


ได้ไปสำรวจเอกสารโบราณสมุดไทยที่วัดลาด อ.เมือง จ.เพชรบุรี พบสมุดไทยดำ (สมุดข่อยสีดำ) เล่มหนึ่ง ภายในเล่มจดเรื่องราวเบ็ดเตล็ดเอาไว้ มีอยู่เรื่องหนึ่งเป็นบัญชีทรัพย์สมบัติของชายหญิงคู่หนึ่ง ซึ่งเป็นคู่สมรสกัน ฝ่ายชายชื่อเมืองเป็นบุตรพี่บวพบ้านเพรียง ฝ่ายหญิงผู้เป็นภรรยาไม่ปรากฏชื่อแต่ทราบจากเอกสารว่าเป็นคนบ้านนาขลู่ ผู้ที่ทำหน้าที่จดบัญชีนี้น่าจะมีอายุน้อยกว่า นายหรือนางบวพบ้านเพรียงเพราะใช้คำว่า “พี่บวพ” และผู้จดบันทึกก็น่าจะอยู่ที่บ้านเพรียงเพราะใช้คำว่า “ไปอยู่กับเมียบ้านนาขลู่มีทุนไป”
ชาวบ้านเมืองเพชรสมัยโบราณที่พอมีฐานะ เขามีสมบัติทุนสินเดิมอะไรติดตัว เมื่อออกเรือนไปมีผัวมีเมียกัน ลองอ่านดูครับ
เจ้าเมืองพี่บวพบ้านเพรียงไปอยู่กับเมียบ้านนาขลู่มีทุนไป
กองเป็นเงิน 1 ชั่ง 10 ตำลึง 1 บาท 1 สลึง 1 เฟื้อง แหวนหัว 2 ใบ กำไลทองคู่ 1
เกวียนเล่ม 1 วัวใหญ่ 7 แม่วัว 5 นากระทุ่มเส้น 1 นาพนังเส้น 1
ที่สามริ้วสี 2 กอตาล 40 กับเครื่องโต๊ะพาน ผ้ากับของทั้งปวง
ข้างผู้หญิง เงิน 1 ชั่ง 1 ตำลึง 1 สลึง 1 เฟื้อง แหวน 3 นิ้ว แหวนหัวใบ 1
กำไลเท้าคู่ 1 ดอกมะเขือคู่ 1 จอกเงิน 1 นาทำได้ 2 เส้น นาฟืน 4 เส้น ตาลมีด 1
วัวใหญ่น้อย 10 ตัว กับโต๊ะพานขันน้ำ ผ้าผ่อนทั้งปวง
ในปีฉลูตรีนิศก
เจ้าเมืองพี่บวพบ้านเพรียง หมายถึง นายเมืองลูกพี่บวพ คนบ้านเพรียง นายเมืองคนนี้ไปมีเมียอยู่บ้านนาขลู่
กอง หมายถึง เงินกองทุนที่พ่อแม่พี่น้องญาติผู้ใหญ่ประสมกองเป็นทุนไปทำกินเมื่อออกเรือน
แหวนหัว หมายถึง แหวนประดับอัญมณี
นากระทุ่ม หมายถึง นาบริเวณที่เรียกกันว่านากระทุ่ม ปัจจุบันยังมีอยู่ระหว่างวัดเพรียงไปทางวัดห้วยเสือ
นาพนัง หมายถึง นาบริเวณที่เรียกกันว่า นาพนัง ปัจจุบันยังมี อยู่ระหว่างวัดเพรียงไปทางวัดห้วยเสือเช่นกัน
โต๊ะ หมายถึง โต๊ะทองเหลือง บางท่านเรียกโตกเป็นเครื่องกิน เครื่องตั้งสำรับ
ดอกมะเขือ หมายถึง ต่างหูลายดอกมะเขือ
นาฟืน หมายถึง นาที่ไม่ได้ทำนา ปล่อยไว้เป็นป่าละเมาะ ป่าสะแก สำหรับไปตัดฟืนมาทำเชื้อเพลิงเคี่ยวตาล
ตาลมีด 1 หมายถึง การทำตาล 1 มีด คือคนขึ้นตาล 1 คน นับจำนวนมีดตามจำนวนคนขึ้นตาล เพราะ 1 คน ใช้มีด 1 เล่ม สมัยโบราณเก็บภาษีการทำตาลจากมีดตาล จะทำได้มากน้อย บ้านเมืองไม่ได้มานับ แต่เก็บภาษีจากจำนวนคนทำตาลที่ใช้มีดตาล
ปีฉลูตรีศก คือปีฉลูที่จุลศักราชลงท้ายด้วยเลขสาม ในรอบสองร้อยปีมานี้ ได้แก่ปี พ.ศ. 2324 พ.ศ. 2384 พ.ศ. 2444 พ.ศ. 2504 และ พ.ศ. 2564 พิจารณาจากตัวอักษรในเอกสารประกอบแล้ว เป็นรูปแบบตัวอักษรที่นิยมในช่วงรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5 ปีฉลูตรีนิศก ในเอกสารจึงควรเป็น พ.ศ. 2444 จ.ศ. 1263 สมัยรัชกาลที่ 5
คุณภัทรพล เปี้ยวนิ่ม นักประวัติศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญเรื่องภาพถ่ายเก่าให้ความรู้เอาไว้ว่า เอกสารนี้น่าจะเป็น หางว่าวเลขเขยสู่ โดยได้อธิบายไว้ว่า สมัยก่อน “ถ้าชายหญิงต่างบ้านต่างมูลนายแต่งกันแล้วชายย้ายไปอยู่บ้านหญิง ทางบ้านเมืองจะทำบัญชีเขยสู่ หักชื่อชายคนนั้นจากบ้านเดิมสังกัดเดิม มาใส่ไว้ในบ้านใหม่สังกัดใหม่ โดยจะเขียนด้วยว่ามีทรัพย์สมบัติอะไรติดตัวมาด้วย”
หางว่าวเลขเขยสู่บัญชีนี้น่าจะเขียนโดยผู้ปกครองในท้องที่บ้านเพรียง ซึ่งก็อาจจะเป็นผู้ใหญ่บ้าน หรือกำนันที่ทำหน้าที่นี้ บัญชีนี้ทำให้เห็นภาพข้าวของเครื่องใช้ติดตัวผู้คนที่แต่งงานออกเรือนสมัยโบราณได้เป็นอย่างดี แต่เจ้าเมืองลูกพี่บวพและภรรยาจะมีลูกหลานสืบมาอย่างไร ที่บ้านนาขลู่หรือบ้านเพรียง ในข้อนี้ฝากให้คนสองบ้านนี้ช่วยสืบค้นต่อครับ