


ผมเกิดไม่ทันปู่ พ่อเล่าว่าปู่ของผมชื่อไปล่ แต่ไม่ได้บอกว่าไปล่หมายถึงอะไร
ต่อมาจึงทราบว่าไปล่ เป็นคำโบราณ และคนโบราณก็ใช้คำนี้ตั้งชื่อกันเยอะ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายของ คำว่า ไปล่ ไว้ดังนี้
ไปล่ [ไปฺล่] ว. ผาย, แบะ, เช่น ชามปากไปล่, แปล้, เลยไป, เช่น ผมไปล่.



ไปล่ จึงมีความหมายไปสองทาง
ทางแรก หมายถึง ผายออก แบะออก ดังเช่นที่นักเล่นของเก่าเรียกชามลายครามทรงหนึ่งว่า ชามปากไปล่ คือชามที่ปากผายออก
ทางที่สอง หมายถึง แปล้ หรือเลยไป มีตัวอย่างการใช้คำ คือ ผมไปล่ ซึ่งก็น่าจะเป็นการหวีผมเรียบแปล้ไปด้านใดด้านหนึ่งของศีรษะ
ในเอกสารเก่าของวัดศาลาเขื่อน ซึ่งน่าจะเป็นบัญชีของถวายพระในงานศพงานเมรุคราวหนึ่งกล่าวถึงคำ ไปล่ เอาไว้ในการประกอบคำเรียกถ้วยชาม ได้แก่ ชามไปล่ฝา ชามไปล่ไม่มีฝา ถ้วยพริกไปล่
แสดงว่า ถ้วยชามปากผายที่เรียกว่า ชามไปล่ หรือชามปากไปล่นี้ มีหลายขนาดทั้งเล็กใหญ่ มีทั้งแบบมีฝา (ชามฝา) และแบบไม่มีฝา รวมถึงขนาดถ้วยน้ำพริก ถ้วยชามชนิดนี้น่าจะเป็นที่นิยมพอสมควรจึงได้มีปรากฏชื่อมาถึงทุกวันนี้
ชามไปล่นี้เป็นเครื่องถ้วยทำจากเมืองจีน ส่งเข้ามาขายในไทย และแพร่หลายอยู่เป็นร้อยปี โดยส่งเข้ามาขายประมาณช่วงรัชกาลที่ 3 ถึงราวรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 ของที่เข้ามาในยุคแรก ๆ ลวดลายประณีตงดงาม ส่วนที่เข้ามาในช่วงท้าย ๆ คุณภาพการเขียนลายและเนื้อดินต่ำลง ลวดลายเขียนตวัดพอให้มีลาย
เพราะสั่งเข้ามาขายมากและมีช่วงระยะเวลานาน ชามไปล่ที่ไม่แตกหักเสียหายระหว่างใช้งานจึงเหลืออยู่ในเมืองไทยเป็นจำนวนมาก ท่านใดอยู่บ้านเรือนเก่า ลองค้นตู้ ลัง หีบ ดูนะครับ อาจจะพบชามไปล่หลงเหลือติดบ้านเรือนอยู่ก็ได้



บัญชีของในสมุดข่อยวัดศาลาเขื่อน ที่ระบุถึงชามไปล่ มีรายละเอียดดังนี้
ฝากปลัดเกดไว้ ไตรย่าม 2 บาตร 1 ตะลุ่ม จาน 4 ถ้วยพริก 1 ถาดเท้าปุ่มฝาชีปิด จาน 1 ชามไปล่ฝา 1 ชามไปล่ไม่มีฝา 1 ถ้วยพริกไปล่ 1 ถาดเชี่ยน 1 เสื่อ หมอน รองเท้า 1 คนโทจีน 1 ย่าม 1