพระของคนมอญ

ความเชื่อ ความศรัทธาในพระพุทธศาสนา

ทำบุญส่งพระส่งดวงวิญญาณสู่สรวงสรรค์

หนุ่มสาวชาวมอญในชุดการแต่งกายที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์มอญเกือบร้อยชีวิต ต่างร่ายรำประกอบบทเพลงและเสียงดนตรี ตัวปราสาทจำลองความสูงราว ๑๐ เมตร เคลื่อนไหวตามจังหวะการร่ายรำและแรงเหวี่ยงจากกำลังคนกว่า ๔๐ คน แกว่งตัวปราสาทราวกับแกว่งไกวเปลให้ลูกน้อยนอนหลับสนิท ด้วยท่วงท่าเช่นนี้จึงเรียกว่า “โล้ปราสาท” พิธีหนึ่งในประเพณีปลงศพพระของชาวมอญ เป็นการถวายความเคารพและอาลัยต่อพระเถระที่มรณภาพ

ช่วงบ่ายของวันอาทิตย์ที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา ผู้เขียนเดินทางไปร่วมงานพระราชทานเพลิงศพ พระครูสาครธรรมทัต (ทองบุญ ธมฺมทินฺโน) หรือ “หลวงพ่อทอง” อดีตเจ้าอาวาสวัดทองธรรมิการาม ซึ่งมีชาติภูมิเป็นชาวรามัญ (มอญ) ณ เมรุปราสาทมอญ ๙ ยอด วัดทองธรรมิการาม ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร จากประวัติของหลวงพ่อท่านธุดงค์จำพรรษาที่วัดถ้ำแถลบ จ.เพชรบุรี เพื่ออบรมพระภิกษุสามเณรและแม่ชีในการวิปัสสนากรรมฐานอยู่หลายปี หลวงพ่อมรณภาพเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๖๑ สิริรวมอายุ ๘๘ ปี ๖๘ พรรษา ทางคณะสงฆ์และคณะศิษยานุศิษย์ได้จัดงานพระราชทานเพลิงศพตามประเพณีวัฒนธรรมของชาติพันธุ์มอญ ตั้งเมรุปราสาท ๙ ยอด ตั้งโลงมอญประดับงานแทงหยวกสำหรับปลงศพ โดยช่วงหัวค่ำก่อนที่จะประกอบพิธีพระราชทานเพลิง (เผาศพ) ทางคณะสงฆ์วัดทองธรรมิการาม และคณะศิษย์ จัดให้มีพิธีโล้ปราสาท หรือการรำยกปราสาท เพื่อเป็นการแสดงความเคารพและไว้อาลัยในวาระสุดท้ายอย่างสูงสุดในฐานะที่หลวงพ่อได้สร้างคุณประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา

อาจารย์อรพรรณ ศรีทอง นักวิชาการวัฒนธรรม สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี กล่าวถึงประเพณีแย่งศพของคนมอญนั้น มีปฐมเหตุมาจากเมื่อครั้ง “พระเจ้าธรรมเจดีย์” กษัตริย์องค์ที่ ๑๖ แห่งอาณาจักรหงสาวดี ทรงปลงศพพระศพพระมารดาเลี้ยงของพระองค์ พระองค์ทรงแบ่งคนออกเป็นสองฝั่งคือ ฝั่งพระองค์และฝั่งอำมาตย์ให้ทำการแย่งศพ ก่อนทำพิธีพระองค์ทรงตั้งอธิษฐานว่า “ถ้าบ้านเมืองจะเจริญรุ่งเรืองอยู่เป็นสุขก็ขอให้ฝ่ายพระองค์เป็นฝ่ายที่ดึงลากเอาพระศพไปได้” ผลปรากฏว่าเป็นไปตามที่ทรงอธิษฐานไว้ ถือได้ว่าพระศพพระมารดาเลี้ยงเป็นศพแรกที่ถูกทำพิธีแย่งศพ นับจากนั้นชาวมอญได้ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน 

            พระครูสาครวิสุทธาภรณ์ (สุเทพวรเทโว) เจ้าอาวาสวัดวิสุทธาราม (วัดบางสีคต) ต.บางกระเจ้า อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ผู้ให้การสนับสนุนคณะโล้ปราสาทของวัดบางสีคต กล่าวว่า “พิธีโล้ปราสาท” บ้างก็เรียก “รำยกปราสาท” เป็นส่วนหนึ่งของ “ประเพณีแย่งศพ” เป็นประเพณีงานศพดั้งเดิมของคนมอญที่อาศัยอยู่ในประเทศพม่า จัดขึ้นเฉพาะในงานปลงศพพระภิกษุสงฆ์ระดับเจ้าอาวาส เพื่อเป็นการเชิดชูยกย่องถึงคุณงามความดีของพระสงฆ์ที่มรณภาพ เมื่อคนพม่าเชื้อสายมอญเข้ามาทำงานอยู่อาศัยในประเทศไทยโดยเฉพาะในพื้นที่มหาชัย จ.สมุทรสาคร ชาวมอญพม่าที่มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา เมื่อมีพิธีบำเพ็ญกุศลฌาปนกิจศพพระสงฆ์เชื้อสายมอญโดยเฉพาะพระสงฆ์ที่มีตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส ลูกศิษย์ลูกหาที่เป็นชาวมอญจะประกอบพิธีโล้ปราสาทเพื่อเป็นการแสดงความอาลัยอย่างสูงสุด

ตามความเชื่อของคนมอญที่ถือปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน เมื่อพระภิกษุสงฆ์ตำแหน่งเจ้าอาวาสมรณภาพจะนำสรีระไปใส่ไว้ในโล่งประดิษฐานไว้บนปราสาทที่สร้างขึ้นมีลักษณะคล้ายหงส์ ทำจากไม้เนื้ออ่อน ไม้ไผ่ กระดาษตกแต่งลวดลายสีสันอย่างสวยงาม บริเวณฐานชั้นล่างทำด้วยไม้ไผ่วางซ้อนทับเป็นรูปสี่เหลี่ยมตารางหมากรุก ใช้จำนวนคนประมาณ ๘๐ – ๑๐๐ คนในการประกอบพิธีโล้ปราสาท มีการร่ายรำประกอบดนตรี บทไหว้ครู บวงสรวงเทพเจ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และบทร้องเป็นภาษามอญที่มีเนื้อหากล่าวถึงคุณงามความดีของอดีตเจ้าอาวาส รวมถึงเนื้อหาที่เกี่ยวกับการแสดงความอาลัย ใช้เวลาประกอบพิธีประมาณ ๔๐ นาทีถึง ๑ ชั่วโมง ตามความเหมาะสม บางวัดที่มีปลงศพเจ้าอาวาสที่มีพุทธศาสนิกชนให้ความศรัทธาจะมีคนมอญแสดงความจำนงมาร่วมพิธีโล้ปราสาท ๒ – ๓ คณะก็มี

            หลวงพ่อสุเทพ เจ้าอาวาสวัดบางสีคต กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของวัดบางสีคตนั้นมีการตั้งคณะโล้ปราสาทได้ประมาณ ๑๐ ปี เป็นการรวมตัวของชาวพม่าเชื้อสายมอญที่อาศัยและทำงานอยู่ใกล้วัด ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาววัยทำงาน โดยมีคนใหญ่ทำหน้าที่ครูผู้ฝึกซ้อม ใช้สถานที่ของวัดในการฝึกซ้อม ใช้เวลาว่างในช่วงวันหยุดหรือหลังเลิกงานมาฝึกซ้อม มีการตัดชุดลักษณะเป็นชุดประจำชาติของคนมอญสวมใส่ในการออกงาน ส่วนค่าใช้จ่ายในการออกงานแต่ละครั้งนั้นขึ้นอยู่กับจิตศรัทธาของผู้ที่มาร่วมงานจะบริจาคเงินสนับสนุน มากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับกำลังศรัทธา ซึ่งชาวมอญที่มาประกอบพิธีโล้ปราสาทไม่ได้เล็งเห็นตัวเงินเป็นสำคัญ เป็นเรื่องของบุญกุศลที่ได้รับจากการร่วมงาน รวมถึงเป็นการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมของชาติพันธ์มอญให้ดำรงคงอยู่สืบไป

นายคมสรร จับจุ คนไทยเชื้อสายมอญนครชุมน์ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี กล่าวว่า ประเพณีการแย่งศพ และพิธีโล้ปราสาทของคนมอญที่ยังสืบทอดมาถึงปัจจุบันนั้นเกิดจากความเชื่อและความศรัทธาในพระพุทธศาสนา การได้ทำบุญส่งพระเหมือนกับได้ทำบุญส่งพระพุทธเจ้า ชาวมอญถือว่าการได้ปลงศพพระ หรือเผาศพพระเป็นงานบุญใหญ่ โดยเฉพาะพระสงฆ์ระดับเจ้าอาวาสเป็นเรื่องที่กระทำได้อยากยิ่ง เพราะการที่พระสงฆ์รูปหนึ่งได้ครองสมณเพศตั้งแต่บรรพชาอุปสมบทถือศีลปฏิบัติที่งดงามจนกระทั่งมรณภาพนั้นเป็นเรื่องที่หาได้อยาก โดยเฉพาะเป็นพระสงฆ์ระดับเจ้าอาวาส พระครู พระที่มีพรรษามาก ๖๐ – ๗๐ พรรษา ย่อมเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวพุทธ เฉกเช่นหลวงปู่ หลวงพ่อ พระเกจิอาจารย์ที่มีคนไทยพุทธเดินทางไปกราบไหว้ ประกอบกับทางเจ้าอาวาสผู้ปกครองวัดที่คนมอญเข้าวัดทำบุญนั้นได้อนุญาตให้ประกอบพิธีกรรมตามประเพณีวัฒนธรรมของคนมอญ พิธีโล้ปราสาทของคนมอญในเมืองไทยจึงริเริ่มฟื้นฟูปฏิบัติกันมาในชุมชนมอญที่มีความเข้มแข็งทางวัฒนธรรม  

            “เท่าที่ทราบในเมืองไทยเริ่มจัดให้มีพิธีโล้ปราสาทในช่วงประมาณ ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมา สืบเนื่องจากมีแรงงานชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ของมหาชัย จ.สมุทรสาคร ซึ่งถือว่ามีแรงงานชาวเมียนมาร์ชาติพันธุ์มอญเข้ามาทำงานเป็นจำนวนมาก ประกอบกับความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ความเข้มแข็งของคนในชุมชนกับวัดในการที่จะสืบสานพิธีโล้ปราสาทในเมืองไทย เพราะเท่าที่ทราบการประกอบพิธีโล้ปราสาทนั้นจะเกิดขึ้นตามชุมชนมอญดั้งเดิมในฝั่งประเทศเมียนมาร์ รวมถึงพื้นที่สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี กระทั่งช่วงระยะเวลา ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมากลุ่มแรงงานชาวมอญได้เข้ามาทำงานในพื้นที่มหาชัย จ.สมุทรสาคร ซึ่งบางวัดก็ตั้งอยู่ในชุมชนมอญที่มีการอพยพโยกย้ายมาแต่เก่าก่อน ซึ่งจะแตกต่างกับชุมชนมอญดั้งเดิมในพื้นที่จังหวัดราชบุรี จังหวัดเพชรบุรีนั้นไม่ปรากฏพิธีโล้ปราสาทหรือประเพณีแย่งศพในพิธีงานศพของพระผู้ใหญ่ระดับเจ้าอาวาส” นายคมสรร กล่าว

            คมสรร จับจุ ผู้ศึกษาวิถีชีวิตชาติพันธุ์มอญตั้งข้อสังเกตเรื่องเหตุใดหนุ่มสาวชาวมอญวัยแรงงานจึงมีความศรัทธาสมัครใจเข้าร่วมพิธีโล้ปราสาทเป็นจำนวนไม่น้อย คณะหนึ่งมีจำนวนมากถึง ๘๐ – ๑๐๐ คน ว่าเรื่องนี้เป็นจิตสำนึกการสืบสายเลือดเชื้อสายความเป็นมอญมาตั้งแต่กำเนิด เรามักจะได้ยินประโยคของลูกหลานชาวมอญที่ว่า “แม้สิ้นแผ่นดิน แต่ไม่สิ้นชาติ ไม่สิ้นวัฒนธรรม” ต้องยอมรับว่าจิตสำนึกของความเป็นชนชาติมอญมีมาโดยกำเนิดเป็นประพฤติกรรมที่เกิดขึ้นเองก็ว่าได้ เป็นจิตสำนึกที่หยั่งลึกลงไปในก้นบึ้งของหัวใจ ประกอบกับความเชื่อที่ว่าชาวมอญประสบพบเจอกับพระพุทธศาสนาก่อนชนชาติอื่นผ่านตำนานพุทธประวัติหรือจารึกอื่น ๆ ทำให้ชาวมอญมีความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า

            “ปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ประเพณีวัฒนธรรมมอญยังดำรงคงอยู่ในสังคมไทย พระผู้ใหญ่บ้านเราซึ่งอาจจะมีเชื้อสายมอญ หรือไม่มีก็ตาม รวมถึงวัดที่ตั้งอยู่ในชุมชนมอญ ล้วนแล้วส่งเสริมสนับสนุนเห็นดีเห็นงามกับชาวบ้านคนในชุมชนในการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมของชาวมอญผ่านขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ไม่ได้กีดกันแบ่งแยกคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ว่ากลุ่มนี้มอญไทย กลุ่มนี้มอญพม่า แต่ใช้ประเพณีวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือในการสร้างความร่วมแรงร่วมใจสร้างความสมัครสมานสามัคคีเข้มแข็งในกลุ่มคนที่มีสายเลือดเดียวกันที่อาจจะอยู่ต่างที่ต่างถิ่นได้มาทำบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ร่วมกัน อีกทั้งยังเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกในแก่คนรุ่นใหม่เกิดความภาคภูมิใจในการมีส่วนร่วมอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรมซึ่งถือเป็นสิ่งดีงามอยู่ได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับวิถีชีวิตในโลกยุคปัจจุบัน” นายคมสรร จับจุ กล่าวในท้ายที่สุด.

error: ขอสงวนสิทธิ์ ในการคัดลอกบทความ !!